เปิดใจอัยการสูงสุด...กับช่องทางถอนฟ้องคดีความมั่นคง
การบริหารจัดการคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ เป็นประเด็นที่พูดกันมานาน แต่มีผลเชิงรูปธรรมค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาหลักของการอำนวยความยุติธรรมซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งของปัญหาความไม่สงบในดินแดนปลายด้ามขวาน
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว (สัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.2556) ประเด็นการบริหารจัดการคดีความมั่นคงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง โดยด้านหนึ่งมาจากพิธีมอบเอกสาร "แนวทางการดำเนินคดีมั่นคงสำหรับพนักงานอัยการในสถานการณ์ชายแดนใต้" ซึ่งมี นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เป็นประธานในพิธี
ในงานดังกล่าวมีการนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยเรื่อง "ประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคงกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน : ศึกษากรณีสี่จังหวัดชายแดนใต้" โดย ผศ.วีระศักดิ์ ตุลยาพร และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยสงขลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาด้วย
ขณะที่อีกด้านหนึ่งถูกพูดถึงจากข้อเรียกร้องของ นายฮัสซัน ตอยิบ ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น และร่วมอยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทย ที่ออกมายื่นข้อเสนอให้ยกเลิกหมายจับคดีความมั่นคงทั้งหมด และปล่อยนักโทษ ซึ่งน่าจะหมายถึงนักโทษคดีความมั่นคงที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้ง 2 บริบทได้รับการอธิบายอย่างชัดเจนพอสมควรจากนายจุลสิงห์ โดยเฉพาะการถอนฟ้องคดีตามนัยแห่งมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ที่ระบุว่า...
"พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ. (คณะกรรมการอัยการ)
ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่พนักงานอัยการไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม"
จริงๆ ประเด็นนี้เคยปรากฏเป็นข่าวไปครั้งหนึ่งแล้วในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา จากการสัมภาษณ์ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ครั้งนั้น พล.ต.อ.วิเชียร เล่าให้ฟังว่าการเปิดช่องทางให้ผู้ก่อความไม่สงบ หรือผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้ก้าวพ้นจากการเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคง จะใช้เพียงมาตรการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพียงมาตรการเดียวยังไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยอำนาจของอัยการสูงสุดตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการฯ ด้วย
พล.ต.อ.วิเชียร บอกว่าเขาได้ริเริ่มเรื่องนี้เอาไว้สมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.(2554-2555) แต่ยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อย ก็ต้องเก็บข้าวของไปนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงคมนาคมเสียก่อน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ พล.ต.อ.วิเชียร ริเริ่มเอาไว้ได้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมแล้วตามการบอกเล่าของนายจุลสิงห์ ที่ระบุว่าได้ออกระเบียบรองรับการดำเนินการตามมาตรา 21 เรียบร้อยแล้ว และได้นำไปใช้จริงแล้วในคดีต่างๆ แต่ยังไม่เคยทดลองใช้กับคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายจุลสิงห์บอกว่าสำหรับคดีความมั่นคงเป็นเรื่องใหญ่ที่เขากำลังหารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อยู่ในปัจจุบัน
และทั้งหมดนี้คือความเห็นของเขาต่อประเด็นดังกล่าว ตลอดจนการบริหารจัดการคดีความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
O ปัญหาที่พบในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร?
จากโครงการที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำการวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบปัญหาสำคัญคือพยานบุคคลหาได้ยากมาก ก็คงจะเห็นแล้วว่าเวลามีคดีเกิดขึ้น การจะมีพยานไปชี้ตัวว่าคนนั้นคนนี้กระทำความผิดกลับไม่ค่อยมี เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่จะดูว่าในที่เกิดเหตุตรงนี้ใครเป็นคนมา ใครเป็นคนทำ กระสุนปืนนี้มาจากปืนกระบอกไหน ใครเป็นคนครอบครอง เป็นการสืบพยานหลักฐานด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมกับพยานบุคคล
แต่สำหรับสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว คดีจะชนะหรือแพ้ยังสำคัญน้อยกว่าความเข้าใจกันระหว่างประชาชนกับบ้านเมือง (หมายถึงฝ่ายบ้านเมือง หรือฝ่ายรัฐ) ต่อให้ชนะทุกคดีก็ไม่มีประโยชน์อะไร ความสำคัญคือประชาชนต้องเข้าใจบ้านเมือง และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะต้องเป็นมิตรกับประชาชน ผมไม่เคยเลยที่จะบอกว่าคดีที่สามจังหวัดภาคใต้ต้องชนะ ถ้าคดีชนะจะเป็นผลงานของอัยการ...ตรงนี้ไม่ใช่ ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือความถูกต้องและเป็นธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์มันมียาวนานว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปข่มขู่ ไปแสดงอาการดูถูกเหยียดหยามอะไรต่างๆ อันนั้นเป็นสิ่งที่มันเป็นความผิดพลาดจากสมัยโบราณ ในตอนนี้เราต้องอยู่กันด้วยความรัก ประชาชนจะต้องรักประเทศชาติ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ต้องรักประชาชน ถ้ามีความเข้าใจกันเสียแล้วก็ไม่ต้องไปพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เพราะมันจะไม่มีคดี
ด้วยเหตุนี้ผมก็จะให้นโยบายไปว่า ประสิทธิภาพในการดำเนินคดีก็ว่ากันไป แต่ความสำคัญเหนือกว่าประสิทธิภาพ เหนือกว่าข้อกฎหมายก็คือความเข้าใจกัน และถ้าคนเราเข้าใจกันแล้ว เขาคิดว่าเขาหลงผิดแล้วเขาจะกลับตัว หรือจะพาเพื่อนมาอบรมในเรื่องความรักที่มีต่อประเทศ อัยการก็พร้อมที่จะไม่ดำเนินคดีอะไรเลย แต่ว่าจะต้องอยู่ภายใต้ข้อเสนอตามลำดับจนถึงอัยการสูงสุดที่จะสั่งได้ เพราะว่าเรามีกฎหมายพิเศษ ถ้าเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติอัยการสูงสุดมีสิทธิที่จะออกคำสั่งไม่ดำเนินคดีได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมาคุยกันนะว่าต้องไม่ทำอีกนะ ที่ทำไปแล้วเพราะหลงผิด เพราะหากสั่งไม่ดำเนินคดีแล้วไปทำอีกมันก็ไม่ดี ต้องมาสัญญากัน มาเข้าใจกัน ผมมีความรู้สึกว่าคนเราเข้าใจกันแล้วอะไรๆ มันก็จะดีขึ้นเอง ในเรื่องนี้จะเป็นไปตามกฎหมายองค์กรอัยการฯ มาตรา 21
O กลุ่มบีอาร์เอ็นเสนอข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษและยกเลิกหมายจับคดีความมั่นคง ท่านคิดอย่างไร?
สำหรับผมนะ ถ้าเป็นข้อสัญญาที่มาจากใจกันจริงๆ อะไรก็ได้ทั้งนั้น จะมีประโยชน์อะไรครับที่ไปดำเนินคดี ถ้าใครติดคุกสักกี่คนเราได้อะไรครับ...ไม่ได้อะไรเลย เราอยากได้ความสงบที่มั่นคงยืนยาว ถ้าทุกคนมีความรักกัน รักกับทางเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เราจะไปทะเลาะกันทำไม จะไปมีเหตุร้ายทำไม
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เหตุปกติ เหตุปกติที่เกิดกันทั้งประเทศคือเราโกรธกันเราจึงทำร้ายกัน มีความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งทางธุรกิจ ความขัดแย้งทางชู้สาว ก็เป็นประเด็นหลักๆ ที่คนเราจะฆ่ากันตาย แต่ที่สามจังหวัดภาคใต้มันไม่ใช่ มันเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน แต่ถ้าเราจูน (ปรับ) ให้ประชาชนเป็นพวกเดียวกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองแล้วทุกอย่างจบ มันก็มีหลายวิธีที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะต้องปรับตัวเองเหมือนกัน ก็เอาคนในท้องที่มาเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเสียบ้าง ดูแลเพื่อนพ้องตัวเองบ้าง ตำรวจจากภาคประชาชนบ้าง เวลานี้ที่ประชาชนยังไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐก็เพราะเขาคิดว่ารัฐเป็นคนละฝ่ายกับเขา ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำความเข้าใจ
O การดำเนินการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการฯ มาตรา 21 มีเงื่อนไขอย่างไร?
ผมมีระเบียบปฏิบัติ ไม่ใช่พอใจใครแล้วจะสั่งไม่ฟ้องได้ อันนี้ไม่ใช่นะ คือระเบียบตามมาตรา 21 ซึ่งในวรรคแรกเป็นเรื่องอัยการ กล่าวคืออัยการมีความเป็นอิสระในการพิจารณาสั่งคดีตามความเป็นธรรม และวรรค 2 เป็นเรื่องที่ว่าถ้าอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือมีผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ก็ให้เสนออัยการสูงสุด แล้วอัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะออกคำสั่งไม่ฟ้องได้ตามระเบียบพิธีการที่อัยการสูงสุดมีความเห็นชอบ
ตรงนี้ผมก็ได้ออกระเบียบไปแล้วว่ามันมีอะไรบ้าง เช่น ถ้าสมมติเราจับผู้ร้ายได้ แล้วผู้ร้ายมาสัญญาว่าผมหลงผิดไป ผมเข้าใจผิดไป ผมมีอุดมการณ์ผิดไป เพราะฉะนั้นผมจะกลับตัวช่วยเหลือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จะไปฟ้องเขาทำไม ซึ่งตรงนี้อัยการเจ้าของสำนวนต้องทำความเห็นเสนอเข้ามาตามลำดับชั้นถึงอัยการสูงสุด มันก็มีระเบียบออกมาตั้งแต่ปี 2554 ก็เป็นระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
การฟ้องคดีปกติมันต้องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คือใครทำผิดกติกาสังคมก็ต้องถูกลงโทษ สาธารณะจะต้องได้รับความคุ้มครอง แต่ถ้าเกิดการฟ้องไปมันก็ไม่มีประโยชน์ หรือเด็กที่มันกระทำความผิดมันเขลาเบาปัญญา ฟ้องไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็เอาไปอบรมเสีย หรือผู้ที่กระทำผิดที่เกิดจากความไม่เข้าใจเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เข้าใจว่าเราอยู่คนละฝ่าย ก็ต้องมาคุยกันหน่อย ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของหมู่บ้านนั้นช่วยอบรมกันหน่อย แล้วก็อาจจะมีมีสัญญาว่าอย่าทำอีกนะ หากทำอีกผมจะเอาของเก่ามาดำเนินการรวมไปด้วยนะ อะไรทำนองนี้
O ทุกวันนี้ระเบียบที่ว่ามีการใช้จริงกับคดีใดบ้าง แล้วจะใช้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ด้วยหรือไม่?
ผมได้สั่งเรื่องนี้ไปเยอะ แต่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงในภาคใต้ อย่างเช่น ชาวต่างชาติกระทำความผิดต่อคนต่างชาติด้วยกันเองในสถานทูตต่างชาติ สถานทูตเขาจะบอกว่าขอเถิด เขาจะกลับบ้านเมืองเขา เราก็เอาเถอะ เรื่องของเขามันไม่เกี่ยวอะไรกับเรา
ส่วนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผมยินดี แต่มันจะต้องมาจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคสังคม หมอ เจ้าหน้าที่ปกครอง ตำรวจ เขาก็อาจจะมีระเบียบภายในของเขา อัยการเองก็ต้องทำตามระเบียบที่อัยการสูงสุดกำหนด คือต้องเสนอมาตามลำดับชั้น ตั้งแต่อัยการผู้ตรวจสำนวน หัวหน้าอัยการ รองอธิบดี ถึงอธิบดี จนมาถึงอัยการสูงสุดที่จะสั่ง ซึ่งตรงนี้ผมจะได้เห็นความเห็นของทุกคน ซึ่งเราก็มีกติกาอยู่ว่าอะไรได้ อะไรไม่ได้
คือหากเราเห็นว่าฟ้องไปกับการไม่ฟ้อง การไม่ฟ้องน่าจะดีกว่า สังคมจะได้อะไรมากกว่า ผมก็จะไม่ฟ้อง ตรงนี้จะเป็นระเบียบอัยการสูงสุด ใช้เฉพาะอัยการทั่วประเทศ เวลาเราเจอคดีทำนองนี้ อย่างเช่น คดีชาวบ้านพาลูกสาวใครหนีไป ตรงนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินนะครับ ฐานพรากผู้เยาว์ หรือพรากหญิงไปจากบิดามารดา แต่ถ้ามาเจออีกทีเขาแต่งงานกันแล้วด้วยความเต็มใจ มีลูกกันแล้ว มีการกราบขอขมาพ่อแม่ ตรงนี้ไปสั่งฟ้องแล้วได้อะไรขึ้นมา ก็ต้องเป็นเรื่องๆ ไป
แต่คดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผมว่ามันใหญ่ยิ่งเกินกว่าที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะออกระเบียบใช้กันภายในของเราเองได้ ก็คงจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องตั้งคณะทำงาน ต้องพิจารณาเรื่องนี้เพื่อที่จะเสนอผม
เมื่อเร็วๆ นี้ผมก็ได้คุยกับทางท่านเลขาธิการ ศอ.บต. (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง) ว่าให้ท่านไปวางระเบียบช่วยกันกับทางอัยการดูว่า ถ้ามีทางที่เราจะทำได้เราก็ยินดี ท่านอธิบดีอัยการภาค 9 จะต้องเสนอความเห็นมาที่อัยการสูงสุด ก็เป็นไปตามลำดับชั้น ทุกคนมีความเห็นหมด ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร แต่ต้องชั่งน้ำหนักนะว่าฟ้องแล้วสังคมได้ตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ มีความเสี่ยงในเรื่องพยานหลักฐานหรือไม่ หรือ มีความเสี่ยงในเรื่องคำพิพากษา แต่หากไม่ฟ้องสังคมได้มากกว่าไหม สังคมจะได้ประโยชน์ เขาเองจะกลับคืนสู่สังคม จะกลับมาบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะไหม เรามาทำงานให้หลวงไหม...อะไรอย่างนี้ แล้วจะไปพาเพื่ออีกหลายคนออกมาด้วย ก็ทำนองนี้
ทหาร ตำรวจ ปกครอง ภาคสังคม ผมว่าต้องช่วยกัน ทุกคนจะต้องเป็นหูเป็นตาแทนประเทศ เรื่องนี้เป็นปัญหาเกินกว่าหน่วยงานเดียวจะทำได้ รัฐบาลเองก็ต้องช่วย งบประมาณที่จะต้องมา แล้วทำอะไรก็ตามที่ให้เกิดความรักท้องถิ่น
O กรณีนี้สามารถใช้ดำเนินการกับทุกคดีหรือไม่?
ผมใช้ได้ทั้งนั้น ถ้าฟ้องไปแล้วก็ถอนฟ้องได้ หากยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีก็สามารถใช้ได้ แต่หากตัดสินแล้วเป็นเรื่องของราชทัณฑ์ที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานอภัยโทษ หากมาสัญญากันหมดนะว่าทั้ง 5 พันคนจะเข้าแถวมาทำประโยชน์ให้หมดทุกคน ผมว่ายกคดีให้ผมเลย แต่ต้องสัญญากันนะ ด้วยใจนะว่าห้ามละเมิด ในการสัญญากันก็ต้องไปหาจุดความเชื่อของเขาสิ เขาเชื่ออะไร เขาคุมกันด้วยอะไร มาตรานี้ก็สามารถนำมาใช้ถอนฟ้อง ถอนอุทรณ์ ถอนฎีกา ได้ทุกขั้นตอน
O ท่านคิดว่าการดำเนินการตรงนี้สามารถเดินควบคู่ไปกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ได้หรือไม่?
ใช่...ถูกต้อง คือผมบอกแล้วไงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่คดีอาญาแผ่นดินที่คนเราไปฆ่ากันเพราะเราทะเลาะกัน อันนี้มันไม่ได้ทะเลาะกันเลย มันเป็นเรื่องอุดมการณ์หรือความไม่เข้าใจ จากที่มีข้อมูลการศึกษาวิจัย หลายๆ คดีที่เกิดขึ้นจากสำนักงานอัยการในสามจังหวัดภาคใต้ ตรงนี้สามารถเดินหน้าควบคู่ไปกับการเจรจาสันติภาพได้เลย เพราะกฎหมายอัยการนั้นกว้างมาก ความมั่นคงภายในก็ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ได้ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็ได้ มาตรานี้ใช้กับการถอนอุทรณ์ ถอนฎีกาก็ได้ ทุกอย่างต้องขึ้นไปที่อัยการสูงสุด
O แต่การดำเนินการแบบนี้จะส่งผลกระทบกับฝ่ายผู้เสียหายหรือผู้ถูกละเมิดหรือไม่ มีกระบวนการอย่างไรที่จะทำให้เขายินยอม?
ผมคิดว่าเรื่องนี้ใหญ่ยิ่งเกินกว่าที่อัยการคนเดียวจะคิดได้ ก็ต้องมีการปรึกษากันของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จะขอคณะรัฐมนตรี เอาเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าถ้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างนี้ ภายใต้เงื่อนไข 1-2-3-4-5 ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ก็เสนอมา หรือขอจะวางเงื่อนไขอย่างไรก็ว่ากันไป เช่น ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมาทำประโยชน์ให้กับหลวงด้วยนะ ไอ้การทำประโยชน์นี่ก็มีตั้งเยอะแยะ ที่กรุงเทพฯเขาใช้คือมาสอนหนังสือ ถ้าขับรถประมาทก็มาฟังการอบรม สอนหนังสือน่ะดีที่สุด เอามาทำความสะอาด มาทำสิ่งที่เป็นสาธารณะหรือทำงานอะไรอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ตกลงแทนกันได้ ถ้าคนเราสมัครใจอะไรๆ มันก็ไปได้หมด
O คดีที่กระทำความผิดเพราะอุดมการณ์แตกต่างกัน หรือเพราะความไม่เข้าใจ แต่ศาลตัดสินถึงที่สุดไปแล้ว จะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง?
อย่างที่บอกไปแล้วว่าถ้าตัดสินไปแล้วเป็นเรื่องของราชทัณฑ์ และเป็นไปตามกฎหมายที่จะเสนอขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าถ้าสมมติว่าคนที่เป็นผู้นำถูกตัดสินไปแล้ว และมีเงื่อนไขข้อเสนอว่าเขายังมีลูกสมุนอีกหลายคนที่ยังอยู่ในขบวนการ ซึ่งผู้นำสัญญาจะไปทำให้ลูกสมุนที่อยู่ในขบวนการคนอื่นๆ กลับใจมาอยู่กับหลวงได้ อย่างนี้ผมว่าโอเคนะ แลกกันกับอิสรภาพของเขา ผมว่ารัฐบาลยอมแลกนะ อยู่ในคุกเสียข้าวด้วย รัฐบาลได้อะไร หากเทียบกับสิ่งที่เขาสามารถทำให้บ้านเมืองสงบสุขได้ย่อมดีกว่าเอาตัวเขาไว้ ส่วนที่ว่าจะขัดกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่หรือไม่นั้น ผมว่าคนไทยทุกคนก็อยากเห็นบ้านเมืองสงบ
เปิดสถิติคดีมั่นคง 9 ปีสั่งฟ้อง 907 คดี
สำหรับพิธีมอบเอกสาร "แนวทางการดำเนินคดีความมั่นคงสำหรับพนักงานอัยการในสถานการณ์ชายแดนใต้" เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.2556 นั้น จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมราชมังคลา พาวิลเลียน รีสอร์ท สงขลา อ.เมือง จ.สงขลา
ส่วนผลการศึกษาวิจัยเรื่อง "ประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคงกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน : ศึกษากรณีสี่จังหวัดชายแดนใต้" มีสาระสำคัญสรุปว่า จำนวนและประเภทของคดีความมั่นคงตั้งแต่ปี 2547 ถึงเดือน ก.ค.2555 มีคดีความมั่นคงทั้งหมด 7,918 คดี สามารถส่งสำนวนถึงสำนักงานอัยการจังหวัด 6 แห่ง รวม 4,686 คดี เป็นคดีที่ปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ส่งตัวมาด้วย 1,394 คดี พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้อง 907 คดี
สำหรับสำนวนคดีที่อัยการสั่งฟ้อง 907 คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษทุกข้อหา 206 คดี ลงโทษบางข้อหา 108 คดี ยกฟ้องทุกข้อหา 439 คดี อื่นๆ 154 คดี
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา 187 คดี และศาลฎีกามีคำพิพากษา 31 คดี โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ 18 คดี ยก 2 คดี กลับ 2 คดี แก้ 7 คดี และสั่งจำหน่าย 2 คดี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด
2-3 บรรยากาศในพิธีพิธีมอบเอกสาร "แนวทางการดำเนินคดีความมั่นคงสำหรับพนักงานอัยการในสถานการณ์ชายแดนใต้"
อ่านประกอบ : อดีตเลขาฯสมช. : แค่ ม.21 ไม่พอ แต่ต้องถอนฟ้องได้ถึงศาลฎีกา