- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดแผนภูมิ "ปฏิบัติการลับ" บีบ อสส.ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.?
เปิดแผนภูมิ "ปฏิบัติการลับ" บีบ อสส.ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.?
"...มีกระแสข่าวว่าภายหลังจากที่ผลการประชุมคณะทำงานอัยการชุดใหญ่ครั้งที่สอง ออกมาว่าอัยการไม่สามารถรับเป็นทนายแก้ต่างคดีนี้ให้ได้ มีข้าราชการระดับสูงรายหนึ่งในสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ไปขอพบกับ อัยการสูงสุด (อสส.) นอกรอบ เพื่อขอให้เห็นชอบการแต่งตั้งพนักงานอัยการ ไปช่วยว่าความในขณะนี้ให้อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีรายหนึ่งได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ไปพบ เพื่อช่วยเจรจาให้แต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาช่วยว่าความในคดีนี้ด้วยอีกทางหนึ่ง.."
ยังเป็นคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ ว่า ทำไม "พนักงานอัยการ" ถึงถูกแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าเป็นทนายความแก้ต่างคดีให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ในคดีถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสลายการชุมนุม ปี 2551 ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นผู้ฟ้องคดี?
หลังองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีความที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 ราย ในฐานะจำเลย กรณีคดีกล่าวหาการสั่งสลายการชุมนุมปี 2551 เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา
และมีคำสั่งให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 ราย แต่งตั้งทนายความใหม่เข้ามาดำเนินการกระบวนการพิจารณาคดีแทนพนักงานอัยการที่ถูกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างในคดีให้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาเห็นว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่
ทั้งนี้ เพื่อสาธารณชนได้เห็นภาพข้อเท็จจริงเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น สำนักข่าว อิศรา www.isranews.org ได้จัดทำแผนภูมิประมวลข้อเท็จจริงเรื่องนี้มานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้
1. คดีนี้ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 295 และ 302 กรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน กระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 ราย
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ ป.ป.ช. ส่งสำนวนการไต่สวนคดีไปให้ทางอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณายื่นฟ้องคดีให้ แต่ฝ่ายอัยการเห็นว่าสำนวนคดียังมีความไม่สมบูรณ์ทำให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายขึ้นมาพิจารณาสำนวนคดีตามขั้นตอนกฎหมาย แต่สุดท้ายหาข้อยุติไม่ได้ ทำให้ ป.ป.ช. ต้องยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาลเอง
2. มีการยืนยันข้อมูลว่า ภายหลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาล มีบุคคลๆ หนึ่ง ได้ทำหนังสือไปถึง อสส. เพื่อให้ตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความแก้ต่างคดีนี้ให้ เพราะมั่นใจในฝีมือ (และประหยัดค่าใช้จ่าย)
เบื้องต้น อสส.ได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานชุดใหญ่พิจารณา ปรากฎว่า คณะทำงานเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่เหมาะสมหลายประการ (แต่มีความเห็นของพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาที่เป็นเสียงส่วนน้อย ที่อยากรับทำคดีให้)
3. หลังจากที่ประชุมคณะทำงานอัยการชุดใหญ่มีมติไม่สามารถรับว่าความเป็นทนายแก้ต่างในคดีได้ "บุคคลคนเดียวกัน" ได้พยายามผลักดันให้มีการตั้งเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.เป็นทางการ (คาดว่าวาระการพิจารณาเรื่องนี้น่าจะถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมเป็นวาระจร ไม่มีเอกสารประกอบ )
เบื้องต้น ครม.พิจารณาแล้วมีความเห็น 2 ข้อ คือ
(1.) ปัจจุบันพนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการรับแก้ต่างในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือคดีอาญา ให้แก่ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 และมติครม. (12 ธ.ค.2549) อยู่แล้ว แต่พนักงานอัยการจะไม่รับแก้ต่างให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ซึ่งถูกหน่วยงานของรัฐ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องคดีในกรณีที่พนักงานอัยการรับดำเนินการฟ้องคดีแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
(2.) ที่ผ่านมาปรากฎว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการโดยไม่ใช่พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดี เช่น กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเอง เพราะพนักงานอัยการมีความเห็นไม่ควรฟ้อง เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องว่า จ้างทนายความในการแก้ต่างคดีด้วยตนเอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปฏิบัติตามหน้าที่ทางราชการย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อยู่แล้ว
ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการในกรณีดังกล่าว เห็นควรประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดให้พนักงานอัยการพิจารณารับแก้ต่างให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีข้อ 1 และข้อ 2 ด้วย
ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบในหลักการและมอบให้รองนายกรัฐมนตรี (วิษณุ เครืองาม) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับความเห็นของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป
4. ภายหลังรับทราบมติ ครม. ดังกล่าว คณะทำงานอัยการชุดใหญ่ มีการนำเสนอเข้าหารือในที่ประชุมครั้งที่สอง
เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมยังยืนยันความเห็นเดิม คือ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่เหมาะสมหลายประการ
5. มีกระแสข่าวว่าภายหลังจากที่ผลการประชุมคณะทำงานอัยการชุดใหญ่ครั้งที่สอง ออกมาว่าอัยการไม่สามารถรับเป็นทนายแก้ต่างคดีนี้ให้ได้
มีข้าราชการระดับสูงรายหนึ่งในสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ไปขอพบกับ อัยการสูงสุด (อสส.) นอกรอบ เพื่อขอให้เห็นชอบการแต่งตั้งพนักงานอัยการไปช่วยว่าความในขณะนี้ให้อีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีรายหนึ่งได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ไปพบ เพื่อช่วยเจรจาให้แต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาช่วยว่าความในคดีนี้ด้วยอีกทางหนึ่ง
6. เมื่อวันที่ 18 ส.ค.58 ที่ผ่านมา องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีความที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 ราย ในฐานะจำเลย กรณีคดีกล่าวหาการสั่งสลายการชุมนุมปี 2551
แต่การออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีความครั้งนี้ ยังไม่มีการพิจารณาคดีอะไรเกิดขึ้น เนื่องจากฝ่ายจำเลย ได้ยื่นขอแต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาทำหน้าที่ทนายแก้ต่างในคดีให้ ซึ่งองค์คณะผู้พิจารณาเห็นว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ พร้อมสั่งการให้จำเลยทั้ง 4 แต่งตั้งทนายความคนใหม่ เข้ามาดำเนินการกระบวนพิจารณาคดีต่อไป
โดยองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 11 บัญญัติว่า "ให้มีพนักงานอัยการไว้เป็นทนายแผ่นดินประจำศาลต่างๆ .." แม้จะมีบทบัญญัติในมาตรา 14 (4) บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ
แต่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดินตามมาตรา 11 มิใช่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อต่อสู้คดีกับแผ่นดินในกรณีที่แผ่นดินโดยองค์กรของรัฐเป็นผู้ฟ้องคดีเสียเอง
ประกอบกับการดำเนินคดีนี้ ศาลจะต้องใช้สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา เมื่อปรากฎจากคำฟ้องว่า อัยการสูงสุดส่งสำนวน รายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องคืนให้แก่โจทก์เพื่อฟ้องคดีเอง แสดงว่าอัยการสูงสุดเห็นควรไม่ฟ้องคดีนี้ให้แก่องค์กรของรัฐแล้วการที่พนักงานอัยการจะเข้าแก้ต่างคดีนี้ให้แก้จำเลยทั้งสี่ จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542
องค์คณะจึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจเข้าแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ และสั่งให้จำเลยทั้ง 4 แต่งตั้งทนายความใหม่ เข้ามาดำเนินการกระบวนพิจารณาคดีต่อไป
7. ภายหลังจากที่องค์คณะผู้พิพากษามีความเห็นทางกฎหมายดังกล่าวออกมาเป็นทางการ สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อไปยังตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะการตามหา "บุคคลคนนั้น" ที่อยู่เบื้องหลังการประสานงานอัยการเพื่อขอให้แต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาช่วยแก้ต่างคดีให้จำเลยทั้งสี่ และการผลักดันให้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. เพื่อออกเป็นมติครม. เป็นทางการ ให้สำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติตาม
แต่สิ่งที่ได้รับตอบกลับมาจากตัวแทนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเหมือนกัน คือ "ยังไม่สะดวก" "ขอไปตรวจสอบข้อมูลก่อน" "ยังไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้" ?
(ดูแผนภูมิประกอบ)
หมายเหตุ : หมายเลข 1, หมายเลข 2, หมายเลข 3 ดูเนื้อหาด้านบนประกอบ
อ่านประกอบ :
ศาลฎีกามติ 8 ต่อ 1ห้ามตั้งอัยการแก้ต่างให้"สมชาย-พวก"คดีสลาย พธม.
เบื้องหลัง! ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.ครม."บิ๊กตู่" จัดให้
ป.ป.ช.ยันศาลฎีกาฯทำถูกไม่ให้อัยการแก้ต่าง“สมชาย-พวก”คดีสลาย พธม.
แกะรอย'มือมืด'ชง ครม. สั่งอัยการแก้ต่างช่วย 'สมชาย-พวก'คดีสลาย พธม.?