"ศิธา" ซัดถูก "ไอ้โม่ง" รีดเงิน 30ล.เล่นงาน! แจงสัญญาน้ำอีสท์วอเตอร์ 5 พันล.โปร่งใส
"ผู้พันปุ่น" อดีตปธ.อีสท์วอเตอร์ ออกโรงเคลียร์ปมทำสัญญาซื้อน้ำเอกชน 40 ปี 5 พันล. แจงหยิบขั้นตอนโปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน แถมสร้างรายได้ตอบแทนองค์กรนับหมื่นล้าน ซัดมี "ไอ้โม่ง" อยู่เบื้องหลัง รีดไถ่เงินเอกชน 30 ล้านไม่ได้ เลยปล่อยข่าวเล่นงาน
จากกรณีปรากฏข้อมูลว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำดิบจาก บริษัท ชลกิจสากล จำกัด เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปีเต็ม และในระหว่างอายุสัญญาจะมีการปรับราคาน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 ของทุกๆ 5 ปี ด้วย ส่งผลทำให้บริษัท ชลกิจสากลฯ ได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 5 พันล้านบาท โดยการจัดทำสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคที่ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ดำรงตำแหน่งเป็นประธานอีสท์วอเตอร์
(อ่านประกอบ :ตะลึง!'อีสท์วอเตอร์'ซื้อน้ำดิบเอกชนรายเดียว 5 พันล. ผูกขาด 40 ปี ยุค'ผู้พันปุ่น')
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2558 น.ต.ศิธา ให้สัมภาษณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ข่าวการรับซื้อน้ำจากเอกชน เป็นเวลา40ปี ปีละประมาณ70-100 กว่าล้านบาท รวมยอดเงินประมาณ 5,000ล้านบาท เป็นเรื่องจริง ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ให้ข้อมูลกับสื่อ แต่เป็นการให้ข่าวแบบพูดความจริงครึ่งเดียว คือ พูดแต่ด้านรายจ่าย ไม่ได้พูดด้านรายรับ เพราะโครงการนี้ จะสร้างผลกำไรให้กับอีสท์วอเตอร์ ตลอดระยะสัญญา 40ปี เพิ่มอีกปีละ 100 กว่าล้านบาท โดยคิดเป็นยอดขายน้ำรวมทั้งสิ้น 15,500 ล้านบาท เป็นรายได้จากโครงการนี้เพียงโครงการเดียว และเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากขีดความสามารถปกติ ที่อีสท์วอเตอร์สามารถกระทำได้
น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า โครงการการจัดซื้อน้ำดิบจากบ่อน้ำเอกชนรายนี้ สืบเนื่องมาจากภาคตะวันออก คือ เขตจังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำในเขตอุตสาหกรรมและน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยก่อนรับซื้อน้ำจากภาคเอกชนรายนี้ ลูกค้าของอีสท์วอเตอร์ ในพื้นที่นี้ มีความต้องการใช้น้ำถึง 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะที่อีสท์วอเตอร์ สามารถจัดหาน้ำอย่างเต็มที่ได้เพียง 70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่านั้น ยังขาดแคลนน้ำอยู่ถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่ออีสท์วอเตอร์ จัดซื้อน้ำจากเอกชนรายนี้ ทำให้ได้น้ำมาเพิ่มตามที่ขาดแคลนไป
“การรับซื้อน้ำจากบ่อน้ำเอกชนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2552 อีสท์วอเตอร์ก็เคยซื้อน้ำจากบ่อน้ำของเอกชนมาแล้ว และราคาเริ่มต้นสูงถึงลบ.ม.ละ 6 บาท สัญญามีอายุ 30ปี ส่งน้ำกันได้พักหนึ่งก็มีปัญหา และได้ยกเลิกสัญญากันไป ต่อมาทางบริษัทฯจึงได้เขียนกฎเกณฑ์ในการรับซื้อน้ำให้รัดกุมยิ่งขึ้น มีการครอบครองกรรมสิทธิ์ และค่าปรับในกรณีที่ส่งน้ำไม่ได้อย่างชัดเจนและเป็นธรรมด้วย”
น.ต.ศิธา กล่าวต่อไปว่า ภายหลังจากที่ตนเข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานอีสท์วอเตอร์ ฝ่ายบริหารมีการนำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาให้บอร์ดพิจารณา ในฐานะประธานบอร์ด เราต้องตัดสิน เมื่อเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ ก็มอบนโยบายให้ฝ่ายบริหารไปพิจารณาไปดำเนินการ ต่อมาโครงการนี้ถูกร้องเรียน ตนก็เป็นผู้สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และกำชับไปด้วยว่า ถ้ามีปัญหา หรือ อะไรที่ไม่ถูกต้องก็สามารถยกเลิกไปได้ เมื่อฝ่ายบริหารตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีปัญหาก็ดำเนินการต่อไป
"ส่วนที่ระบุว่า มีการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นก็ไม่เป็นความจริง เพราะหลังจากนั้น อีสท์วอเตอร์ก็ซื้อน้ำจากเอกชนรายอื่นด้วย และผลจากการที่เรามีบ่อซื้อน้ำแล้ว ก็ทำให้สามารถต่อรองราคาซื้อน้ำจากเอกชนรายอื่นได้เพิ่มอีก"
ส่วนคำถามที่ว่าทำไมสัญญาถึงมีอายุ 40ปี นั้น น.ต.ศิธา ระบุว่า เนื่องจากโครงการนี้เอกชนต้องลงทุน ในขณะที่อีสท์วอเตอร์ต้องลงทุนวางท่อเฟสแรก 200ล้าน และสร้างท่อและปั๊มแรงดันสูงในอนาคตอีก 200ล้าน และอีสท์วอเตอร์ คิดอายุท่อเหล็กตามมาตรฐานไว้ 40ปี ถ้าสัญญาน้อยกว่านี้ความคุ้มค่าก็น้อยลง ต้นทุนต่อหน่วยก็มากขึ้น และถ้าท่อยังไม่หมดอายุ จะมาต่อสัญญากันอีก ราคาน้ำดิบก็อาจสูงขึ้นไปอีก อันจะทำให้อีสท์วอเตอร์เสียเปรียบได้
“โครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนกันทั้งสองฝ่าย ออกเงินกันคนละส่วนพอๆ กัน ถามว่าถ้าอีสท์วอเตอร์ไม่ออกทุนเลยเขาจะมาลงทุนไหม ส่วนเรื่องที่ดินของบริษัท ที่บอกว่าซื้อหลังได้สัญญา ช่วงที่ทำสัญญาเขามีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาให้เราดู เมื่อได้สัญญาแล้วเขาก็ไปลงทุนซื้อที่ดิน ซึ่งมันก็ไม่แปลก เป็นเรื่องปกติการทำธุรกิจ ถ้าไปซื้อที่ดินก่อนแล้วไม่ได้งาน มันก็ขาดทุนนะซิ ส่วนเขาจะไปหาแหล่งเงินจากไหนมาผมไม่ทราบเป็นเรื่องของเอกชน เราไม่เกี่ยว”
เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า บริษัทเอกชนรายนี้ เป็นนอมินี ของ น.ต.ศิธา จริงหรือไม่ น.ต.ศิธา ตอบว่า "ไม่จริง ผมไม่เกี่ยวข้องอะไรกับบริษัท ไม่เคยมีหุ้นอยู่ หรือให้ใครเข้าไปถือหุ้นแทน แต่ถามว่ารู้จักกับบริษัทไหม ผมก็รู้จัก แต่ไม่ใช่แค่บริษัทนี้บริษัทเดียวที่ผมรู้จัก ผมรู้จักทุกบริษัท แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าผมต้องไปเกี่ยวข้องอะไรกับบริษัทด้วย ทุกอย่างทำตามขั้นตอน ผมยึดถือผลประโยชน์องค์กรที่เราดูแลอยู่เป็นหลักก่อนเสมอ"
“ ผมเข้ามาเป็นประธานบอร์ดอีสท์วอเตอร์ มีเป้าหมายคือแก้ไขปัญหาที่สะสมค้างมานาน ไม่ได้เข้ามาเพื่อหาแสวงหาผลประโยชน์อะไร ช่วงเข้าไปรับตำแหน่งบริษัท จะหารถซีรีย์ 7 มาให้ใช้ผมยังไม่เอาเลย"
"ส่วนเรื่องนี้ที่มันเป็นปัญหาขึ้นมา ทราบว่า มีสาเหตุมาจากบุคคลคนหนึ่ง พยายามเข้าไปรีดไถ่เงินจากเอกชน ประมาณ 30 ล้าน แต่เขาไม่ยอมให้ ก็เลยหยิบเรื่องนี้มาเล่นงานกัน ซึ่งบริษัทเอกชนเขาก็ไม่ยอม ส่วนผมที่ถูกลูกหลงไปด้วย ก็ไม่กลัว เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และมีข้อมูลหลายอย่างอยู่ในมือ แต่ไม่อยากจะเอามาพูด เพราะไม่อยากให้อีสต์วอเตอร์เสียหาย”
น.ต.ศิธา ยังกล่าวถึงท้ายด้วยว่า เพิ่งได้อ่านข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทเอกชนที่รู้ตัวว่าใช้น้ำปริมาณมากๆ ควรใช้น้ำจากแหล่งน้ำของตัวเองก่อน และแต่ละบริษัทควรมีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำที่ดี
“ผมเชื่อว่าการจัดซื้อน้ำดิบจากเอกชนของอีสท์วอเตอร์ จะเป็นโครงการแรกที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล คณะกรรมการอีสท์วอเตอร์ชุดปัจจุบัน ควรจะขอบคุณวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการชุดก่อน ที่จัดหาน้ำดิบมาแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างดี และถ้าไม่ใช้น้ำจากเอกชน ก๊อกสุดท้ายนี้ อีก ไม่เกิน7วัน ก็ไม่รู้สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกจะเป็นอย่างไร” น.ต.ศิธา ระบุ
(กดคลิกติดตามข่าวสาร ได้ใน แฟนเพจ "I love isranews ")
อ่านประกอบ :
ผู้ถือหุ้น"อีสท์วอเตอร์" ร้องสัญญาผูกขาดขายน้ำ40 ปี ส่อกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่น
บ.ชลกิจฯ แจ้งรายได้ 132 บ. ก่อนคว้าสัญญาขายน้ำอีสท์วอเตอร์ยาว 40 ปี 5 พันล.
ปธ.อีสท์วอเตอร์ รับสัญญาซื้อน้ำเอกชน 5 พันล.ผูกขาดจริง! สั่งสอบผลงานบอร์ดเก่าแล้ว
ตะลึง!'อีสท์วอเตอร์'ซื้อน้ำดิบเอกชนรายเดียว 5 พันล. ผูกขาด 40 ปี ยุค'ผู้พันปุ่น'