แกะรอยข่าว"อักษรา"ไขก๊อก – แง้มแพคเกจคืนความเป็นธรรมผู้เห็นต่างฯ
“ทำไมมีคนถามเรื่องนี้หลายคนแล้ว?” เป็นเสียงเปรยจากปลายสายของ พันเอกบรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ในฐานะรองโฆษกคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
คำถามที่นำมาสู่เสียงเปรยนี้ คือคำถามจาก “ทีมข่าวอิศรา” ที่ว่า พลเอกอักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก จะลาออกจากการปฏิบัติภารกิจหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ จริงหรือเปล่า
“ไม่มีนะ ไม่เคยได้ยินว่าท่านจะลาออกเลย” เป็นคำตอบจาก พันเอกบรรพต ซึ่งกำลังจะติดยศพลตรีในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และว่า “วันนี้ (22 กันยายน) ท่านก็เพิ่งแถลงแนวทางการทำงานในระยะต่อไปนะ ไม่น่าจะมีอะไรแบบนั้นหรอก”
“แล้วพี่จะแถลงข่าวไหม เพราะข่าวลืมเริ่มเยอะ” ทีมข่าวอิศราถามต่อ
“ก็คงจะต้องแถลงนะ กำลังเตรียมเอกสารหลักฐานอยู่ ไปพูดลอยๆ คงไม่ดี” พันเอกบรรพตตอบ ก่อนจะวางสายไป
แล้วคำแถลงก็ปรากฏเป็นเอกสารในวันรุ่งขึ้น...
“กอ.รมน. ยืนยัน พลเอกอักษรา เกิดผล ยังคงทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้”
นั่นเป็นหัวข่าวที่เป็นเอกสารคำแถลง ส่วนเนื้อหามีดังนี้
“วันนี้ (23 กันยายน) พันเอกบรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อซักถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังสิ้นเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากครบกำหนดเกษียณอายุราชการนั้น ความเดิมสรุปได้คือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมอบหมายผู้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย พลเอกอักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 259/2558 เรื่อง แต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 21 กันยายน 2558 ให้ พลเอกอักษรา เกิดผล ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป โดย กอ.รมน.ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานตามแผนขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป”
นี่คือคำแถลงแบบเต็มๆ ไม่ตัดทอนเลยแม้แต่ประโยคเดียว หลังจากคำแถลงนี้ปรากฏออกมา ข่าวการลาออกและวงพูดคุยล่ม ก็เริ่มเงียบหายไป
แกะรอยข่าว “ไขก๊อก”
จะว่าไปข่าวการพยายามลาออกของ พลเอกอักษรา ก็ใช่ว่าจะไม่มีมูลเอาเสียเลย เพราะมีคนเคยเห็นหนังสือลาออกของ พลเอกอักษรา ที่ส่งถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เหตุผลในหนังสือ ไม่มีใครรู้ดีเท่า พลเอกอักษรา แต่เหตุผลที่มีการวิเคราะห์กันจากวงนอก ก็คือ
1.พลเอกอักษรา ใกล้เกษียณอายุราชการ แต่คำสั่งให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เป็นคำสั่งที่ระบุชื่อและตำแหน่งของ พลเอกอักษรา คือ ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ฉะนั้นเมื่อเกษียณอายุราชการ สถานะของ พลเอกอักษรา ก็ไม่ตรงตามคำสั่งแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฉะนั้นการลาออกจึงอาจเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคกฎหมายอย่างหนึ่ง เพื่อให้มีการออกคำสั่งใหม่ เพราะจะว่าไปแล้ว หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการ สถานะอดีตข้าราชการน่าจะทำให้การทำงานคล่องตัวกว่าด้วยซ้ำ
2.ท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ยอมรับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ที่ตั้งขึ้นมาจากตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ให้เป็นองค์กรตัวแทนในการพูดคุยกับรัฐบาลไทย ทั้งยังไม่ยอมรับข้อเสนอ 3 ข้อแรกของ “มารา ปาตานี” ด้วย ทำให้ประเมินกันว่าการเดินหน้าพูดคุยต่อไปน่าจะทำได้ยาก และประสบความสำเร็จยาก
3.พลเอกอักษราทำงานภายใต้แรงกดดันอย่างสูงจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งทหารด้วยกันเอง หน่วยงานด้านความมั่นคงที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยในลักษณะ “ยกระดับอีกฝ่าย” ให้มีสถานะทางกฎหมายและมีฐานะเท่าเทียมเป็นคู่เจรจากับรัฐบาลไทย นอกจากนั้นยังมีแรงกดดันจากสื่อมวลชนที่รายงานข่าวแบบตรวจสอบและเกาะติดความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยอย่างต่อเนื่องด้วย
แรงกดดันเหล่านี้สะท้อนผ่านคำแถลงของ พลเอกอักษรา ที่เจ้าตัวร่างเองทุกฉบับ เช่น ในฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ว่า “แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังมีคนคิดแบบเก่า ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุย ยังคิดว่าเป็นการยกระดับองค์กรเพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายในปัจจุบัน...”
พร้อมอธิบายทิศทางการทำงานของเขาว่า เป็นการดึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้เข้ามา "ร่วมมือ" กับรัฐในการช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยมีภาคประชาชนจับตามองและให้การสนับสนุน รวมทั้งเป็นสักขีพยานในความร่วมมือดังกล่าว จึงนับว่าเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นความสำเร็จที่สำคัญ
นี่คือหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า พลเอกอักษรา ทำงานภายใต้แรงกดดันสูงจริงๆ สาเหตุประการหนึ่งเป็นเพราะการแก้ไขปัญหาความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระจายอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน และคณะพูดคุยฯ เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ไม่ได้มีอำนาจกำหนดทิศทางการทำงานทั้งหมดของทุกหน่วย ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพทางความคิดและนโยบายจึงเกิดขึ้นบ้างเป็นธรรมดา
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ พลเอกอักษรา ยังไม่ได้ถอดใจจริงๆ และได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรีให้สานงานต่อไป
ส่วนคนที่เคยมีข่าวจะเข้ามาสานงานต่อ คือ พลเอกกิตติ อินทสร เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 14 (ตท.14) ของ พลเอกอักษรา นั้น ขณะนี้ได้รับการวางตัวเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
ต้องจับตาต่อไปว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในยุคที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ และผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ พลเอกธีรชัย นาควานิช เป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 ด้วยกัน
แง้มแพ็คเกจยุติธรรม
มีประเด็นน่าสนใจประเด็นหนึ่งในคำแถลงของ พลเอกอักษรา เมื่อวันที่ 22 กันยายน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่ากระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ กำลังเดินหน้าต่อไป นั่นก็คือ การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำ "ร่างชุดความคิด (package) กระบวนการยุติธรรม" แบ่งกลุ่มประเภทแยกความผิดแต่ละกรณี และกำหนดแนวทางดำเนินการผ่อนผันตามกรอบของกฎหมายไทย เพื่อให้กลุ่มผู้เห็นต่างฯ ได้เลือกให้ตรงความต้องการของแต่ละกลุ่มหรือเป็นบุคคล
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หนึ่งในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ร่างชุดความคิดที่ว่านี้ คือการเปิดช่องทางทางกฎหมายเพื่อให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เดินเข้ามาหารัฐ และยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธหรือความรุนแรง
แนวทางที่วางเอาไว้จะมี 4 ช่องทางกว้างๆ รองรับคน 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่โดนหมาย ฉฉ.หรือหมายเรียกตัวที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) หากยอมกลับเข้ามา “ร่วมมือ” กับรัฐในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ก็จะต้องยกเลิกหมาย ฉฉ.ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ
2.กลุ่มที่ถูกดำเนินคดีอาญาซึ่งเป็นคดีความมั่นคง ก็จะมี 2 ช่องทางเป็นอย่างน้อย ได้แก่
- ช่องทางตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งช่องทางนี้ดำเนินการไปแล้วเกือบ 10 กรณี แต่ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องกระบวนการที่ไม่กระชับ และขั้นตอนที่ยากในการเข้าร่วมกระบวนการ
- ช่องทางตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ที่ระบุว่า “...ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ. (คณะกรรมการอัยการ)....
ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่พนักงานอัยการไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม"
ช่องทางนี้ พูดง่ายๆ ก็คือช่องทางที่เปิดให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้องคดีความอาญาที่เป็นคดีความมั่นคงในบางคดีนั่นเอง
3.กลุ่มที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษแล้ว และรับโทษอยู่ในเรือนจำ ก็จะใช้ช่องทาง “พักโทษเป็นกรณีพิเศษ” เหมือนกรณีของ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ และ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ อดีตแกนนำขบวนการพูโล
“ช่องทางทั้งหมดจะต้องสอดประสานกัน และดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีหลักเกณฑ์เงื่อนไขชัดเจน และที่สำคัญต้องมีฐานข้อมูลคดีความมั่นคง ว่ามีทั้งหมดกี่คดี อยู่ในขั้นตอนไหนของกระบวนการยุติธรรม ขณะนี้กำลังดำเนินการยกร่างและเขียนแผนงานทั้งหมด” รองปลัดฯชาญเชาวน์ ระบุ
หากแพคเกจกระบวนการยุติธรรมเป็นรูปเป็นร่างและนำมาปฏิบัติได้จริงทั้งระบบ โอกาสที่โต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเดินหน้าต่อไปก็มีสูง เพราะรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา หากตัดเรื่องแนวคิดทางการเมืองออกไป ก็หนีไม่พ้นปัญหาความไม่เป็นธรรมที่คนในพื้นที่ชายแดนใต้รู้สึกว่าตนเองถูกกดทับมานานนั่นเอง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้ายบน) รองปลัดฯชาญเชาวน์ (ขวาบน) พลเอกอักษรา (ล่าง) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯของรัฐบาลไทย
อ่านประกอบ :
1 เปิดใจอัยการสูงสุด...กับช่องทางถอนฟ้องคดีความมั่นคง
2 "อักษรา"ชงแพคเกจยุติธรรมเสนอ"มาราฯ" รองโฆษกเตรียมแจงข่าวไขก๊อก