ภาคประชาสังคมยัน TPP ไม่ใช่สนธิสัญญาการค้า ไทยขืนเข้าร่วม มีหวังยาแพง-รง.ยาสูบเจ๊ง
ภาคประชาสังคมตั้งโต๊ะแถลงยัน รัฐบาลต้องศึกษา TPP อย่างละเอียด ก่อนตัดสินใจเป็นสมาชิก หวั่นโรงงานยาสูบถูก บ.บุหรี่ข้ามชาติซื้อกิจการ ‘รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์’ โชว์ตัวเลข เมื่อใดเข้าร่วม จะเกิดการผูกขาดทางยา ทำราคาแพงขึ้น คาดค่าใช้จ่ายแตะ 8 หมื่นล้านบาท/ปี
วันที่ 13 ตุลาคม 2558 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มูลนิธิชีววิถี กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย จัดแถลงข่าว เรื่อง ประเทศไทยควรเข้าเป็นสมาชิก TPP หรือไม่ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาความควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550-51) กล่าวว่า โลกควรหยุดเรียก ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership :TPP) เป็นสนธิสัญญาการค้า เพราะ TPP เป็นความตกลงของบริษัท/ผู้ลงทุน (Corporate/investor rights agreement) ซึ่งจากเนื้อหา 29 บท มีเพียง 5 บท เท่านั้น ที่เกี่ยวข้องกับการค้า
ทั้งนี้ คณะได้ทำการวิจัยเอกสารและดำเนินการยับยั้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ส่งหนังสือถึงเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ขอให้ชักชวนรัฐบาลมิให้เข้าร่วม TPP
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ส่งหนังสือถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา ขอร้องมิให้ชวนไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP
และวันที่ 16 ตุลาคม 2557 ส่งหนังสือถึงประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)พร้อมเอกสารวิจัย ขอมิให้ไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP
ส่วนสาเหตุไม่ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ต้องการให้กระบวนการเข้าสู่ระบบราชการ ทั้งนี้ ทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกตั้งคำถามเรื่อง TPP ท่านจะพูดเพียงว่า ไทยยินดีสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ไม่พูดชัดเจนว่า จะเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่
ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวอีกว่า TPP เป็นข้อตกลงที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจการเมืองมาก ซึ่งมีเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม และบรูไน เข้าร่วม จากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ตั้งคำถามว่า ใครจะกระโดดเข้าไปบ้าง ขนาด ‘อินโดนีเซีย’ มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ยังไม่เข้าร่วมเลย
ด้านนายไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงผลกระทบต่อโรงงานยาสูบของไทยที่อาจเกิดจาก TPP ว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีข้อกำหนดเรื่องรัฐวิสาหกิจ (State-owned enterprises:SOEs) ซึ่งจะส่งผลทำให้รัฐวิสาหกิจของไทยต้องประกอบธุรกิจแข่งขันกับบริษัทบุหรี่สัญชาติอเมริกันอย่างดุเดือดในธุรกิจต่าง ๆ (แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะ) เช่น ธุรกิจยาสูบ โรงงานยาสูบ จะต้องประกอบธุรกิจหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบแข่งขันกับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ รัฐบาลไม่สามารถให้สิทธิพิเศษแก่โรงงานยาสูบในการประกอบกิจการ จนทำให้ได้เปรียบบริษัทบุหรี่ของสหรัฐฯ หากมีการฝ่าฝืนแล้ว จะนำไปสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทและถูกแทรกแซงทางการค้า อีกทั้งยังต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของโรงงานยาสูบต่อสหรัฐฯ ด้วย
“สถานการณ์ยาสูบ ปี 2550-55 เกี่ยวกับแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ในไทย ระหว่างโรงงานยาสูบ กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ พบ โรงงานยาสูบมีส่วนแบ่งการตลาดลดน้อยลงเรื่อย ๆ เช่น ปี 2550 เคยมีส่วนแบ่งตลาด 72.5% ต่อมา ปี 2554 มีส่วนแบ่งลดลงเหลือ 62.0% ขณะที่บริษัทบุหรี่ต่างชาติ อย่าง บ.ฟิลลิป มอร์ริส ปี 2550 เคยมีส่วนแบ่งตลาด 22.6% ต่อมาปี 2554 มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 34.8% แสดงว่า ไทยมีประสิทธิภาพทางการแข่งขันน้อยกว่า”
นักวิชาการ มธ. กล่าวต่อว่า แม้ว่ากิจการยาสูบจะทำลายสุขภาพ แต่ในฐานะโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจของไทย เราคงไม่อยากให้ได้รับผลกระทบจาก TPP ฉบับนี้ เพราะข้อตกลงหลายเรื่อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การเปิดเผยข้อมูล หรือไม่ให้ภาครัฐสนับสนุนการแข่งขันไม่เป็นธรรม อาจทำให้โรงงานยาสูบต้องปิดกิจการหรือถูกซื้อกิจการไปจากบริษัทบุหรี่ต่างชาติได้
ขณะที่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวถึงด้านทรัพย์สินทางปัญญา กรณีไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP ว่า กฎหมายสิทธิบัตรของไทย มีเนื้อหากระบวนการขอจดสิทธิบัตร สามารถคัดค้านการออกเอกสารก่อนได้ หากพบสิทธิบัตรนั้นไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่ใน TPP กลับยกเลิกกระบวนการคัดค้าน
“ขณะนี้กระบวนการออกสิทธิบัตรไทยมีปัญหาค่อนข้างเยอะ มีสิทธิบัตรจำนวนหนึ่งไม่ควรได้รับ เพราะมีการแก้ไขเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ หาก TPP ยกเลิกให้คัดค้านได้ จะมีสิทธิบัตรด้านยาไม่ควรได้รับจะเพิ่มขึ้น ซึ่งพบจำนวน 85% ของคำขอสิทธิบัตรแล้ว หมายความว่า ไทยให้การผูกขาดในสิ่งที่ไม่ลงทุนหรือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแท้จริง”
ด้านผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อการสาธารณสุขและการเข้าถึงยาในประเทศ รศ.ดร.จิราพร กล่าวว่า การผูกขาดทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งได้วิจัยในไทย ปี 2550 พบในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ถ้ามีการผูกขาดทางยา ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาท/ปี แต่หากประเมินเฉพาะยาชีววัตถุ มูลค่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ส่วนการขยายอายุสิทธิบัตรอีก 5 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เมื่อเป็นเช่นนี้ระบบประกันสุขภาพของไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร
ขณะที่น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า การผลักดันให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP โดยประเมินเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เช่น สินค้าประเภทสิ่งทอของไทยจะแข่งขันกับเวียดนามไม่ได้ การคิดลักษณะเช่นนี้จะก่อให้เกิดปัญหา เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมส่งออกใช้ยุทธศาสตร์เรื่องราคาและการคงสิทธิพิเศษทางการค้าเท่านั้น แต่ไม่เคยพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเลย
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีรัฐบาลชั่วคราว ถือเป็นจังหวะที่ดีของนักธุรกิจที่ใช้โอกาสนี้เข้าพบนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันเรื่องนี้แบบรวดเดียวจบ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นฉบับแรก อนุญาตให้ทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศได้ นับตั้งแต่มีการรัฐประหารมาหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ภาคประสังคมเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรตัดสินใจเรื่อง TPP แต่ควรสนับสนุนการศึกษาวิจัยผลกระทบอย่างชัดเจนก่อน
“เราไม่ควรพูดว่า ไทยต้องเข้าเป็นสมาชิก TPP หรือไม่ จนกว่าจะมีการศึกษาอย่างละเอียด เพราะมีผลกระทบมาก และที่ผ่านมา นักธุรกิจ สถาบันวิจัย จะพูดถึงข้อมูลเพียงบางด้านเท่านั้น ขณะที่ผลกระทบที่ภาคประชาสังคมพูดถึงกลับไม่มี ฉะนั้น หากรัฐบาลมีข้อมูลไม่ครบถ้วน อย่างเพิ่งตัดสินใจ” ผู้ประสานงาน FTA Watch กล่าว .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:สหรัฐฯ เปิดศึก TPP ล้อมจีน ชิงมหาอำนาจโลก เเล้วไทยยืนอยู่จุดไหน?
ทีดีอาร์ไอ ชี้สิ่งทอไทยเตรียมกระอัก หลังเวียดนามร่วมเป็นสมาชิก TPP
ภาคประชาสังคมค้านไทยเข้า TPP ตามคำชวนสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน