สหรัฐฯ เปิดศึก TPP ล้อมจีน ชิงมหาอำนาจโลก เเล้วไทยยืนอยู่จุดไหน?
ภายหลัง 12 ประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership :TPP) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ชิลี เปรู เม็กซิโก สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ บรรลุข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา
โดยเป็นการส่งเสริมเปิดการค้าเสรีในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน สิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าข้อตกลงนี้ใช้เพื่อถ่วงดุลอำนาจ ‘จีน’ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการที่จีนไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก ทำให้กลุ่มธุรกิจกังวลอาจมีการย้ายฐานการผลิตไปได้
ขณะที่ไทยได้รับการเชื้อเชิญเข้าร่วม TPP เช่นกัน แต่ก็มีผู้ออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ด้วยเห็นว่า จะทำให้ยามีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันไทยยังไม่เข้าเป็นสมาชิก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมในสายตาของกลุ่มสนับสนุน
เมื่อถึงจุดหนึ่งโลกจะบีบบังคับเข้าร่วม TPP
“ข้อตกลง TPP ให้ผลประโยชน์ในเรื่องการส่งออก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการค้าเสรี โดยปรับลดกำแพงภาษีเป็นศูนย์ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง” รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ระบุ
พร้อมชี้ให้เห็นถึงข้อดี-ข้อเสีย หากไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP เขากล่าวถึงข้อดีว่า นอกจากไทยจะได้ประโยชน์เรื่องการส่งออกแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนมาตรฐานให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน ส่งผลดีทำให้ไทยส่งออกสินค้าที่ได้มาตรฐานไปทั่วโลกได้
ส่วนข้อเสียย่อมส่งผลกระทบต่อภาคลงทุน เพราะจะเกิดการลงทุนในประเทศสมาชิก TPP เพื่อส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ หรือแคนาดา ได้โดยไม่เสียภาษี ลักษณะเช่นนี้ ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ในไทยย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามและมาเลเซียแทน
“การหนุนให้ไทยเป็นสมาชิก TPP จึงสามารถรักษาฐานการลงทุนในประเทศและดึงการลงทุนจากต่างประเทศ” เขาให้มุมมอง
ส่วนเครือข่ายภาคประชาสังคมกังวล TPP จะทำให้ยารักษาโรคมีราคาสูง และกระทบต่อทรัพย์สินทางปัญญา รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า สิ่งเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้น ซึ่งน่าเสียดาย หากไทยได้เข้าเป็นสมาชิกก่อนหน้านี้ จะสามารถเจรจาต่อรองได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีหน้าที่ต้องสร้างวางแผนให้ความช่วยเหลือ
จะเรียกว่า ‘ตกขบวน’ ก็ได้ แต่ยืนยัน ‘ไม่ตกขบวนตลอด’ เพราะต่างอยากให้ไทยเข้าเป็นสมาชิก ยกเว้นเพียงว่า ไทยอาจก้าวช้ากว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก TPP ก่อนแล้ว
เขายังยืนยันว่า TPP ไม่ใช่ยุทธการสหรัฐฯ เล่นงานจีน แต่เป็นการต่อรองทางการค้า ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการถ่วงดุลจีน ตราบใดที่ไม่เข้าเป็นสมาชิกก็จะเสียเปรียบ ขณะเดียวกัน ถามว่า เหตุใดประเทศต่าง ๆ จึงเข้าร่วม เพราะหักลบข้อดีข้อเสียแล้ว พบว่าได้ประโยชน์มากกว่า
ขนาดญี่ปุ่นยังตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิก TPP นาทีสุดท้าย เพราะได้มากกว่าเสีย แม้จะมีผลกระทบด้านเกษตรกรรม ถือเป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จีนก็พยายามถ่วงดุลสหรัฐฯ เช่นกัน และอนาคตหากจีนต้องการเป็นสมาชิกก็สามารถเข้าร่วมได้ สิ่งเหล่านี้ต้องปรับตัวเพื่อช่วงชิงความรวดเร็ว
“กรณี TPP ยังเป็นประเด็นถกเถียงในไทย โดยกลุ่มคัดค้านหยิบยกเหตุผลทำให้ยามีราคาสูง ประกอบกับไทยได้ทำเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นแล้ว ยกเว้น สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก จึงไม่มีความจำเป็น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การเข้าเป็นสมาชิกของไทยส่งผลเสียมากกว่าดี” รศ.ดร.สมชาย กล่าว และว่า ขณะที่กลุ่มสนับสนุนเป็นผู้ส่งออกกังวลจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน และเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศสมาชิก TPP และประเทศเหล่านั้นจะมีแผนดึงดูดการลงทุนจากประเทศอื่น ทำให้นักธุรกิจไทยต้องต่อสู้
เขากล่าวอีกว่า ไทยกำลังเสียความสามารถด้านการส่งออก เพราะโลกเปลี่ยนแปลง ทำให้ประเทศปรับตัวไม่ทัน เมื่อถึงจุดหนึ่งโลกจะบีบบังคับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ TPP แต่กว่าจะถึงจุดนั้นได้คงต้องผ่านการถกเถียงกันมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ ไทยต้องมีการปรับตัว ทั้งนี้ หากปล่อยให้เนิ่นนานอาจยิ่งทำให้เกิดปัญหา
‘มังกรจีน’ พัฒนาเส้นทางสายไหม ถ่วงดุล TPP สหรัฐฯ
ขณะที่อีกหนึ่งมุมมองจาก รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ เห็นว่า ข้อตกลง TPP ส่งผลกระทบต่อจีนพอสมควร และห่วงใยในระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องหาทางแก้เกม ด้วยวิธีการ ดังนี้
1.เวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกหก (ญี่ปุ่น จีน เกาหลี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และอินเดีย) ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญทำให้จีนสามารถถูกลดทอนการถูกปิดล้อม ภายใต้การนำของสหรัฐฯ ได้
2.การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก แต่อาจใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะบรรลุข้อตกลงเหมือน TPP ของสหรัฐฯ ที่เร่งรีบผลักดันจนสำเร็จ
3.การสร้างความร่วมมือระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งจีนกับเกาหลีไม่น่ามีปัญหา เพราะมีความสัมพันธ์แนบแน่น แต่จีนกับญี่ปุ่นและเกาหลีกับญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องง่าย
อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ยังกล่าวว่า นโยบายที่จีนจะเร่งผลักดันเป็นพิเศษ คือ เส้นทางสายไหม โดยเฉพาะเส้นทางสายไหมทางทะเล แม้มีการพูดคุยกันว่า TPP มีเศรษฐกิจของโลก 40% แต่อย่าลืมว่า ครอบคลุมเฉพาะ 2 ประเทศ คือ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เท่านั้น
ขณะที่จีนยืนยันว่า เส้นทางสายไหมมีคนสูงถึง 4,400 ล้านคน หรือ 60% ของประชากรโลก แม้จีดีพีจะไม่เท่า TPP ของสหรัฐฯ แต่ก็มีถึง 29% จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นเกมการต่อสู้แข่งขันของอภิมหาอำนาจโลก
แล้วถึงเวลาที่ไทยต้องเข้าร่วม TPP หรือไม่ รศ.ดร.สมภพ ระบุว่า ต้องศึกษาให้ดี ขณะนี้ยังพอมีเวลา ด้วยการยอมรับข้อตกลง TPP ผ่านการเจรจาแบบกระหืดกระหอบ ฉะนั้นไทยไม่ควรผลีผลามหรือใจร้อน แม้จะตกลงกันได้ก็ตาม แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่เปิดเผยต่อสาธารณชน
“ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าไทยสมควรจะเข้าร่วม TPP หรือไม่ และเป็นไปด้วยเงื่อนไขอย่างไร และต่อให้ตัดสินใจเข้าร่วมแล้ว ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย เพราะไทยมิได้เป็นสมาชิกตั้งแต่ต้น ฉะนั้นย่อมต้องใช้ระยะเวลาเจรจาทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคียาวนานพอสมควรกว่าจะลุล่วงได้” เขากล่าวทิ้งท้าย .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ทีดีอาร์ไอ ชี้สิ่งทอไทยเตรียมกระอัก หลังเวียดนามร่วมเป็นสมาชิก TPP
ภาคประชาสังคมค้านไทยเข้า TPP ตามคำชวนสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน