คำชี้แจง‘การุณ’-ผู้บริหาร กศน. กรณี จัดซื้อ-จ้างพิมพ์ หนังสือ เอื้อบริษัทใหญ่
ชัดๆ การุณ สกุลประดิษฐ์ พร้อมผู้บริหาร กศน.เปิดห้องแจง ‘อิศรา’ ปม ละเมิดลิขสิทธิ์ เอื้อรายใหญ่ ส่อฮั้ว จ้างพิมพ์-จัดซื้อหนังสือแบบเรียนศูนย์การศึกษา ยันกำลังแก้ไข อยู่ระหว่างตรวจสอบ กรณีกลุ่ม บ.เอมพันธ์คว้าลอตโต 19 โครงการ เป็นเรื่องของ สถานศึกษา เข้าไปยุ่งไม่ได้
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบ
1.การจัดซื้อหนังสือแบบเรียนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในช่วงปี 2555-2557 ซึ่งมีบริษัท สำนักพิมพ์เอมพันธ์ เป็นผู้ชนะการประกวดราคา อย่างน้อย 19 โครงการ รวมวงเงินเกือบ 100 ล้านบาท โดยมีเอกชนจำนวน 4 รายซึ่งมีความสัมพันธ์กัยเข้าร่วมประกวดราคาด้วย
2.มีการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เอกชนบางรายได้รับการว่าจ้างพิมพ์จำนวนมาก
3.เอกชนบางรายถูกร้องเรียนว่าละเมิดลิขสิทธิ์แบบเรียนของ กศน.
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 58 เวลา 10.00 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กศน. พร้อมนายกิตติศักดิ์ รัตนฉายา รองเลขาธิการฯ และนายวรวิทย์ สุระโคตร นิติกรชำนาญการพิเศษ ได้เข้าร่วมชี้แจงในกรณีของการจ้างพิมพ์จัดซื้อหนังสือของทาง กศน. ดังนี้
นายการุณ กล่าวว่า เข้ามาดำรงตำแหน่งได้ไม่นานเพียง6เดือน (ประมาณเดือนกันยายน 57) โดยสิ่งแรกที่ทำคือ ห้ามดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และเข้ามาจัดสรรเรื่องของงบประมาณไม่ให้มีการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดหาหนังสือแบบเรียนและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆของหน่วยงานสังกัด โดยให้สถานศึกษาดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535(ที่แก้ไข,เพิ่มเติม) โดยห้ามมิให้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษก่อนการดำเนินการด้วยวิธีอื่นๆ และให้พิจารณาถึงจำนวนหนังสือแบบเรียนและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆที่มีอยู่ว่าพอใช้หรือไม่ หากมีจำนวนมากพอแล้วไม่จำเป็นต้องจัดหาเข้ามาเพิ่มเติมอีก (ดูเอกสาร)
“เราไม่ได้ห้ามให้ใช้วิธีพิเศษแต่การใช้วิธีพิเศษต้องเป็นกรณีที่จำเป็นหรือฉุกเฉิน และต้องให้เหตุผลด้วยว่าเพราะอะไรถึงเลือกใช้วิธีพิเศษ” นายการุณกล่าว
ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนฉายา รองเลขาธิการฯ เผยว่า ทางสำนักงาน กศน.จะมีการเปลี่ยนวิธีการเสนอราคาประกวด จากเดิมใช้วิธียื่นซองเอกสาร(อี-อ๊อกชั่น) โดยจะเปลี่ยนเป็นวิธีการทางอินเทอร์เน็ต(อี-บิดดิ้ง)
“ผู้ขายกับผู้ซื้อจะไม่เจอหน้ากัน เเละผู้ขายก็ไม่รู้ว่าใครขายบ้างเป็นผู้ซื้อ ไม่รู้ว่าใครเสนอขายมาบ้าง จนกว่าถึงวันปิดการเสนอราคา จึงจะรู้ว่ามีใครเสนอมาบ้าง เพราะวิธีอีบิดดิ้งจะต้องยื่นเสนอราคาผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์” นายกิตติศักดิ์ ยืนยัน
ขณะที่ เลขาธิการ กศน. เสริมว่า อาจจะยังให้คำตอบได้ไม่ดีมากนักเพราะช่วงที่เกิดปัญหาปี 2555-2557 ซึ่งยังไม่ได้เข้ามารับตำแหน่ง และไม่อยากเข้าไปยุ่ง เพราะมันผ่านมานานแล้ว เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา จึงทราบภายหลังว่าเกิดปัญหาอะไรบ้าง และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบตามข้อร้องเรียน
รองเลขาธิการ กศน. ชี้แจงต่อว่า หนังสือของสำนักงาน กศน.แบ่งออกเป็น2ประเภท คือ วิชาบังคับ และวิชาเลือก โดยวิชาบังคับ สถานศึกษาสามารถเข้าไปโหลดต้นฉบับของทาง กศน. ได้
“ส่วนวิชาเลือกทาง กศน. ไม่มีต้นฉบับ สถานศึกษาสามารถเขียนเองได้ ไปซื้อหนังสืออะไรมาก็ได้ หรือผู้ขายสามารถเขียนขึ้นมาเองก็ได้ ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์สำนักงาน กศน. ไม่ทราบ เพราะสถานศึกษาบางแห่ง ทำเป็นเอกสารประกอบการเรียน ขึ้นอยู่กับสถานศึกษา และที่มีปัญหามักจะเป็นวิชาเลือก” นายกิตติศักดิ์ ยืนยัน
วิชาเลือกมี 2 ลักษณะ คือจ้างพิมพ์และจัดซื้อ จัดซื้อต้นฉบับต้องเป็นของผู้ขาย ถ้าจ้างพิมพ์ต้นฉบับเป็นของผู้ว่าจ้าง ซึ่งถ้าจะขอพิมพ์ก็ต้องมาขอลิขสิทธิ์จากทางสำนักงานกศน.ไปก่อน แต่ถ้าเป็นสถานศึกษาเป็นผู้ว่าจ้างก็สามารถพิมพ์ได้เลย ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่รู้ว่าสถานศึกษาได้เอาต้นฉบับนี้ไปให้โรงพิมพ์บ้างไหม และโรงพิมพ์ได้เอาต้นฉบับไปพิมพ์ขายบ้างหรือเปล่า ซึ่งกำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่
“วิชาเลือกเราก็ไม่รู้ว่าใครเขียนบ้าง บ้างก็ไปเอาต้นฉบับของโรงพิมพ์มา แต่ถ้าจ้างพิมพ์ต้นฉบับก็ต้องเป็นของสถานศึกษาซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าสถานศึกษานั้นเขียนขึ้นเองหรือไม่ ถ้าเอาต้องฉบับของสถานศึกษามาพิมพ์และไปขายให้คนอื่นก็ต้องฟ้อง วิชาเลือกไม่ได้กำหนดราคากลางเพราะไม่รู้ว่ามากน้อยแค่ไหนแล้วแต่ของสถานศึกษา อำนาจการจัดซื้อจัดจ้างก็อยู่ที่สถานศึกษาไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลาง พอเรามีหนังสือห้ามซื้อวิธีพิเศษไปก็ทำให้เกิดการแข่งขัน ที่จริงเป็นการดิ้นรนของการค้าขาย วิชาเลือกกรมไม่ได้ตรวจ”นายกิตติศักดิ์กล่าว
นายวรวิทย์ สุระโคตร นิติกรชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอยู่ หากบริษัทใดๆ ละเมิดลิขสิทธิ์ของ กศน. จะเรียกเข้ามาพูดคุย และถ้าตกลงกันไม่ได้ในเรื่องเงินชดใช้ค่าเสียหายของทางราชการ ก็ต้องดำเนินคดี ซึ่งมีหลายบริษัทที่มีลักษณะดังกล่าว
“ขณะนี้ทาง กศน. ได้สั่งให้เข้ามาชี้แจงแล้ว ส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์ทำได้อย่างเดียวคือ “การซื้อ”และสำนักงาน กศน. ไม่มีต้นฉบับวิชาเลือก แต่สถานศึกษามีสิทธิที่จะเขียนขึ้นมาเองได้”
รองเลขาธิการ กศน. เสริมว่า เมื่อก่อนการจ้างพิมพ์ก็ใช้อีอ๊อกชั่นเหมือนกันแต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้อีบิดดิ้ง ตั้งแต่ 1 มิ.ย. แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเอกชนบางรายเสียประโยชน์ สู้บริษัทใหญ่ไม่ได้ที่บริษัทใหญ่ขายสื่อขายหนังสือให้กับ กศน. มีอยู่ 14 บริษัท และมีบริษัทใหญ่ๆอยู่แค่ 3 บริษัท
“บริษัทใหญ่มีทุนเยอะเมื่อเข้าแข่งกันอย่างเสรีจึงเป็นเหตุให้บริษัทรายเล็กไม่สามารถสู้ได้ ล้วนแล้วเป็นเรื่องของด้านเทคนิค ซึ่งแต่ก่อนก็จะค้าขายด้วยกันอยู่ แต่จะอยู่แบบฮั้วกันแบ่งโซนกันขาย แข่งขันกันเยอะเพราะภาคเรียนหน้าจะเปลี่ยนหลักสูตร พอเปลี่ยนหลักสูตรหนังสือก็ต้องเปลี่ยน คนที่พิมพ์ไว้เยอะๆเขาก็เอามาโล๊ะขาย บริษัทเล็กไม่ได้พิมพ์ไว้เยอะก็เลยสู้ไม่ได้เพราะต้นทุนสูงรายใหญ่รายย่อยเราควบคุมกันไม่ได้”
เมื่อถามถึงเรื่องของการจ้างพิมพ์แต่ละภาคที่ดูเหมือนเป็นการผูกขาด เฉพาะ เอกชนรายใหญ่
เลขาธิการกศน. รองเลขาธิการ และ นิติกรได้ร่วมกันชี้แจงว่า เป็นการสอบราคาแข่งกัน รายไหนเสนอต่ำสุดเราก็ต้องเลือกรายนั้น ไม่ได้ผูกขาดบริษัทใหญ่ก็ย่อมได้เปรียบอยู่แล้วเพราะเป็นการแข่งขันแบบเสรีเลยทำให้เอกชนรายเล็กอยู่ไม่ได้แล้วก็เลิกกิจการไป
ส่วนในการจัดซื้อหนังสือกับ บริษัท สำนักพิมพ์ เอมพันธ์ จำกัด (กลุ่มเอมพันธ์เป็นคู่สัญญาจัดซื้ออย่างน้อย 19 โครงการ) ตามที่เป็นข่าวไปนั้น ยืนยันว่า สำนักพิมพ์เอมพันธ์ไม่ได้เป็นผู้ผลิตหนังสือของ กศน. แต่สำนักพิมพ์เอมพันธ์ผลิตหนังสือเกี่ยวกับทักษะอาชีพ ในช่วงปี2555-2557 เวลาแข่งจัดซื้อ ก็กระจายอำนาจไปที่จังหวัด แล้วจังหวัดก็กระจายไปที่อำเภอ อำเภอก็จะสอนทักษะวิชาชีพกันเอง แต่ละอำเภอมีอำนาจในการจัดซื้อหนังสือได้ไม่เกิน 2 ล้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนรายนักเรียนด้วย แต่ละอำเภอก็จะได้ไม่เท่ากันพอกระจายอำนาจไปให้แล้วทาง กศน.เข้าไปควบคุมไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของสถานศึกษา เหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเพราะในช่วงนั้นตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายว่าจะต้องสอนประสบการทักษะวิชาชีพ ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพ จึงเกิดการแข่งขันกันอย่างมากของกลุ่มเอกชน และปัจจุบันคาดว่า กศน.ที่อื่นก็คงไม่มีการจัดซื้อหนังสือกับทางเอมพันธ์แล้ว เพราะตอนนี้ไม่มีนโยบายนี้แล้ว
จากที่มีการร้องเรียนมาก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ กำลังตรวจสอบอย่างเร่งด่วนอยู่เก็บข้อมูลอยู่ บางที่ก็เรียกเงินคืนเมื่อเข้าไปตรวจสอบว่ามีการจัดซื้อแพง อยากให้เข้าใจว่าสำนักงาน กศน.เองไม่มีอำนาจในการซื้อ คนที่มีอำนาจในการซื้อคือสถานศึกษา อีกทั้งปัจจุบันทาง กศน.ก็ได้ดำเนินการควบคุมวิชาเลือกเพื่อไม่ให้มีมากเกินไปให้อยู่ในภาคนั้นๆสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนแต่ละภาค
อ่านประกอบ :
เลขาฯ กศน.สั่งสอบ ปมจัดซื้อหนังสือแบบเรียน ขีดเส้น7 วัน ลั่นทำผิดเจอฟ้องร้อง
ตารางรายชื่อ‘ผู้ซื้อซอง-ผู้ชนะ’จัดซื้อหนังสือ กศน.19 โครงการ-เงื่อนปมที่ยังไม่เคลียร์?
เปิด‘ไทยบุ๊คฯ-พวก’คู่เทียบจัดซื้อหนังสือ กศน.16 โครงการ อยู่บ้าน‘หลังเดียวกัน’
‘เอเซียมีเดียบุ๊ค-พวก’คว้าจัดซื้อหนังสือ กศน.10 ล.‘สนพ.เอมพันธ์’โผล่เป็นคู่เทียบ
เปิดตัว‘สนพ.เอมพันธ์’ผู้ค้าหนังสือ กศน.78 ล. แจงแค่ ‘เฉพาะกิจ’ - 2 หจก.คู่เทียบ
เจาะจัดซื้อหนังสือ กศน. ‘สำนักพิมพ์เอมพันธ์’ 17 สัญญา - 4 เครือข่ายเป็น'คู่เทียบ'
ร้องสอบปม กศน. 21 แห่งจัดซื้อหนังสือเรียนบริษัทใหญ่ -โยงใยบิ๊ก ก.ศึกษาฯ
สรรพากรบี้ภาษี‘เอกพิมพ์ไท’ผู้ค้าใหญ่แบบเรียน กศน.-พบคว้าอื้อ‘ราชบุรี-กำแพงเพชร’
พบ กศน.29 แห่งผูกจ้าง บ.ใหญ่พิมพ์แบบเรียน 121.3 ล.-ใช้‘ผู้สอบบัญชี’คนเดียวกัน
ร้องสอบปม กศน. 21 แห่งจัดซื้อหนังสือเรียนบริษัทใหญ่ -โยงใยบิ๊ก ก.ศึกษาฯ