- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ระดมกึ๋นคนทำสื่อ ถกร่าง พ.ร.บ.องค์การวิชาชีพฯ กำกับจริยธรรม-มาตรฐานทำงาน
ระดมกึ๋นคนทำสื่อ ถกร่าง พ.ร.บ.องค์การวิชาชีพฯ กำกับจริยธรรม-มาตรฐานทำงาน
ท่ามกลางกระแสคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.)ฉบับใหม่ หนึ่งในนั้นอาจมีคนในองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย เหตุเพราะมาตรา 49 ในร่าง รธน.บัญญัติให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งหลายคนเห็นว่า ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นด้านการกำกับดูแลจริยธรรมหรือมาตรฐานวิชาชีพได้ดีเท่าการกำกับดูแลกันเอง หากขืนดึงดันไปอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะกรรมาธิการปฏิรูปการกำกับดูแลประกอบกิจการสื่อ กิจการโทรคมนาคม และกิจการสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ...ต่อ สปช. และได้มีมติรับหลักการแล้ว
ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง การส่งเสริมและการกำกับดูแลจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งมีแนวทางการศึกษาตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 39 และ 40 เสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธาน สปช. และนายกรัฐมนตรี
งานนี้ดูเหมือนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากสุดท้ายร่าง รธน.มีผลบังคับใช้ ดังนั้น เพื่อให้การศึกษาเกิดประโยชน์สูงสุด ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา จึงจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ขึ้น เพื่อเปรียบเทียบกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับ สปช. และให้มีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เพื่อนำมาสู่กฎหมายที่เหมาะสม ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
‘สุวรรณา สมบัติรักษาสุข’ ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา สรุปสาระสำคัญเปรียบเทียบร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับว่า มีแนวคิดไม่แตกต่างกัน (ร่างของศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ตามแนวทางของ คปก.) ซึ่งมุ่งเน้นการกำกับดูแล 3 ชั้น คือ องค์กรสื่อมวลชนกำกับดูแลกันเอง, องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนกำกับดูแลองค์กรฯ และสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติกำกับดูแลองค์การฯ
สิ่งที่แตกต่างกัน คือ วิธีการเขียนกฎหมาย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ของ สปช.ไม่สามารถอธิบายให้ออกมาได้ ขณะที่ของศูนย์ศึกษากฎหมายฯ พยายามเดินตามแนวทาง องค์กรสื่อมวลชน-องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน-สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
เมื่อลงรายละเอียดแนวคิดเฉพาะของศูนย์ศึกษากฎหมาย เธอกล่าวว่า กฎหมายรับรองการมีอยู่ขององค์กรสื่อมวลชน องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน โดยไม่บังคับการเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ไม่เข้ามาก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามลำดับชั้น และจะถูกกำกับโดยตรงจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ (ไม่มีการกำกับดูแลตนเอง)
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า มาตรฐานจริยธรรมและกระบวนการรวมถึงสภาพบังคับควรเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติงานโดยตรงก่อน นั่นคือ องค์กรสื่อมวลชน และองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีมาตรฐานกลางกำหนดให้ทราบกว้าง ๆ แต่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวในรายละเอียด เพราะแต่ละองค์กรย่อมมีแนวทางปฏิบัติแตกต่างกัน
“เห็นภาพเชิงประจักษ์ขององค์กรหรือองค์การก่อน จึงจะมองภาพสภาวิชาชีพได้ชัดเจนมากขึ้น และการเกิดขึ้นของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสถานะเดิมของระบบการกำกับดูแลกันเองที่มีอยู่ในปัจจุบันมากเกินไป” ปธ.ศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ระบุ
เธอยังกล่าวถึงความแตกต่างกรณีจัดทำเป็นร่างกฎหมายว่า ต้องดูระหว่างฉบับของ สปช.และศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ฉบับใดจะสะท้อนแนวคิดได้ตรงกับวัตถุประสงค์ ในแง่วิธีเขียนและการเรียบเรียงมากกว่ากัน ทั้งนี้ แนวคิดขั้นต้นมาพร้อมกัน แต่ฉบับ สปช.ไม่กำหนดบทบาทหน้าที่ระดับล่างให้ชัดเจน และไม่ไว้วางใจการกำกับดูแลกันเองของระดับล่าง ซึ่งอาจถูกแทรกแซงจากภายนอกได้ แต่ฉบับศูนย์ศึกษากฎหมายฯ กำหนดหน้าที่ขององค์กรสื่อมวลชน องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน และเน้นการกระจายอำนาจ
เเจงหลักจริยธรรมสื่อ-มาตรฐานคุ้มครอง ปชช.จากวิชาชีพ
สำหรับรายละเอียดบางช่วงบางตอน ที่น่าสนใจ คือ อำนาจหน้าที่ของกรรมการจริยธรรม ‘สุวรรณา’ ชี้ประเด็นให้เห็นความแตกต่างของ ร่าง พ.ร.บ.สองฉบับว่า ร่างศูนย์ศึกษากฎหมายฯ คณะกรรมการจริยธรรมมีอำนาจวินิจฉัย ยกข้อร้องเรียน หรือสั่งให้ดำเนินการเยียวยา หรือลงโทษสมาชิก ที่ถูกร้องเรียนอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 75 (ตักเตือน เยียวยา เผยแพร่คำวินิฉัยต่อสาธารณะผ่านช่องทางสื่อสารมวลชนต่าง ๆ เพิกถอนสมาชิกภาพ และโทษปรับทางปกครอง) โดยการลงโทษจะพิจารณาเป็นลำดับชั้น
แต่ร่าง พ.ร.บ.ของ สปช.นั้น ให้คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีประชาชนได้รับความเสียหายจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน ซึ่งกรณีนี้ เธอมองเป็นความสับสนว่า สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติดูแลทั้งหมดหรือดูแลเฉพาะส่วน ทั้งนี้ คณะกรรมการจริยธรรมมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนทั่วไป
“ร่าง พ.ร.บ.ของศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ระบุ ถ้าบุคคลใดไม่พอใจคำวินิจฉัยขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชนให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน และแจ้งผลผู้ร้องเรียนทราบ โดยคณะกรรมการจริยธรรมจะไม่รับพิจารณากรณีเรื่องร้องเรียนไปถึงศาลปกครองแล้ว” เธอกล่าว
ปธ.ศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ยังระบุถึงมาตรฐานคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพว่า ถูกบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับ สปช. หมวดพิเศษ โดยผู้ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติภายใน 90 วัน หากผู้ถูกร้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ให้สภาฯ ส่งเรื่องไปยังองค์กรสื่อ หากผู้ถูกร้องเป็นองค์กรสื่อมวลชน ให้สภาฯ ส่งเรื่องไปยังองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน และหากผู้ประกอบวิชาชีพกับองค์กรสื่อมวลชนถูกร้องพร้อมกัน ให้สภาฯ ส่งเรื่องให้องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน และพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 30 วัน สามารถขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน
สำหรับหลักเกณฑ์จริยธรรม หากองค์กรใดใช้มาตรฐานต่ำกว่ามาตรการกลาง ให้ใช้มาตรฐานกลางในการพิจารณา ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิฉัย มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนภายใน 30 วัน และต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิคู่กรณีในการใช้สิทธิทางศาล
สุวรรณา อธิบายในส่วนร่าง พ.ร.บ.ฉบับศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ว่า กรณีข้างต้นเรามุ่งเน้นให้เกิดการกำกับดูแลตนเองและกันเองมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงรับพิจารณาเฉพาะเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ และไม่เห็นด้วยเท่านั้น แต่กรณีนี้ เห็นว่า สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติกำลังสร้างช่องทางขนาดใหญ่ หากวันหนึ่งกระทบคนทั้งภูมิภาค มีการร้องเรียนเกิดขึ้น 100 เรื่อง มาถึงสภาฯ ตั้งคำถามว่า สภาฯ จะรับภาระมากเกินไปหรือไม่
ดีที่สุดไม่ต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเเห่งชาติ
จากสาระสำคัญเปรียบเทียบบางประเด็นของร่าง พ.ร.บ.ที่มุ่งกำกับดูแลจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพของสื่อมวลชน ‘จักรกฤษ เพิ่มพูล’ อดีตประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ย้อนเล่าถึงฐานคิดในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า คนที่คิดจะร่างกฎหมายนี้มุ่งตรงให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อกำกับคุมสื่อมวลชนทั้งระบบ เดิมคิดว่ามีอำนาจเต็มเหนือองค์กรวิชาชีพปัจจุบัน แต่มีข้อโต้แย้งและข้อถกเถียงกัน ทำให้รูปแบบออกมาเช่นนี้ นอกจากนี้ ถ้าดูออกแบบกฎหมายฉบับนี้ จะเห็นว่ามีความสับสนมาก จับต้นชนปลายไม่ถูก
ด้วยกรอบแนวคิดมาจากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีลักษณะตัดแปะส่วนหนึ่ง ฉะนั้นในรายละเอียดแทบต้องรื้อกฎหมายเขียนใหม่ทั้งหมด เพราะโครงสร้างกฎหมายไม่ถูกต้อง
แต่ให้ดีที่สุด คือ ไม่ต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้ในมาตรา 49 ฉะนั้น คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ส่วนโครงสร้างของการร่างกฎหมาย อดีตประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจากธง คือ การมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ทำให้ทุกอย่างมุ่งตรงไปที่การจัดตั้ง โดยละเลยฐานรากที่เป็นองค์กรวิชาชีพที่มีอยู่ปัจจุบัน แต่กระโดดไปที่นั้น ค่อนข้างข้ามขั้นตอน ดังนั้น องค์กรหรือสภาวิชาชีพที่จะมีต้องเป็นกลไกเสริม ไม่ใช่กลไกหลัก และต้องไม่ควบคุมบังคับ โดยเฉพาะจริยธรรมต้องเริ่มต้นที่องค์กรวิชาชีพที่มีอยู่
อีกส่วนหนึ่ง คือ องค์กรวิชาชีพที่มีอยู่ โดยร่างกฎหมายของศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ตามขั้นตอน ต้องศึกษารายละเอียดก่อนว่า ในฐานะเป็นด่านแรก ต้องสร้างความเข้มแข็งก่อน โดยอาจต้องปฏิรูปโครงสร้างองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก่อนก้าวกระโดดไปที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ท้ายที่สุด สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติไม่ใช่แก้วสารพัดนึก ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ตรงกันข้ามหากผลักดันต่อไปอาจสร้างความยุ่งยากกว่าเดิมได้
กม.กำหนดบทลงโทษ ขัดหลักปฏิรูปสื่อที่คิดไว้
เช่นเดียวกับ ‘ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี’ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลไทยรัฐ และอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการมีกฎหมายจัดตั้งองค์การวิชาชีพตั้งแต่ต้น และได้ต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2540 และภาวนาให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป ด้วยหลักคิดผิดมาตั้งแต่ต้นว่า การกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสังคม และผู้บริโภคด้วยมีความเข้มแข็งหรือไม่ เพราะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไม่เคยมีลักษณะนี้ เนื่องจากผู้บริโภคเข้มแข็งและมีกฎหมายมากมายที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแล้ว
เมื่อปฏิเสธไม่ได้ มาถึงขั้นนี้และเปรียบเทียบร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ พบว่า ฉบับศูนย์ศึกษากฎหมายฯ สอดล้องกับแนวคิดมากกว่าการเข้ามาควบคุม อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นร่างไหนก็ตาม กระบวนการที่มาองค์ประกอบการสรรหา หรืออะไรต่าง ๆ มองเห็นความยุ่งยาก สับสน ขัดแย้ง ที่รออยู่ข้างหน้า เพราะเห็นตัวอย่างก่อนหน้านี้หลายเรื่อง
“สิ่งที่สำคัญ ถ้าจะยอมรับได้กับการที่มีกฎหมายดังกล่าว จะต้องเป็นไปในลักษณะส่งเสริม หากเปิดให้มีการลงโทษสื่อมวลชน เป็นการกระทำที่ขัดต่อการปฏิรูปสื่อคิดไว้ เพราะส่วนนี้จะเปิดช่องให้มีการแทรกแซงการทำหน้าที่สื่อมวลชนในอนาคต ต่อไปทำข่าวเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชัน ก็จะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทุกวัน
ในที่สุดมีการนำคนเข้ามาในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีการแทรกแซงทุกรูปแบบ กังวลจะเป็นปัญหาต่อไป ดังนั้น องค์กรสื่อมวลชนวันนี้ต้องหันกลับมาทบทวนตนเองด้วย เพื่อให้มีกระบวนการกำกับดูแลเกิดประสิทธิภาพเพียงพอ” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลไทยรัฐ กล่าวทิ้งท้าย
เชื่ออีก 5 ปี การเมืองไทยยังวุ่น เเนะนำบริบทพิจารณาร่วม
ด้านผู้บริหารเครือเนชั่นอย่าง ‘เทพชัย หย่อง’ สวมหมวกอีกใบหนึ่งเป็นนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ให้น้ำหนักบทบาทสื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองชัดเจนมากกว่าฉบับ สปช. และหากใครศึกษาข้อเสนอองค์กรสื่อมวลชนผ่านคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปมีหลักการตรงกัน คือ การแบ่งลำดับชั้นกำกับดูแล 3 ส่วน ถือเป็นหัวใจการปฏิรูปคนทำสื่อมีบทบาทในการกำกับดูแลกันเอง
โดยลำดับขั้นให้องค์กรสื่อมวลชนกำกับดูแลกันเอง ถ้าทุกคนจริงจังกับขั้นตอนนี้ ตั้งคณะกรรมการจริยธรรม มีกฎกติกา แนวทางการพิจารณาข้อร้องเรียน มีบทลงโทษชัดเจน หากทำได้ ขั้นตอนอื่นก็ไม่จำเป็น ซึ่งช่วยให้สื่อมวลชนสนใจในบทบาทดูแลกันเองมากขึ้น
นายกสมาคมนักข่าววิทยุฯ ยังตั้งคำถามว่า หนังสือพิมพ์ควรถูกครอบคลุมด้วยกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ เพราะมีตัวอย่างและประวัติศาสตร์ที่ควรพิจารณาด้วย อันดับแรก ความผิดพลาดของสิ่งพิมพ์ที่ผ่านมาในแง่จริยธรรม ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นต้องมีกติกาใหม่มากำกับ หากชั่งน้ำหนักระหว่างความดีงามที่ได้ปฏิบัติ ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย สร้างกระแสมีส่วนร่วมยามวิกฤติ ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่าสื่อประเภทอื่น
“จากนี้ไปอีก 5-6 ปี ข้างหน้า การเมืองไทยคงไม่เข้าสู่ภาวะปกติ เพราะฉะนั้นบทบาทสื่อมวลชนกับประเทศไทยจึงมีความสำคัญมาก เรื่องเสรีภาพการตรวจสอบและแสดงความคิดเห็น มองว่ามีความหมายมาก
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ สปช.ให้อำนาจกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ยังผ่อนปรนระดับหนึ่ง ให้น้ำหนักกำกับดูแลกันเองได้ สิ่งเหล่านี้คือความแตกต่าง”
เทพชัย จึงเสนอให้พิจารณาบริบทของการเมืองในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะมีความสำคัญสามารถตัดสินอนาคตของไทย และเชื่อว่า สื่อมวลชนจะมีบทบาทสำคัญในการรายงานข่าวสาร แสดงความคิดเห็น ตรวจสอบ ถ้ายังทำไม่ได้ มีกลไกเข้ามาปิดกั้น กังวลว่า แทนที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพจะกลายเป็นเครื่องมือให้กับผู้มีอำนาจ
การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ถือเป็นนัดเริ่มต้นเท่านั้น ยังเหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 9 และ 16 กันยายน 2558 ก่อนที่คณะทำงานร่าง พ.ร.บ.ชุดนี้จะนำข้อคิดเห็นและเสนอแนะทั้งหมดกลับไปพิจารณา ปรับปรุง แก้ไขใหม่อีกครั้ง เพื่อพร้อมสำหรับการนำไปใช้ต่อไป
แต่อย่างน้อย เวลานี้ต้องลุ้นว่า ร่าง รธน.จะถูกคว่ำหรือไม่!!!
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ rockwool