พลิกปูม“บิ๊กนักการเมือง”หนีคดีศาลฎีกาฯก่อน“เลขาฯบุญทรง”ตัวเอกข้าวจีทูจี
ย้อนรอย 3 บิ๊กนักการเมือง หนีคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนมีคำพิพากษา "ทักษิณ" คดีที่ดินรัชดาฯ "วัฒนา" คดีคลองด่าน “ประชา” คดีจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง ล่าสุด “หมอโด่ง” คดีระบายข้าวจีทูจียุค “ยิ่งลักษณ์”
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวนหลายรายที่ “หลบหนี” เมื่อต้อง “คดีอาญา” ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ล่าสุด คือ “หมอโด่ง” หรือ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีเป็นหนึ่งในจำเลย คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ไม่จริง และส่อว่าเกิดการทุจริตเกิดขึ้น
ซึ่งหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นองค์กรตรวจสอบภาครัฐ (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมถึงนักการเมืองที่เป็นคนเปิดโปงเรื่อง (นพ.วรงค์ เดชวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์) เป็นต้น)
ต่างวิเคราะห์ตรงกันว่า “หมอโด่ง” คือ “ตัวละครสำคัญ” ในคดีระบายข้าวจีทูจีนี้ !
แต่ถ้าใครยังไม่ลืม ก่อนหน้านี้มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายราย เมื่อคดีความเข้าสู่ในชั้นการไต่สวนของศาลฎีกาฯ มัก “หลบหนี” ไปก่อนที่ศาลฎีกาฯ จะพิพากษาให้ถึงที่สุด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมมาให้เห็นกัน ดังนี้
นายทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกฯ)
คดีความของนายทักษิณ ที่ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว มีอย่างน้อย 2 คดี และอยู่ระหว่างไต่สวน 1 คดี ซึ่งใน 2 คดีที่ศาลฎีกาฯพิพากษาแล้ว มีเพียงคดีเดียวที่นายทักษิณมาตามนัดการไต่สวน แต่หลบหนีออกนอกประเทศก่อนมีคำพิพากษา ได้แก่
คดีซื้อที่ดินรัชดาภิเษก เกิดขึ้นในช่วงปี 2550-2551 คดีนี้อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) และคุณพจมาน ชินวัตร (สกุลขณะนั้น) เป็นจำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่น ผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา
เนื่องจากคุณหญิงพจมานประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2551 พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางมารายงานตัวต่อศาลฎีกาฯ ซึ่งขณะนั้นทีมทนายความ นำโดย นายพิชิต ชื่นบาน นำ “ถุงขนม” ใส่เงินจำนวน 2 ล้านบาท ไปให้เจ้าหน้าที่ในศาลฎีกาฯ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับ จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และมีการแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งศาลฎีกาฯ แจ้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลแก่ทีมทนาย และมีคำสั่งจำคุกทีมทนาย 6 เดือน (พ้นโทษเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2551)
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551 พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อศาลฎีกาฯ แต่เดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ศาลฎีกาฯ จึงออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ (อายุความ 15 ปี ถึงวันที่ 12 ส.ค. 2566) และคุณหญิงพจมาน (ปัจจุบันไม่มีอายุความ เนื่องจากศาลฎีกาฯพิพากษายกในส่วนของคุณหญิงพจมาน)
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 ศาลฎีกาฯพิพากษาคดีดังกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 100 (1) วรรคสาม และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
สำหรับคดีนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “ทักษิณ” ไม่กลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในไทย
และศาลฎีกาฯ ต้องออกหมายจับ “ทักษิณ” อีกอย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษฎามหานคร เสียหายกว่าหมื่นล้านบาท ที่ล่าสุดศาลฎีกาฯให้จำหน่ายคดีเฉพาะ “ทักษิณ” ออกจากสารบบไว้ชั่วคราวก่อน และคดี “เอ็กซิมแบงก์” หรือปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลพม่าจำนวน 4 พันล้านบาท ในการพัฒนาโครงการโทรคมนาคมของพม่า
นายวัฒนา อัศวเหม (อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย)
กรณีนี้เกิดจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการระบบบำบัดน้ำเสียรวมแห่งแรกของไทย ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มูลค่าก่อสร้างกว่า 23,700 ล้านบาท ตั้งอยู่พื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ขณะนั้น ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้ลงนามสัญญากับผู้รับเหมาในปี 2540 แต่ชาวบ้านในพื้นที่เพิ่งรู้เมื่อปี 2542 จึงมีการเคลื่อนไหวคัดค้าน ก่อนที่จะมีการร้องเรียนปัญหาต่อ ป.ป.ช.
ต่อมาเมื่อปี 2550 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายวัฒนา ฐานใช้อำนาจหน้าที่ขณะเป็น รมช.มหาดไทย บังคับข่มขืนใจ หรือจูงใจราษฎรขายที่ดินให้ และบีบบังคับเจ้าหน้าที่ที่ดินออกโฉนดจำนวน 17 แปลง 1,900 ไร่ เพื่อขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ โดยที่ดินดังกล่าวเป็นป่าชายเลนและที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนห้าม ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 33 และ 84 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 2
เม.ย. 2551 ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งสุดท้าย นายวัฒนา เดินทางมาร่วมการพิจารณาคดีครั้งแรก หลังขอเลื่อนการเข้าไต่สวนมา 4 ครั้ง โดยอ้างว่าป่วย มีอาการสับสนเฉียบพลัน หลงลืม สูญเสียความทรงจำชั่วคราว เนื่องจากอาคารโรคเส้นเลือดอุดตันที่ก้านสมอง
พ.ค. 2551 นายวัฒนา เบิกความต่อศาลยืนยันความบริสุทธิ์ หากทำผิดจริงให้ลงโทษประหารชีวิต และยืนยันด้วยว่า ในวันพิพากษาจะมาฟังแน่นอน ไม่หลบหนีเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด
อย่างไรก็ดี 9 ก.ค. 2551 นายวัฒนา กลับไม่มารับฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาฯแต่อย่างใด ศาลจึงได้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษา
18 ส.ค. 2551 ศาลฎีกาฯ มีมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่า นายวัฒนา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ให้ลงโทษจำคุก 10 ปี และริบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทอง ของกลาง และได้ออกหมายจับ อายุความ 15 ปี นับแต่วันที่หลบหนี
นายประชา มาลีนนท์ (อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย)
กรณีนี้เกิดจากการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร มูลค่ากว่า 6.6 พันล้านบาท โดยมิชอบ
มีผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายประชา อดีต รมช.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.
กรณีนี้ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า การกระทำของนายโภคิน นายประชา นายวัฒนา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ กระทำการไม่ให้โอกาสผู้อื่นเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เป็นเหตุให้บริษัท สไตเออร์ฯ ได้เข้าร่วมโครงการจัดซื้อรถดับเพลิง หลีกเลี่ยงการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ตามกฎหมาย ส่วนนายอภิรักษ์ ดำเนินการเปิดแอลซี และแก้ไขแอลซีให้กับบริษัท สไตเออร์ฯ และแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาอื่นอีกหลายรายการ ทำให้บริษัท สไตเออร์ฯ ได้รับประโยชน์จากการเปิดแอลซี ซึ่งผลของการเปิดแอลซีดังกล่าว ทำให้ กทม. ต้องจ่ายงบประมาณจำนวนกว่า 2.3 พันล้านบาท โดยไม่ได้สินค้าตามวัตถุประสงค์
ก่อนที่ศาลฎีกาฯ มีมติเสียงข้างมากพิพากษาว่า นายประชา มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และผิดตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 13, 12 ส่วน พล.ต.ต.อธิลักษณ์ มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 12
ทั้งศาลฎีกาฯเห็นว่า การกระทำเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ฮั้ว ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกนายประชา 12 ปี และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ 10 ปี ขณะเดียวกันศาลฎีกาฯ มีมติเสียงข้างมาก ยกฟ้อง นายโภคิน นายวัฒนา และนายอภิรักษ์
สำหรับนายประชา ก่อนหน้านี้เคยไม่เดินทางมาศาลฎีกาฯเพื่อรับฟังคำพิพากษาแล้วครั้งหนึ่ง ทำให้ศาลต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษามาหนึ่งเดือน และครั้งนี้ไม่มาอีก จึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง และให้ออกหมายจับนำตัวมารับโทษดังกล่าว
ทั้งหมดคือรายชื่อของ “บิ๊กนักการเมือง” ทั้ง 3 ราย ที่ “หลบหนี” ไม่ฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ส่งผลถูกออกหมายจับอยู่ในขณะนี้
ขณะที่ปัจจุบันมีคดีใหญ่ที่มี “บิ๊กนักการเมือง” เป็นจำเลยที่ศาลฎีกาฯกำลังไต่สวนอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่
1.คดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2551 (ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.)
2.คดีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว (อสส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ)
3.คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ (อสส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขาฯนายบุญทรง กับพวกรวม 21 ราย ล่าสุด ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเพิ่มเติมอีก 15 ราย)
โดยเฉพาะคดีระบายข้าวจีทูจี มีจำเลยหลบหนีไปแล้ว 1 ราย ได้แก่ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ซึ่งเป็น “ตัวละครสำคัญ” ในคดีนี้ และศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับเรียบร้อย
ดังนั้นต่อไปนี้ต้องติดตามสามคดีดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด ว่าจะเกิดเหตุการณ์ “ซ้ำรอย” เหมือนกับ “บิ๊กนักการเมือง” ทั้ง 3 รายข้างต้นหรือไม่ ?
อ่านประกอบ :
พลิกปูม“วีระวุฒิ”จิ๊กซอว์สำคัญ! คดีข้าวจีทูจี ก่อนถูกศาลฎีกาฯออกหมายจับ
ป.ป.ช.เชือดล็อตแรกคดีข้าวจีทูจี"บุญทรง-ภูมิ"ไม่รอด-ฟ้องแพ่ง 6 แสนล้าน
ป.ป.ช.ฟันลอตสอง!15 เอกชนพันคดีข้าวจีทูจี-บ.เจียเม้งตัวละครข้าวถุงโดนด้วย
ดูชัด ๆ ป.ป.ช.ปอกเปลือกคดีจีทูจีเก๊เชือดยกเข่ง“บุญทรง-บิ๊กขรก.-เสี่ยเปี๋ยง”
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายทักษิณ จาก bkk1.in.th, ภาพนายวัฒนา-นายประชา จาก ASTVmanager, ภาพ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ จาก google