ข้อมูล"ศิธา"เป็นเรื่อง! ปธ.อีสท์วอเตอร์ สั่งสอบปม "ไอ้โม่ง" รีดเงินเอกชน 30 ล.
ข้อมูล "ศิธา"ซัดเอกชนถูกรีดเงิน 30 ล้าน เป็นเรื่อง! ปธ.อีสท์วอเตอร์ รับลูกสั่งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงแล้ว ยันเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยึดมั่นดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล
จากกรณี น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตประธานกรรมการบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ออกมายืนยันว่า การจัดทำสัญญาซื้อขายน้ำระหว่างอีสท์วอเตอร์ และ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปีเต็ม มูลค่า 5 พันล้านบาท ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
แต่สาเหตุที่ทำให้เรื่องนี้เป็นข่าวขึ้นมา เพราะมีบุคคลคนหนึ่ง พยายามเข้าไปรีดไถ่เงินจากเอกชนประมาณ 30 ล้าน แต่เอกชนไม่ยอมให้ เลยหยิบเรื่องนี้มาเล่นงาน นั้น
(อ่านประกอบ : "ศิธา" ซัดถูก "ไอ้โม่ง" รีดเงิน 30ล.เล่นงาน! แจงสัญญาน้ำอีสท์วอเตอร์ 5 พันล.โปร่งใส)
ล่าสุด อีสท์วอเตอร์ ได้ส่งหนังสือชี้แจงข่าวประชาสัมพันธ์มาให้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รับทราบ โดยระบุว่า เกี่ยวกับประเด็นเงิน 30 ล้านบาท นั้น นายวิทยา ฉายสุวรรณ ประธานอีสท์วอเตอร์คนปัจจุบัน ยืนยันว่า อีสท์วอเตอร์ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากล และยึดมั่นการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล และการกำกับดูแลกิจการที่ดีสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น ในประเด็นดังกล่าวได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วต่อไป
สำหรับการทำสัญญาซื้อขายน้ำดิบของอีสท์วอเตอร์ กับบ่อดินเอกชน นั้น อีสท์วอเตอร์ ระบุว่า จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญในภาคตะวันออก มีการขยายตัวของแหล่งชุมชนในทุกๆ ด้าน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ชลบุรีมีความต้องการใช้น้ำถึง 84 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ในขณะที่มีแหล่งน้ำหลัก ๆ อยู่เพียงไม่กี่แหล่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้า บางพระ และอ่างเก็บน้าหนองค้อ เป็นต้น
"จากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา จังหวัดชลบุรี ต้องอาศัยการส่งน้ำมาจากแหล่งน้ำระยอง เฉลี่ยปีละ 40 ล้าน ลบ.ม. ผ่านทางระบบท่อเชื่อมโยง (Water Grid) ของบริษัท อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำในอนาคตอีก 10 ปี ข้างหน้า (พ.ศ.2568) ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ชลบุรีแหลมฉบัง และพัทยาจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ถึง 106 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกันปริมาณน้ำที่จะสามารถผัน จากอ่างฯหนองปลาไหลในอนาคตจะมีปริมาณลดลงเนื่องจากความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ระยองเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ไม่สามารถส่งมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ชลบุรีได้เพียงพอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมสำหรับชลบุรีอีกไม่น้อยกว่า 40 ล้าน ลบ.ม. จึงจะมีน้ำดิบเพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรมและการผลิตน้ำประปาในอนาคต
"จากตัวเลขปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นข้างต้น ทำให้อีสท์วอเตอร์จำเป็นต้องจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในการบริหารจัดการน้ำให้กับภาคตะวันออก อันเป็นเขตเศรษฐกิจหลักของประเทศโครงการรับซื้อน้ำ จากบ่อน้ำเอกชน จึงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เพื่อเป็นแหล่งน้ำทางเลือกของ บริษัทสำรองไว้ สำหรับกรณีเกิดภัยแล้ง"
"ต่อมาในสมัย คุณศิธา ทิวารี เป็นประธานคณะกรรมการบริษัทฯ ได้สานต่อแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการรับซื้อน้ำ จากบ่อน้ำเอกชนเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์กับบริษัท ซึ่งนอกจากจะช่วยให้บริษัท มีน้ำเข้ามาเสริมในระบบได้ทันที สามารถรับประกันคุณภาพและปริมาณน้ำได้แล้ว ที่สำคัญต้นทุนจากการลงทุนก่อสร้างเองจะสูงกว่า และใช้ระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม ในสมัยคุณศิธา ทิวารี ได้พิจารณาปรับหลักเกณฑ์ในการรับซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชนให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยได้ระบุให้มีค่าปรับในกรณีที่ไม่สามารถส่งน้ำได้ตามข้อตกลงอย่างชัดเจน"
"หากหันกลับมามองสถานการณ์น้ำ ในปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังประสบกับวิกฤติ ภัยแล้งอย่างหนัก แต่ภาคตะวันออกยังคงมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ในขณะที่ปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ชลบุรีเฉลี่ยไม่ถึง 20% ของความจุรวมทั้งหมด เพราะมีการเตรียมแผนสำรองน้ำไว้ในสระพักน้ำของบริษัท ผนวกกับการรับซื้อน้ำ จากบ่อน้ำเอกชนทำให้ภาคตะวันออกรอดพ้นจากภัยแล้งในปีนี้ นั่นเป็นเพราะวิสัยทัศน์ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการบริษัททุกชุดที่ผ่านมา กอร์ปกับการพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกมิติเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย"
"สำหรับ กรณีที่ได้มีการให้คณะกรรมการตรวจสอบพิจารณากลั่นกรองรายละเอียดในสัญญาซื้อขายน้ำดิบจากบ่อน้ำ เอกชน ของ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน คุณวิทยา ฉายสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ ชุดปัจจุบัน ได้ เปิดเผยประเด็นดังกล่าวว่า “ผลการตรวจสอบปรากฏว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการ อย่างโปร่งใส เป็นไป ตามระเบียบขั้นตอนไม่มีปัญหาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามได้เจรจาเพิ่มเติมในข้อสัญญาเพื่อให้ได้ประโยชน์และเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายขึ้น"
"ในประเด็นเรื่องราคาค่าน้ำดิบตลอดสัญญาของโครงการนี้ที่มีมูลค่าเกือบ 5,000 ล้านบาท นั้น ข้อเท็จจริงหลายคนอาจลืมมองในแง่ของการลงทุนที่จะมีทั้งเงินลงทุนและรายรับที่จะเข้ามา ซึ่งจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
ดังกล่าวคาดว่า รายได้จากการขายน้ำเฉพาะในโครงการนี้จะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท"
"โดย คุณวิทยา ฉายสุวรรณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แหล่งน้ำสำรองเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งปัจจุบัน ปริมาณน้ำต้นทุน ของอีสท์วอเตอร์อยู่ที่ 340 ลา้น ลบ.ม.ต่อปีโดยมีแหล่งน้ำหลัก 6แห่ง แหล่งน้ำสำรอง 2 แห่ง อยู่ะรหว่างการก่อสร้างอีก 2 แห่ง ในขณะที่ความต้องใช้น้ำอยู่ที่ 316 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีและในอีก10 ปี ข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 464 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จึงมีนโยบายให้บริษัท ฯ เร่งดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคเอกชนใช้น้้าจากแหล่งน้ำของตัวเองก่อน เพื่อลดภาระการใช้น้ำ จากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน และลดปัญหาการแย่งน้ำกับผู้ใช้น้ำรายอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอุปโภคบริโภค”
(อ่านประกอบ : ปธ.อีสท์วอเตอร์ รับสัญญาซื้อน้ำเอกชน 5 พันล.ผูกขาดจริง! สั่งสอบผลงานบอร์ดเก่าแล้ว)