logo isranews

logo small 2

ดูเต็มๆ ข้อกล่าวหา '2 เอกชน' เลี่ยงภาษีการท่าเรือฯพันล.ในสำนวนสอบป.ป.ช.

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 22 ตุลาคม 2558 เวลา 20:00 น.
เขียนโดย
isranews

เปิดละเอียดข้อกล่าวหา-พฤติการณ์ '2 เอกชน' หลบเลี่ยงจ่ายภาษีการท่าเรือฯ พันล. ในสำนวนสอบลับ 'ป.ป.ช.' ชง 'ครม.'บิ๊กตู่ เชือด! ล่าสุดกรมสรรพากร ออกหมายเรียกสอบแล้ว 

wwqqwwqqweeerer

กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือแจ้งข้อเสนอแนะในการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการท่าเทียบเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรณีศึกษาท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือ A0 โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด ระบุเนื้อหาสำคัญว่า มีผู้กล่าวหาร้องเรียนว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย ปล่อยปละละเลยให้ผู้ประกอบกิจการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือทั้งสองแห่ง ซึ่งมีกรรมการและผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน ร่วมกันหลบเลี่ยงภาษีที่จะต้องจ่ายให้แก่รัฐ ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท

(อ่านประกอบ : เปิดสำนวนลับ 'ป.ป.ช.' ชง 'ครม.'สอบเอกชนเลี่ยงภาษีท่าเรือแหลมฉบังพันล.)

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในการนำเสนอข้อเสนอแนะการป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับการบริหารจัดการท่าเทียบเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรณีศึกษาท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือ A0 โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอรเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด ดังกล่าว 

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือส่งถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี หนังสือเลขที่ ปช 0003/0141 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 โดยมีรายละเอียดดังนี้  

เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้หยิบยกกรณีมีผู้กล่าวหาร้องเรียนว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยปล่อยปละละเลยให้ผู้ประกอบกิจการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเทียบเรือ A0 โดยบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และท่าเทียบเรือ B1 โดยบริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด ร่วมกันหลบเลี่ยงภาษีที่จะต้องจ่ายให้แก่รัฐ โดยมีพฤติการณ์ในลักษณะถ่ายโอนรายได้จากการให้บริการกับบริษัทตัวแทนเรือที่นำเรือเข้าเทียบท่าเรือ B1 ไปเป็นรายได้ของท่าเทียบเรือ A0 ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลยให้ผู้ประกอบการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยังทำให้รัฐต้องเสียหายจากการหลบเลี่ยงภาษี ตลอดจนสูญเสียรายได้อื่นๆ ที่รัฐพึงได้อีกด้วย

จากการพิจารณา พบสาเหตุสำคัญที่เป็นประเด็นก่อให้เกิดการฉ้อฉลและการทุจริตของผู้ประกอบการดังกล่าวและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลให้รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์และเกิดความเสียหาย อันเกิดจากการฉ้อฉลและทุจริต ดังนี้

1.ผลประโยชน์ตอบแทนที่ท่าเทียบเรือ A0 และ B1 ให้กับรัฐ(การท่าเรือแห่งประเทศไทย) แตกต่างกัน โดยเฉพาะผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติม ที่นอกจากจะต้องจ่ายให้กับการท่าเรือฯ ประจำปี

กล่าวคือ ในช่วงระยะเวลาที่เกิดปัญหาระหว่างปี พ.ศ. 2550-2552 ท่าเทียบเรือ B1 จะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติม กรณีมีตู้สินค้าเข้าเทียบท่าเกินกว่า 300 TEU จะต้องชำระเพิ่มเติม 275 บาท/TEU แต่ในขณะที่ท่าเทียบเรือ A0 ปี 1-9 (พ.ศ. 2547-2556) ไม่ต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมพิเศษ จึงทำให้ผู้ประกอบกิจการท่าเทียบเรือ A0 และ B1 ซึ่งมีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเดียวกัน กระทำการโดยฉ้อฉลและทุจริตนำเรือเข้าจอดที่ท่าเทียบเรือ A0 และ B1 ปะปนกันไป

โดยมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อการให้บริการจากการรื้อรั้วกั้นระหว่างท่าเทียบเรือ A0 และ B1 จนทำให้ท่าเทียบเรือทั้งสอง เสมือนเป็นท่าเทียบเรือเดียวกัน มีประตูทางเข้า-ออก ที่มีลักษณะเชื่อมโยงสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้เป็นอย่างดี มีการเสริมและขอใช้ปั่นจั่นยกตู้สินค้าที่ท่าเทียบเรือ A0 และ B1 มีการถ่ายโอนรายได้จากการให้บริการกับบริษัทตัวแทนเรือที่นำเรือเข้าเทียบท่า B1 ไปเป็นรายได้ของท่าเทียบเรือ A0 โดยอาศัยการให้จอดเรือปะปนกันหรือจอดล้ำที่กัน และแจ้งเท็จระหว่างท่าทั้งสอง ส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังขาดผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ตามสัญญาจากผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก

2.สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2550 ที่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ A0 และ B1 ได้รับแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นมีมูลค่าแตกต่างกันมาก

กล่าวคือ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ A0 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2549 มูลค่าไม่เกิน 3,676,250,000 บาท เป็นเวลา 8 ปี ส่วนผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ B1 ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล มูลค่าเพียง 821,400,000 บาท (ได้รับสิทธิประโยชน์ 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2545 มูลค่า 340,400,000 บาทเป็นเวลา 8 ปี และช่วงที่สอง ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2552 มูลค่า 481,000,000 บาทเป็นเวลา 8 ปี) ประกอบกับผู้ประกอบการทั้งสองมีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเดียวกัน

จึงทำให้ผู้ประกอบการดังกล่าว ใช้เป็นช่องโอกาสทำการฉ้อฉลและทุจริตถ่ายโอนรายได้ที่ท่าเทียบเรือ B1 ได้รับ ซึ่งสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเต็มวงเงินแล้ว หรือบางช่วงไม่ได้รับการยกเว้น ไปเป็นรายได้ของท่าเทียบเรือ A0 ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษียังไม่เต็มวงเงิน เป็นผลให้ผู้ประกอบการทั้งท่าเทียบเรือ A0 และ B1 ซึ่งมีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเดียวกัน ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่รัฐ และทำให้รัฐเสียหายจากการฉ้อฉลและการทุจริตดังกล่าว

3.ปัญหาข้อกฎหมายที่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือต่างนิติบุคคลกัน แต่มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเดียวกัน กรณีดังกล่าวข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ A0 และ B1 มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นชุดเดียวกัน แม้ว่าจะเข้ามาในภายหลังก็ตาม

ประกอบกับพื้นที่และลักษณะทางกายภาพของท่าเทียบเรือทั้งสองอยู่ติดต่อกัน แต่ผลประโยชน์ที่ให้กับรัฐแตกต่างกัน จึงเป็นช่องทางและสะดวกต่อการที่ผู้บริหารของท่าเทียบเรือ A0 และ B1 ซึ่งเป็นชุดเดียวกันนั้น ทำการฉ้อฉลและทุจริต หลีกเลี่ยงจ่ายผลประโยชน์ให้แก่รัฐตามที่กำหนดไว้ในสัญญาและตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ตอบแทนจากสัญญาสัมปทานและภาษีอากรที่พึงต้องจ่ายให้แก่รัฐ

แม้ว่าโดยข้อกฎหมายและตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทาน การที่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือต่างนิติบุคคลกันแต่มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเดียวกัน จะไม่ส่งผลใดๆทางกฎหมายกับการดำเนินการกิจการท่าเทียบเรือ A0 และ B1 เนื่องจากผู้ประกอบการทั้งสองบริหารงานต่างนิติบุคคลกันก็ตาม

แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏเป็นที่ยุติว่า ผู้ประกอบการของท่าเทียบเรือทั้งสองที่ต่างนิติบุคคลกันนั้น มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเดียวกัน ย่อมก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นการเอาเปรียบรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่ให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการ(ในฐานะฝ่ายปกครองที่มีอำนาจเหนือ) จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและเคร่งครัด ไม่ให้ปัญหาข้อกฎหมายและข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว เป็นช่องทางหรือโอกาสให้ผู้ประกอบการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยจะต้องทำการยกเลิกหรือแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบรัฐนั้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีท่าเทียบเรือที่มีลักษณะทางกายภาพและพื้นที่ที่ติดต่อกันและบริหารงานโดยผู้ประกอบการต่างนิติบุคคล โดยไม่มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใดเลยก็ตาม หน่วยงานของรัฐผู้ให้สัมปทานก็สมควรตรวจสอบด้วยว่า ท่าเทียบเรือลักษณะดังกล่าวเหล่านั้น มีพฤติการณ์ที่เอาเปรียบรัฐในทำนองเดียวกันกับกรณีที่เป็นปัญหา โดยการสมยอมกันของผู้บริหารกิจการของแต่ละท่าด้วยหรือไม่

4.การขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย การท่าเรือแห่งประเทศไทย(ท่าเรือแหลมฉบัง) กรมศุลกากร กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยหน่วยงานที่จะต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย(ท่าเรือแหลมฉบัง) และกรมศุลกากร เนื่องจากหน่วยงานทั้งสองต้องมีการประสานความร่วมมือในการอนุมัติ อนุญาตทางด้านพิธีการศุลกากร และการใช้พื้นที่ท่าเทียบเรืออยู่โดยตลอด

แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ โดยเฉพาะกรณีการรื้อรั้วกั้นเขตแดนระหว่างท่าเทียบเรือ A0 และ B1 ค่อนข้างจะปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมดูแลให้การก่อสร้างดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด จนล่วงเลยมากว่า 2 ปี ส่งผลให้ท่าเทียบเรือ A0 และ B1 เป็นเสมือนท่าเทียบเรือเดียวกัน การอนุญาตให้ใช้ประตูเข้า-ออก ระหว่างท่าทั้งสอง การเสริมปั้นจั่นยกตู้สินค้า ไม่มีการร่วมกันพิจารณาระหว่างกรมศุลกากรและท่าเรือแหลมฉบัง ว่าการกระทำลักษณะเช่นนี้ของผู้ประกอบการ ไม่ตรงตามที่กำหนดที่ดำเนินคดีโดยกรมศุลกากรกับท่าเรือแหลมฉบัง จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้นและนำไปสู่การร้องเรียน และแม้ว่าจะมีการดำเนินการให้ผู้ประกอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา และเรียกร้องค่าเสียหายแล้วก็ตาม ก็ไม่คุ้มกับผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการท่าเรือเหล่านั้นได้รับไปก่อนหน้าแล้ว

5.การพิจารณาบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เหมาะสม ระหว่างอัตราโทษกับผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดได้รับ กรณีเรือที่รายงานเข้าจอดท่าเทียบเรือจอดไม่ถูกต้องตามท่าที่กำหนดหรือแจ้งระบุไว้ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 38 มีอัตราโทษเป็นค่าปรับในอัตราไม่เกินหนึ่งแสนบาท

แต่ในทางปฏิบัติซึ่งปฏิบัติจากเกณฑ์ตามประมวลฯ 1 06 03 01(22) ของระเบียบกรมศุลกากรที่ 18/2550 โดยเฉพาะในคดีนี้ เมื่อมีการกระทำความผิด กรมศุลกากรเปรียบเทียบปรับเป็นรายใบเเนบ เพียงใบแนบละ 1,000 บาท ซึ่งมีอัตราปรับค่อนข้างต่ำ เป็นผลให้ผู้ประกอบการท่าเรือสมคบกับตัวแทนเรือ นำเรือเข้าจอดในท่าไม่ตรงตามที่ระบุ หรือไม่รายงานให้ศุลกากรทราบ โดยยินยอมที่จะเปรียบเทียบปรับในอัตราดังกล่าว ให้คดีอาญาเลิกกันไป เพื่อแลกกับผลประโยชน์คุ้มค่ามหาศาล ที่ได้รับจากการจอดเรือไม่ถูกต้องตามท่าที่กำหนดนั้น

จากที่ได้พิจารณามาโดยลำดับ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ดังนี้

1.ให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานจ้าภาพหลัก ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ร่วมกันทำการตรวจสอบการให้สัมปทานประกอบกิจการท่าเรือที่อยู่ในการกำกับดูเเลของการท่าเรือแห่งประเทศไทยทั้งหมด ว่ามีพฤติการณ์ในลักษณะเอาเปรียบรัฐ โดยการฉ้อฉลและทุจริตถ่ายโอนรายได้จากการอาศัยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าผู้ประกอบการของแต่ละท่า ที่มีพื้นที่และลักษณะทางกายภาพติดต่อกัน จะเป็นผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นชุดเดียวกันหรือไม่ แล้วให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมาย และข้อกำหนดในสัญญาอย่างเคร่งครัด รวมทั้งดำเนินคดีเรียกค่าปรับ หรือค่าเสียหายอันเกิดจากการฉ้อฉลและทุจริตดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ หากพิจารณาเห็นว่า ข้อกำหนดในสัญญาข้อใด เป็นผลทำให้รัฐเสียเปรียบและก่อให้เกิดความเสียหาย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการแก้ไขข้อสัญญานั้นให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป

2.ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พิจารณาถึงความเป็นไปได้อย่างเหมาะสมที่จะยกเลิก เพิกถอน การให้สิทธิประโยชน์โครงการของผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล ที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเอาเปรียบรัฐ โดยการฉ้อฉลและทุจริตถ่ายโอนรายได้จากการอาศัยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งให้มีการติดตาม ประเมินผล และวิเคราะห์เปรียบเทียบผลดี ผลเสีย ที่ภาครัฐจะได้รับจากการให้สิทธิประโยชน์โครงการของผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวด้วย

3.ให้กรมศุลกากร พิจารณาแก้ไข เพิ่มเติมเกณฑ์อัตราเปรียบเทียบตามประมวลฯ 1 06 03 01 (22) ของระเบียบกรมศุลกากรที่ 18/2550 ซึ่งใช้ประกอบการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 38 โดยเพิ่มโทษปรับให้มีอัตราที่สูงขึ้นและเหมาะสมเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้มีการฝ่าฝืนหรือละเมิดต่อกฎหมาย

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ลงนามโดย นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ดูหนังสือ ป.ป.ช.ฉบับเต็มท้ายข่าว)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องนี้ ได้มีการนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2557 โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตรวจสอบข้อมูลในส่วนที่รับผิดชอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวน 

ล่าสุด กรมสรรพากรได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีอากรทั้งสองบริษัท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550-31 ธันวาคม 2552 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาการรับรู้รายได้จากการให้บริการ

pivgdd

paqa1

paqa2

paqa3