เปิดคำร้อง'อัยการ'รับลูกครม.-รมว.ยุติธรรม แก้ต่างคดี 'สมชาย-พวก' สลาย พธม.
"...อัยการสูงสุด ได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการพิจารณาฝ่ายคดีอาญา 1 (กองแก้ต่าง) พิจารณารับแก้ต่างในคดีนี้ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินคดีให้แก่โจทก์ (ป.ป.ช.) เพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนครบถ้วนและเป็นการใช้ดุลพินิจในการควบคุมสถานการณ์ที่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งหรือกระทำโดยผลประโยชน์อื่นใดอันจะเป็นความผิดต่อกฎหมาย.."
ยังคงเป็นประเด็นที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ความสำคัญ ติดตามตรวจสอบและนำข้อมูลข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกรณีจำเลย ทั้ง 4 ราย ในคดีถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสลายการชุมนุม ปี 2551 ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นผู้ฟ้องคดี ประกอบไปด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ทำเรื่องขอแต่งตั้งพนักงานอัยการให้เข้าไปเป็นทนายความแก้ต่างคดีให้
แต่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาลงมติเสียงส่วนใหญ่ 8 ต่อ 1 เสียง ไม่อนุญาต เพราะเห็นว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ได้
ขณะที่มีการยืนยันข้อมูลว่า ภายหลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาล ว่า มีบุคคลๆ หนึ่ง ได้ทำหนังสือไปถึง อสส. เพื่อให้ตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความแก้ต่างคดีนี้ให้ เพราะมั่นใจในฝีมือ และได้พยายามผลักดันให้มีการตั้งเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.เป็นทางการเพื่อแจ้งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ให้แต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาทำคดีนี้ให้
ทั้งที่ คณะทำงานอัยการชุดใหญ่ มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมครั้งที่สอง เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมยังยืนยันความเห็นเดิม คือ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่เหมาะสมหลายประการ
แต่สุดท้ายก็ยังมีการปรากฎชื่อพนักงานอัยการ เข้าไปช่วยทำหน้าที่เป็นทนายความแก่ต่างคดีให้จำเลยทั้งสี่?
(อ่านประกอบ : เปิดแผนภูมิ "ปฏิบัติการลับ" บีบ อสส.ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.?)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ปรากฎชื่อเป็น "ทนาย" แก้ต่างคดีให้กับจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ คือ "นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม"
จากการตรวจสอบคำร้อง ของ "นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม" ที่ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2558
มีการระบุว่า "คดีนี้ จำเลยทั้งสี่ ได้มีหนังสือขอให้อัยการสูงสุดพิจารณารับแก้ต่างให้แก่จำเลยทั้งสี่ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ยธ 02007/4245 ลงวันที่ 4 ก.ค.2558 เรื่อง การให้พนักงานอัยการเป็นผู้แก้ต่างคดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กราบเรียนอัยการสูงสุดว่า ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2558 คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า ที่ผ่านมาปรากฎว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องคดีอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ โดยไม่ใช่พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดี"
"ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ กรณีดังกล่าวเห็นควรประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดให้พนักงานอัยการพิจารณารับแก้ต่าง จึงขอประสานแจ้งมติ ครม. ดังกล่าว ให้พนักงานอัยการพิจารณา รับแก้ต่างให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีดังกล่าว"
"อัยการสูงสุด ได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการพิจารณาฝ่ายคดีอาญา 1 (กองแก้ต่าง) พิจารณารับแก้ต่างในคดีนี้ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินคดีให้แก่โจทก์ (ป.ป.ช.) เพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนครบถ้วน และเป็นการใช้ดุลพินิจในการควบคุมสถานการณ์ที่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งหรือกระทำโดยผลประโยชน์อื่นใดอันจะเป็นความผิดต่อกฎหมาย จึงมีคำสั่งรับแก้ต่างให้แก่จำเลยทั้งสี่"
"ซึ่งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เห็นด้วย อันเป็นเหตุให้การพิจารณารับแก้ต่างล่าช้า จึงได้แต่งทนายความและยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยทั้งสี่มาพร้อมคำแถลงฉบับนี้ " (ดูคำร้องประกอบ)
ทั้งนี้ คำร้องฉบับนี้ เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.58 ที่ องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกนั่งบัลลังก์ และลงมติด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจเข้าแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ และสั่งให้จำเลยทั้ง 4 แต่งตั้งทนายความใหม่ เข้ามาดำเนินการกระบวนพิจารณาคดีต่อไป
โดยองค์คณะผู้พิพากษา พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 11 บัญญัติว่า "ให้มีพนักงานอัยการไว้เป็นทนายแผ่นดินประจำศาลต่างๆ .." แม้จะมีบทบัญญัติในมาตรา 14 (4) บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ
แต่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดินตามมาตรา 11 มิใช่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อต่อสู้คดีกับแผ่นดินในกรณีที่แผ่นดินโดยองค์กรของรัฐเป็นผู้ฟ้องคดีเสียเอง
ประกอบกับการดำเนินคดีนี้ ศาลจะต้องใช้สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา เมื่อปรากฎจากคำฟ้องว่า อัยการสูงสุดส่งสำนวน รายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องคืนให้แก่โจทก์เพื่อฟ้องคดีเอง แสดงว่าอัยการสูงสุดเห็นควรไม่ฟ้องคดีนี้ให้แก่องค์กรของรัฐแล้วการที่พนักงานอัยการจะเข้าแก้ต่างคดีนี้ให้แก้จำเลยทั้งสี่ จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 (ดูเอกสารแถลงข่าวศาลฯประกอบ)
เบื้องต้น จากคำร้องที่ตรวจสอบพบครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม พนักงานอัยการ ที่รับหน้าที่เป็นทนายความแก้ต่างคดีให้กับจำเลยทั้งสี่ และ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 1 น่าจะเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ ที่จะช่วยไขปริศนาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะการแกะรอยหาเบาะแส "ผู้อยู่เบื้องหลัง" ที่ทำให้สำนักงานอัยการสูงสุด ต้องแต่งตั้งพนักงานอัยการเข้าไปช่วยเป็นทนายว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้
ทั้งที่ ที่ประชุมคณะทำงานอัยการชุดใหญ่ ได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมถึง 2 ครั้ง (ทั้งในช่วงก่อนและหลังมีมติครม.ออกมา) และเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมทั้งสองครั้ง ยืนยันความเห็นตรงกันว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่เหมาะสมหลายประการ?
อ่านประกอบ :
ศาลฎีกามติ 8 ต่อ 1ห้ามตั้งอัยการแก้ต่างให้"สมชาย-พวก"คดีสลาย พธม.
เบื้องหลัง! ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.ครม."บิ๊กตู่" จัดให้
ป.ป.ช.ยันศาลฎีกาฯทำถูกไม่ให้อัยการแก้ต่าง“สมชาย-พวก”คดีสลาย พธม.
แกะรอย'มือมืด'ชง ครม. สั่งอัยการแก้ต่างช่วย 'สมชาย-พวก'คดีสลาย พธม.?