นักวิชาการยันไม่เคยมีใครตั้ง กม.กำกับจริยธรรมสื่อ ไทยอาจเป็นโมเดลเเรกของโลก
ศูนย์กฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา จัดเวทีถกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อฯ ครั้งสุดท้าย นักวิชาการ จุฬาฯ เชื่อไม่มีใครตั้ง กม.กำกับจริยธรรม เหตุเป็นเรื่องขึ้นอยู่กับจิตสำนึก ‘ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์’ เผยสถานการณ์กลับสู่ที่เดิม ระบุมาตรา 49 ให้มีองค์การวิชาชีพสื่อ ยังอยู่ ไม่เห็นด้วยต้องสู้กัน หนุนทำข้อเสนอต่อ กรธ.
วันที่ 13 กันยายน 2558 ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ครั้งที่ 3 กลุ่มนักวิชาการ ณ ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการจัดประชุมรับฟังในหัวข้อเดียวกันแล้วในครั้งที่ 1 กลุ่มผู้ประกอบการ และครั้งที่ 2 กลุ่มผู้สื่อข่าว เพื่อเปรียบเทียบกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. ... ฉบับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ร่างขึ้นตามมาตรา 49 ในร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สปช.มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนน 135:105 เสียง ทำให้ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาร่างใหม่ ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า จะหยิบยกประเด็นกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนขึ้นมาไว้ในรัฐธรรมนูญอีกครั้ง (อ่านประกอบ:ระดมกึ๋นคนทำสื่อ ถกร่าง พ.ร.บ.องค์การวิชาชีพฯ กำกับจริยธรรม-มาตรฐานทำงาน และ อดีต สปช.แนะสื่อเตรียมรับมือการปฏิรูป ย้ำแนวคิดยังอยู่ คสช.เอาจริง)
นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตสมาชิก สปช. ในฐานะกรรมการและคณะทำงานร่าง พ.ร.บ.ฯ กล่าวถึงท่าทีล่าสุดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตำหนิการทำหน้าที่ของสมาคมสื่อมวลชนไม่มีประโยชน์ ควบคุมกันเองไม่ได้ว่า คสช.กล่าวถึงจุดอ่อนในการกำกับกันเองด้านจริยธรรมของสื่อ ซึ่งหากเราไม่ต้องการเครื่องมืออื่นมาควบคุม จะต้องช่วยกันคิดหาแนวทางกำกับกันเองอย่างไร
ทั้งนี้ ตามหลักการในอดีตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ปฏิรูปสื่อสารมวลชน เทคโนโลยี สารสนเทศ สปช. เห็นว่า หากองค์กรสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ สร้างกลไกคล้ายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ซึ่งจัดตั้งคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียน คณะกรรมการวินิจฉัยเรื่องราวร้องเรียน กรณีสื่อละเมิด ทำได้จะเป็นสิงที่ดีมาก
หากกลไกข้างต้นดำเนินการไม่สำเร็จ อดีตสมาชิก สปช. กล่าวต่อว่า ต้องทำในระดับสภาวิชาชีพ ซึ่งขึ้นอยู่กับการรวมตัวของสื่อแต่ละประเภท และแต่ละพื้นที่ ดังเช่น จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ซึ่งกลุ่มจังหวัดดังกล่าวมีสื่อมวลชนจำนวนมาก และมีแนวคิดจะรวมตัวเป็นสภาวิชาชีพเช่นกัน ฉะนั้นทำอย่างไรให้สภาวิชาชีพเหล่านี้สามารถส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและกำกับจริยธรรม เพราะจากการศึกษากลับพบว่า ปัจจุบันมีองค์กรลักษณะนี้มากกว่า 200 องค์กร แต่กลับมีไม่กี่องค์กรทำหน้าที่กำกับจริยธรรมสื่อ
สำหรับระดับสภาองค์การวิชาชีพสื่อจะทำหน้าที่ดูแลคล้ายรับเรื่องอุทธรณ์ แต่ในชั้นอนุกรรมการก็ถกเถียงกันมาก เพราะไม่ง่ายเลยกับการแปลงความคิดให้เป็นกฎหมาย และมีสภาพบังคับ ในภาวะที่สื่อมีความหลากหลายในปัจจุบัน ที่สุดแล้ว โจทย์ใหญ่ในการปฏิรูปสื่อมี 3 ประเด็น คือ เสรีภาพบนความรับผิดชอบ การป้องกันแทรกแซงสื่อจากทุนและรัฐ และการกำกับกันเองและจริยธรรม ซึ่งนำมาสู่การออกแบบกฎหมาย
“อยากให้มีองค์กรขนาดเล็กรวมตัวกันเป็นองค์กรใหญ่เหมือนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยกตัวอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยอมรับเราไม่สามารถนำมือล้วงเข้าไปในทุกพื้นที่ได้ เพราะสื่อมีจำนวนมากกว้างเกินไป” นายประดิษฐ์ กล่าว และว่าขณะนี้สถานการณ์กลับมายืนจุดเดิม คือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังมีอยู่ ข้อเสนอฝ่ายความมั่นคงเรื่อง ปฏิรูปสื่อ ยังมีอยู่ และร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องร่างใหม่ อย่างไรก็ตาม หากไม่เห็นชอบกับมาตรา 49 ที่จะเกิดขึ้นก็ต้องต่อสู้กัน โดยทำข้อเสนอต่อ กรธ.
ด้าน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเตรียมออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ตั้งขึ้นเพื่อกำกับจริยธรรม ซึ่งไม่มีผิดหรือถูก แต่ไม่มีใครตั้งกฎหมายขึ้นมาเพื่อดูแลจริยธรรม เพราะเรื่องดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับประเด็นความถูกต้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับจิตสำนึก แม้จะร่างด้วยความระมัดระวังก็ตาม
ส่วนการนำรูปแบบของสภาทนายความปรับใช้กับสื่อนั้น ไม่แน่ใจว่าปรับใช้ได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะรายละเอียดน่าจะแตกต่างกัน ผลกระทบไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ ไม่เคยรู้สึกว่าสื่อไม่ดีทั้งหมด มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นทำให้เกิดปัญหา และหากย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า สาเหตุของปัญหาในปัจจุบัน คือ ไทยขาดองค์กรกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาระยะหนึ่ง ทำให้หลายคนอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเปิดทีวีดาวเทียม และวิทยุชุมชน ฉะนั้นเรื่องสิทธิเสรีภาพไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เมื่อเทียบกับการขาดองค์กรกำกับดูแลนานถึง 4 ปี
ขณะที่นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาขาดการเชื่อมโยงกับกฎหมายหลัก เช่น พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 หรือพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งฉบับหลังรับเฉพาะจดแจ้งการพิมพ์ แต่ไม่มีสิทธิไม่รับ หรือพักใบการพิมพ์ อาทิ ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์เป็นเวลา 1 ปี กรณีนี้ทำได้หรือไม่ มิเช่นนั้น หากให้พ้นจากการเป็นสมาชิกอย่างเดียวแล้ว ตั้งคำถามว่า จะเดินไปในทิศทางใดต่อ
“การกำกับกันเองของสื่อในประเทศฟิลิปปินส์ ประเภทวิทยุ โทรทัศน์ หากกระทำผิดครั้งที่ 1 มีการปรับ ออกจดหมายเตือน กระทำผิดครั้งที่ 2 ปรับสูงขึ้น ลงโทษทางปกครอง ตักเตือน และงดรับอภิสิทธิการเป็นสมาชิก และครั้งที่ 3 งดรับอภิสิทธิ 8 ปี แต่ยังได้รับการกำกับจริยธรรม และครั้งที่ 4 ไม่ได้เป็นสมาชิก และส่งเรื่องไปยังองค์กรกำกับดูแล กรณีผิดซ้ำหลายครั้ง อาจไม่ต่อใบกำกับกิจการ เป็นต้น” นักวิชาการสื่อ ระบุ .