เชื่อผู้บริหารการท่าเรือฯ เอี่ยว! ป.ป.ช. ยันตั้งอนุไต่สวนเอกชนเลี่ยงภาษีพันล.
"สรรเสริญ" เผยเบื้องหลัง 'ป.ป.ช.'ชง 'ครม.' สอบ '2 เอกชน' ถูกข้อกล่าวหาหลบเลี่ยงภาษีพันล้าน ยันตั้งอนุไต่สวนแล้ว เชื่อผู้บริหารการท่าเรือฯ มีเอี่ยวด้วย
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือแจ้งข้อเสนอแนะในการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการท่าเทียบเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรณีศึกษาท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือ A0 โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุเนื้อหาสำคัญว่า มีผู้กล่าวหาร้องเรียนว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย ปล่อยปละละเลยให้ผู้ประกอบกิจการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือทั้งสองแห่ง ซึ่งมีกรรมการและผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน ร่วมกันหลบเลี่ยงภาษีที่จะต้องจ่ายให้แก่รัฐ ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท
(อ่านประกอบ : เปิดสำนวนลับ 'ป.ป.ช.' ชง 'ครม.'สอบเอกชนเลี่ยงภาษีท่าเรือแหลมฉบังพันล.)
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราwww.isranews.org ว่า เหตุผลที่ ป.ป.ช. ต้องทำหนังสือแจ้งข้อเสนอแนะให้ ครม.รับทราบเรื่องนี้ เป็นเพราะภายหลังจากที่ได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามา เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลและพบว่าพฤติการณ์ของเอกชนทั้ง 2 ราย ส่อว่าจะมีการกระทำความผิดจริง ในเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี
"ขณะนี้ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นทางการแล้ว ตามประเด็นที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอไป ส่วนรายละเอียด ยังบอกอะไรไม่ได้ แต่ในขั้นตอนการดำเนินงานน่าจะมีผู้บริหารของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย" นายสรรเสริญระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุไว้ตอนหนึ่ง ระบุถึง สาเหตุสำคัญที่เป็นประเด็นก่อให้เกิดการฉ้อฉลและการทุจริตของผู้ประกอบการดังกล่าวและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลให้รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์และเกิดความเสียหาย อันเกิดจากการฉ้อฉลและทุจริต ดังนี้
1.ผลประโยชน์ตอบแทนที่ท่าเทียบเรือ A0 และ B1 ให้กับรัฐ(การท่าเรือแห่งประเทศไทย) แตกต่างกัน โดยเฉพาะผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติม ที่นอกจากจะต้องจ่ายให้กับการท่าเรือฯ ประจำปี
2.สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2550 ที่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ A0 และ B1 ได้รับแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นมีมูลค่าแตกต่างกันมาก
3.ปัญหาข้อกฎหมายที่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือต่างนิติบุคคลกัน แต่มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเดียวกัน กรณีดังกล่าวข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ A0 และ B1 มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นชุดเดียวกัน แม้ว่าจะเข้ามาในภายหลังก็ตาม
อ่านประกอบ : ดูเต็มๆ ข้อกล่าวหา '2 เอกชน' เลี่ยงภาษีการท่าเรือฯพันล.ในสำนวนสอบป.ป.ช.