เกิดปัญหาเอกชนเลี่ยงภาษีท่าเรือแหลมฉบัง 'คมนาคม-บีโอไอ' ทำอะไรบ้าง?
"...บีโอไอ ระบุว่าหากตรวจสอบภายหลังปรากฎว่าบริษัทใช้สิทธิประโยชน์ไม่ถูกต้อง หรือให้ข้อความเท็จ หรือใช้เอกสารปลอม หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม หรือหากหน่วยงานใดตรวจพบเป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนดำเนินการในลักษณะเอาเปรียบรัฐ โดยการฉ้อฉลและทุจริต ถ่ายโอนรายได้จากการอาศัยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) สามารถดำเนินการยกเลิกหรือเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่ให้ไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่ยังคงสถานภาพเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมอยู่.."
ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทเอกชน ที่ทำสัญญากับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับเรื่องไปตรวจสอบเป็นทางการ โดยหยิบยกกรณีท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือ A0 โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด เป็นกรณีศึกษาสำคัญ
(อ่านประกอบ : เปิดสำนวนลับ 'ป.ป.ช.' ชง 'ครม.'สอบเอกชนเลี่ยงภาษีท่าเรือแหลมฉบังพันล.)
กระทรวงคมนาคม คือ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ ในการพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขเรื่องนี้เป็นทางการ
คำถามสำคัญต่อมา คือ เมื่อได้รับเรื่องไปแล้ว กระทรวงคมนาคม ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอแนะแนวทางการป้องกันทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการท่าเทียบเเรือแห่งประเทศไทย กรณีศึกษาท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือ A0 โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ
ระบุเนื้อหาสำคัญว่า มีผู้กล่าวหาร้องเรียนว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย ปล่อยปละละเลยให้ผู้ประกอบกิจการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือทั้งสองแห่ง ซึ่งมีกรรมการและผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน ร่วมกันหลบเลี่ยงภาษีที่จะต้องจ่ายให้แก่รัฐ มูลค่าหลายพันล้านบาท
กระทรวงคมนาคม ได้สรุปข้อเท็จจริงแนวทางการป้องกันทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการท่าเทียบเรือแห่งประเทศไทย กรณีศึกษาท่าเรือแหลมฉบัง ให้ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอมา
สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
- กระทรวงคมนาคม ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรก 30 ธ.ค.2557 , ครั้งสอง 13 ม.ค. 2558 และ ครั้งสาม 3 ก.พ. 2558
โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย นำส่งข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ให้กรมศุลกากร กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตรวจสอบถึงความถูกต้องตรงกัน เพื่อยืนยันการปฏิบัติงานตามอำนาจและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ และให้แต่ละหน่วยงานรายงานมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อรวบรวมเสนอข้อมูลรายงาน ครม.
- สรุปผลการประชุมร่วมสำหรับการดำเนินงานตามประเด็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการชี้แจงข้อเท็จจริงของหน่วยงานมี ดังนี้
1. ประเด็นการตรวจสอบการให้สัมปทานประกอบกิจการท่าเรือที่อยู่ในการกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทยทั้งหมดว่า มีพฤติการณ์ในลักษณะเอาเปรียบรัฐ โดยการฉ้อฉลและทุุจริตถ่ายโอนรายได้ จากการอาศัยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ไม่ว่าผู้ประกอบการของแต่ละท่าที่มีพื้นที่และลักษณะทางกายภาพติดต่อกัน จะเป็นผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นชุดเดียวกันหรือไม่ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมาย และข้อกำหนดในสัญญาอย่างเคร่งครัด รวมทั้งดำเนินคดีเรียกค่าปรับ หรือค่าเสียหายอันเกิดจากการฉ้อฉลและทุจริตดังกล่าวด้วย และหากพิจารณาเห็นว่า ข้อกำหนดในสัญญาข้อใด เป็นผลทำให้รัฐเสียเปรียบ และก่อให้เกิดความเสียหายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการแก้ไขข้อสัญญานั้นให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
การท่าเรือแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า นับตั้งแต่เปิดดำเนินการเมื่อปี 2534 ท่าเรือแหลมฉบังมีสัญญาที่ให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการกับการกับรัฐจำนวน 14 สัญญา 13 บริษัท (อ่านประกอบ :เปิดครบชื่อ13 บริษัท ร่วมธุรกิจแหลมฉบังฯ -กลุ่ม 2 เอกชนเลี่ยงภาษีคว้า3 สัญญา)
ส่วนสาเหตุที่เป็นที่มาของปัญหาท่าเทียบเรือ AO โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด
การท่าเรือฯ ชี้แจงว่า เป็นเพราะท่าเทียบเรือทั้งสองแห่ง มีโครงสร้างผู้บริหาร และเจ้าของกลุ่มเดียวกัน ทำให้อาจเป็นช่องทางในการบริหารโดยหลีกเลี่ยงหรือวางแผนการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่รัฐน้อยลงในกรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อน
ขณะที่พื้นที่และบริเวณหน้าท่าเทียบเรือติดต่อกัน ทำให้ท่าเทียบเรือทั้งสองเสมือนเป็นท่าเทียบเรือเดียวกัน จึงมีโอกาสถ่ายโอนรายได้จากการให้บริการในการดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ รวมถึงเจตนาของผู้บริหาร มีความประสงค์ที่จะบริหารโดยให้ท่าเทียบเรือทั้งสองแห่งเหมือนเป็นท่าเทียบเรือเดียวกัน ทั้งที่ สาระสำคัญในการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐมีความแตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ท่าเทียบเรือ AO โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2550 ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจพบความผิดปกคิของตู้สินค้า ที่ผ่านท่าเทียบเรือ AO โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด จึงทำให้มีการประชุมร่วมกัน ระหว่างเอกชนทั้งสองแห่งกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการนับตู้สินค้าผ่านท่าเพื่อใช้ในการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมขึ้นใหม่ และมีการเรียกปรับเงินค่าท่าจากเอกชนทั้งสองรายด้วย เป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท โดยมีการออกหนังสือทวงถามหลายฉบับ
ขณะที่ บริษัทแอลซีบีคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด (ท่าเทียบเรือ B1) ได้ฟ้องการท่าเรือแห่งประเทศไทย ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ชำระคืนเงินที่ชำระเกินไปเป็นจำนวนกว่า 12 ล้านบาท
การท่าเรือฯ ยังได้ระบุว่า ที่ผ่านมาเกิดการร้องเรียนกันเอง ระหว่างผู้ประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าด้วยกัน ในการได้มาซึ่งสัญญาต่างช่วงเวลา ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการให้บริการที่แตกต่างกัน เกิดปัญหาด้านการแข่งขันราคาในการให้บริการที่แตกต่างระหว่างผู้ประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินความเสี่ยงการกำกับดูแลท่าเทียบเรือให้เป็นไปตามสัญญา นอกจากท่าเทียบเรือ AO โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด พบว่า ยังมีท่าเทียบเรือที่มีความเสี่ยงที่จะหลีกเลี่ยงหรือหาช่องทางการเปลี่ยนแปลงในการแจ้งจำนวนตู้สินค้าให้เสียค่าใ้ชจ่ายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยน้อยลง แต่ปัจจุบันยังตรวจสอบไม่พบความผิดปกติ แต่อย่างใด
2. ประเด็นกรณีให้ บีโอไอ พิจารณาถึงความเป็นไปได้อย่างเหมาะสมที่จะยกเลิกเพิกถอนการให้สิทธิประโยชน์โครงการของผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงุทุนในกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเลที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเอาเปรียบรัฐโดยการฉ้อฉลและทุจริต ถ่ายโอนรายได้จากการอาศัยสิทธิประโยชน์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการบีโอไอ รวมทั้งให้มีการติดตามประเมินผลและวิเคราะห์เปรียบเทียบผลดี ผลเสียที่ภาครัฐจะได้รับจากการให้สิทธิประโยชน์โครงการของผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวด้วย
บีโอไอ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวร่วมกับข้อมูลของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว ชี้แจงว่า ในช่วงเวลาระหว่างปี 2550-2552 ที่มีประเด็นปัญหานั้น บริษัทแอล ซี เอ็ม ที จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุน 1 โครงการ ตามบัตรส่งเสริมเลขที่ 2167(2)/2549 ลงวันที่ 18 ธ.ค.2549 และบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการ หมดสิทธิและประโยชน์ไปแล้ว 1 โครงการคงเหลือสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมเลขที่ 1481(2) /2545 ลงวันที่ 30 ก.ค. 2545 และเลขที่ 1625(2)/2556 ลงวันที่ 14 ส.ค. 2552
จากการตรวจสอบพบว่า เครื่องจักรหลักที่ใช้สิทธิยกเว้นอากรนำเข้าของทั้ง 2 บริษัท ยังอยู่ครบ ติดตั้งในพื้นที่ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ การตรวจสอบการใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งผู้สอบบัญชี ได้ตรวจสอบข้อมูลและรับรองความถูกต้องเสนอบีโอไอ ยังไม่พบความผิดปกติ กล่าวคือ 1.มูลค่าการยกเว้นภาษีไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติ มีกำลังผลิตไม่เกินจากที่กำหนดในบัตรส่งเสริม 2.การถ่ายโอนรายได้ระหว่างกันในช่วงเวลาระหว่างปี 2550-2552 บริษัททั้งสองตามบัตรส่งเสริมการลงทุนข้างต้น ต่างอยู่ในช่วงเวลาที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่น่าจะมีสาเหตุใดให้เกิดการถ่ายโอนรายได้ และหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุน
อย่างไรก็ตาม บีโอไอ ระบุว่า หากตรวจสอบภายหลังปรากฎว่า บริษัทใช้สิทธิประโยชน์ไม่ถูกต้อง หรือให้ข้อความเท็จ หรือใช้เอกสารปลอม หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม หรือหากหน่วยงานใดตรวจพบเป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนดำเนินการในลักษณะเอาเปรียบรัฐ โดยการฉ้อฉลและทุจริต ถ่ายโอนรายได้จากการอาศัยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) สามารถดำเนินการยกเลิกหรือเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่ให้ไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่ยังคงสถานภาพเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมอยู่
ทั้งหมด คือ ข้อมูลที่กระทรวงคมนาคม นำเสนอให้ ครม. รับทราบไปแล้วเป็นทางการ รวมถึงท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
อ่านประกอบ :
พบเอกชนกลุ่มใหม่ ได้สัญญาท่าเรือแหลมฉบัง หุ้นใหญ่อยู่ 'บริติชเวอร์จิ้น-เคย์แมน'
เปิดครบชื่อ13 บริษัท ร่วมธุรกิจแหลมฉบังฯ -กลุ่ม 2 เอกชนเลี่ยงภาษีคว้า3 สัญญา
เชื่อผู้บริหารการท่าเรือฯ เอี่ยว! ป.ป.ช. ยันตั้งอนุไต่สวนเอกชนเลี่ยงภาษีพันล.
เจาะโครงข่ายผู้ถือหุ้น 5 ชั้น '2 บริษัท' ถูกกล่าวหาเลี่ยงภาษีท่าเรือฯ พันล.
ดูเต็มๆ ข้อกล่าวหา '2 เอกชน' เลี่ยงภาษีการท่าเรือฯพันล.ในสำนวนสอบป.ป.ช.