ยุบ/ไม่ยุบ กองทุนฯ สตรี หลัง สตง.ชง ‘บิ๊กตู่’ ล้มเลิก ป้องกันใช้เงินเหลว
‘ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล’ ไม่เห็นด้วยยุบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เหตุช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ขาดโอกาส แต่ต้องทำให้มั่นคง ย้ายสังกัดกรมกิจการสตรีฯ หรือตั้งคณะกรรมการอิสระคล้าย สสส. ตรวจสอบอนุมัติงบฯ ใช้จ่ายไม่คุ้มค่ารายโครงการ คณบดีเศรษฐศาสตร์ มธ.เเนะอนาคตเบิกจ่ายงบฯ กองทุนต้องผ่านรัฐสภา สร้างอำนาจตรวจสอบ ถ่วงดุล
กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ช่วงปี 2555-57 โดยได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 10,111.06 ล้านบาท พบข้อสังเกตหลายประการ เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินไม่คุ้มค่า (อ่านประกอบ:สตง. ชงยุบเลิกกองทุนฯสตรีหมื่นล.ยุค'ปู' พบพฤติการณ์เอื้อปย. มุ่งนโยบายหาเสียง)
สตง.จึงมีข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนเหตุผล ความจำเป็น และความเหมาะสมในการจัดตั้ง หนึ่งในนั้น คือ เห็นควรยุบเลิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่จัดตั้งขึ้น โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555
ก่อนจะเริ่มกระบวนการใหม่ ซึ่งอาจจัดตั้งเป็นกองทุนหรือองค์กรในกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอจัดตั้งการดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินการทุนหมุนเวียน พ.ศ.2557 หรือตราเป็นพระราชบัญญัติ (อ่านประกอบ:เปิดรายงาน สตง.แจงยิบ สารพัดปัญหากองทุนฯ สตรียุค 'ปู' ผลาญงบหมื่น ล.)
ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล อนุกรรมาธิการด้านสตรี ในคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความเป็นไปได้ในการยุบเลิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ว่า ตามหลักการแล้วการยุบเลิกและจัดตั้งให้สอดคล้องเข้ากับงานพัฒนาศักยภาพสตรีของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การฟันธงโครงการต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ถือว่ารวดเร็วเกินไป จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักกับการใช้จ่ายงบประมาณตอบโจทย์หรือมีกระบวนการผิดพลาดอย่างไรก่อน
“แทนที่จะยุบเลิกแล้วจัดตั้งใหม่ อยากให้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับงบประมาณที่อนุมัติไปแล้วทั้งหมด ซึ่งบางส่วนเป็นงบประมาณหมุนเวียน ย่อมต้องได้คืน” อนุกรรมาธิการด้านสตรี กล่าว และว่า ดังนั้น การให้ยุบเลิกเลยจะไปสมประโยชน์กับคนที่มีเจตนาไม่คืน ซึ่งตามหลักการเมื่อยุบเลิกต้องมีความพยายามเรียกเงินคืนหรือไม่ ถ้ายุบเฉย ๆ และจบกันไปก็ไม่เห็นด้วย
ส่วนโครงการมุ่งเน้นการตอบสนองนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง ดร.สุธาดา กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีโครงการมุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชนด้วย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 20 เพราะฉะนั้นจะเหมารวมว่าทุกโครงการเป็นโครงการหาเสียงทั้งหมดไม่ได้ จำเป็นต้องตรวจสอบให้ละเอียด
“ไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิก แต่ควรย้ายสังกัดกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวแทน จากเดิมกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความอิสระคล้ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีผู้จัดการกองทุนฯ และขยายขอบข่ายการทำกองทุนให้มีความเหมาะสมกับการส่งเสริมบทบาทสตรีจริง ๆ”
อนุกรรมาธิการด้านสตรี กล่าวด้วยว่า องค์กรสตรีทุกแห่งควรสร้างธรรมาภิบาลในการใช้จ่ายงบประมาณ และพร้อมให้มีการตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใส พร้อมยืนยันกับผู้นำสตรี รัฐบาล และ สตง. กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีความสำคัญ และต้องทำให้มั่นคง เนื่องจากสตรีที่ไม่ได้รับโอกาสยังมีอยู่ จึงควรหันกลับมาแก้ไขคุณภาพชีวิต โดยทำให้เข้มข้นขึ้น และอยู่ในมือของคนทำงานด้านนี้จริง
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) ระบุ หากมีการยุบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจะไม่มีผลใด ๆ กับงบกลางที่อนุมัติไป เพราะงบประมาณจำนวนนั้นจะลดน้อยลงหรือหายไปอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ เเทน ยืนยันไม่มีปัญหาใด ๆ เพราะอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ งบกลาง คือ งบประมาณของ ครม. ใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือกรณีที่รัฐบาลเห็นว่า เป็นบทบาทหน้าที่ต้องดำเนินการ เเต่ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีฉุกเฉินมากกว่า โดยในอดีตมีจำนวนไม่มาก ต่อมาเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อถามว่า อนาคตกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีควรเบิกจ่ายงบประมาณผ่านรัฐสภาหรือไม่ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า งบกลางมีปัญหากรณีไม่มีการตรวจสอบจากรัฐสภา ดังนั้นควรนำเข้าสู่การพิจารณาของงบประมาณปกติที่ผ่านการกลั่นกรอง จะได้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลได้
"กว่า 10 ปี รัฐบาลเปิดช่องโหว่การใช้งบประมาณแบบนี้โดยไม่ผ่านรัฐสภา จะทำให้พบปัญหาการฉ้อฉลได้ง่าย จึงต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล มิใช่ตั้งกองทุนขึ้นมาแล้วไม่มีการตรวจสอบ” ศ.ดร.สกนธ์ กล่าว เเละว่า สตง.ต้องตรวจสอบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตั้งแต่ต้นทาง หากตรวจสอบตอนนี้ถือว่าช้าเกินไป เพราะเงินหมดไปแล้ว ทั้งนีั้ ได้คัดค้านมาตั้งแต่ต้นว่าทำไปไม่มีประโยชน์ เนื่องจากเป็นการหาเสียงให้คนบางกลุ่ม .
อ่านประกอบ:เผยแพร่ประกาศ‘บิ๊กตู่’ โอนกองทุนพัฒนาสตรี ยุค‘ปู’ ไปสังกัดกรมพัฒนาชุมชน
ปอกเปลือกกองทุนบทบาทสตรี 2 ปีใช้ 6,360 ล้าน เอื้อผู้หญิง 2.6 ล้านคน
ภาพประกอบ:www.fmthailand.com