- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- ผู้ถือหุ้น"อีสท์วอเตอร์" ร้องสัญญาผูกขาดขายน้ำ40 ปี ส่อกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่น
ผู้ถือหุ้น"อีสท์วอเตอร์" ร้องสัญญาผูกขาดขายน้ำ40 ปี ส่อกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่น
ปมสัญญาผูกขาดขายน้ำ "อีสท์วอเตอร์" ยาว 40 ปี 5 พันล้าน ลามขั้นตอนคัดเลือกเอกชน - "ผู้ถือหุ้น" อ้างมีการกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่น ให้"ขายถูกกว่า" แต่ไม่ได้งาน เผยเคยร้องเรียนไปยังผู้ว่าการประปาภูมิภาคตรวจสอบแล้ว ก่อนเรื่องเงียบหาย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ภายหลังจากที่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายน้ำดิบ ระหว่าง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ กับ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด ที่มีลักษณะผูกขาดให้อีสท์วอเตอร์ ต้องซื้อน้ำจาก บริษัท ชลกิจสากล จำกัด เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปีเต็ม และในระหว่างอายุสัญญาจะมีการปรับราคาน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 ของทุกๆ 5 ปี ด้วย ส่งผลทำให้บริษัท ชลกิจสากลฯ ได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 5 พันล้านบาท
ขณะที่ นายวิทยา ฉายสุวรรณ ประธานอีสท์วอเตอร์ ออกมายอมรับว่าสัญญาซื้อขายน้ำดิบฉบับนี้ มีลักษณะผูกขาดจริง แต่เกิดขึ้นในการบริหารงานของบอร์ดชุดเก่า ซึ่งปัจจุบันบอร์ดชุดใหม่ ได้มีการเจรจาต่อรองกับบริษัท ชลกิจสากล จำกัด เพื่อปรับลดเงื่อนไขในสัญญาให้เหลือเพียงแค่ 30 ปี ทำให้ประหยัดงบประมาณได้พันล้านบาท
(อ่านประกอบ : ปธ.อีสท์วอเตอร์ รับสัญญาซื้อน้ำเอกชน 5 พันล.ผูกขาดจริง! สั่งสอบผลงานบอร์ดเก่าแล้ว)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ล่าสุดมีผู้อ้างตัวว่าเป็น "ผู้ถือหุ้น" อีสท์วอเตอร์ ได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในการจัดทำสัญญาซื้อขายน้ำดิบระหว่าง อีสท์วอเตอร์ และ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด มาให้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบเพิ่มเติม
โดยกล่าวอ้างว่า ในกระบวนการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่เข้ามาเสนอขายน้ำดิบให้กับอีสท์วอเตอร์โครงการนี้ มีลักษณะกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่นด้วย
"การดำเนินการจัดหาผู้เสนอขายน้ำดิบสำหรับทำการเปรียบเทียบราคาครั้งนี้ มีผู้เสนอราคาจำนวน 3 ราย หนึ่งใน 3 ราย คือ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด แต่ผู้เสนออีก 2 ราย ไม่ได้รับการพิจารณา ถึงแม้ว่าจะเสนอราคาต่ำกว่า โดยอีสท์วอเตอร์ ให้เหตุผลว่าข้อมูลของทั้ง 2 บริษัท บางประการไม่ชัดเจน แต่มิได้มีการชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจน"
"นอกจากนี้ โดยปกติราคารับซื้อน้ำดิบหน้าบ่อทั่วไป ราคาประมาณ 3-4 บาทต่อลบ.ม.แต่โครงการนี้ อีสท์วอเตอร์ ต้องรับซื้อน้ำดิบในราคาประมาณ 5 บาท ต่อลบ.ม. และปรับราคาขึ้นร้อยละ 10 ในทุกๆ 5 ปี อีกทั้งต้องเสียงบประมาณในการวางท่อเป็นจำนวนเงินกว่า 500 ล้านบาท เพื่อรองรับน้ำจากบ่อแห่งนี้ เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดแล้วจะพบว่า ต้นทุนที่แท้จริงในการซื้อน้ำดิบจาก บริษัท ชลกิจสากล จำกัด อยู่ที่ประมาณ 8 บาทต่อลบ.ม."
ผู้ถือหุ้น อีสท์วอเตอร์รายนี้ ยังระบุด้วยว่า เรื่องนี้เคยมีการร้องเรียนไปยัง ผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคให้เข้ามาตรวจสอบแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2557 จากนั้นผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค ได้มีคำสั่งให้ นายสมนึก ลิ้มทองสิทธิคุณ รองผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค ที่นั่งอยู่ในบอร์ดอีสท์วอเตอร์ นำเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาในที่ประชุม อีสท์วอเตอร์ ด้วย จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง นายสมนึก ลิ้มทองสิทธิคุณ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลการร้องเรียนดังกล่าว ได้รับการยืนยันว่า เคยได้รับมอบหมายจาก ผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค ให้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดอีสท์วอเตอร์จริง
"เรื่องนี้ถูกร้องเรียนมาตั้งแต่สมัยบอร์ดเก่าช่วงกลางปี 2557 แล้ว และผมก็ได้นำเรื่องเข้าไปเสนอที่ประชุมบอร์ดอีสท์วอเตอร์ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้มอบหมายให้คณะกรรมการฝ่ายตรวจสอบไปดูข้อมูล ก่อนที่จะมีการรายงานผลกลับมาว่า โครงการนี้ ไม่มีปัญหาอะไร เป็นไปตามขั้นตอนระเบียบการดำเนินงานของ อีสท์วอเตอร์ โครงการนี้ก็เลยเดินหน้าต่อมาจนถึงปัจจุบัน "
เมื่อถามว่า โครงการนี้ ถูกร้องเรียนว่ามีการกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่น ทางบอร์ดอีสท์วอเตอร์ ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลด้วยหรือไม่ นายสมนึก ตอบว่า "เท่าที่จำได้ การเข้าไปตรวจสอบเน้นไปที่เรื่องความเป็นไปได้ของโครงการที่ผู้ประกอบการเสนอเข้ามาเป็นหลัก มีการไปจ้างสถาบันการศึกษามาประเมิน เมื่อได้รับการยืนยันว่าทำได้ และในขั้นตอนการลงทุน ทางฝ่ายบริหารยืนยันว่ามีความคุ้มค่า งานก็เดินหน้าต่อไป"
"ส่วนที่มีการระบุว่า ผู้เสนอราคา 2 ราย เสนอราคามีต่ำกว่า แต่ไม่ได้รับการพิจารณานั้น เป็นเพราะการคัดเลือกเอกชนของอีสท์วอเตอร์ มีการออกระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานเอง ไม่ได้ยึดถือเรื่องราคาเป็นตัวตัดสิน แต่มองเรื่องโครงการที่เสนอมาเป็นหลักว่าทำได้จริงหรือไม่ ต่างจากระเบียบของราชการ ขนาดการประปาฯ แม้จะถือหุ้นใหญ่ แต่เราก็เข้าไปสั่งการหรือล้วงลูกอะไรไม่ได้เลย เพราะกฎหมายเปิดช่องให้เขามีอิสระเอง"
ส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อน้ำเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีนั้น นายสมนึก ระบุว่า ในส่วนของบอร์ดไม่ค่อยรู้อะไรมาก เพราะหลังจากอนุมัติหลักการไปว่าให้ทางอีสวอเตอร์ทำโครงการซื้อน้ำจากเอกชนได้ ฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่ ก็ไปดำเนินการในขั้นตอนปฏิบัติ แต่ไม่ได้มีการนำสัญญาเข้ามาให้บอร์ดพิจารณาด้วย ซึ่งกรณีนี้ ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงบอร์ดชุดใหม่เข้ามาทำงาน จึงมีการเรียกสัญญามาดู และเห็นว่าระยะเวลายาวเกินไป จึงสั่งให้มีการเจรจาต่อรองกับบริษัทเพิ่มเติม ตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปแล้ว
เมื่อถามว่า มีการตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัท ชลกิจสากล จำกัด แจ้งว่ามีรายได้จากการประกอบธุรกิจแค่ร้อยกว่าบาท แต่มีเงินซื้อที่ดินมาทำบ่อขายน้ำให้กับ อีสท์วอเตอร์ ได้ นายสมนึก ตอบว่า "เรื่องนี้ทางผมไม่ทราบ แต่คิดว่าในขั้นตอนการตรวจสอบของฝ่ายบริหารอีสท์วอเตอร์ คงจะดูแค่ศักยภาพโครงการที่เสนอมาเป็นหลักว่าทำได้หรือไม่ คงไม่ได้ไปดูข้อมูลอะไรของบริษัทหรอก เมื่อเอกชนเขาเสนอโครงการเข้ามา ทางอีสท์วอเตอร์ตรวจสอบแล้วและเห็นว่าทำได้ ทำไปแล้วคุ้มค่า ก็เดินหน้าโครงการไป ขั้นตอนเป็นแบบนั้น"
(กดคลิกติดตามข่าวสาร ได้ใน แฟนเพจ "I love isranews ")
อ่านประกอบ :
บ.ชลกิจฯ แจ้งรายได้ 132 บ. ก่อนคว้าสัญญาขายน้ำอีสท์วอเตอร์ยาว 40 ปี 5 พันล.
ปธ.อีสท์วอเตอร์ รับสัญญาซื้อน้ำเอกชน 5 พันล.ผูกขาดจริง! สั่งสอบผลงานบอร์ดเก่าแล้ว
ตะลึง!'อีสท์วอเตอร์'ซื้อน้ำดิบเอกชนรายเดียว 5 พันล. ผูกขาด 40 ปี ยุค'ผู้พันปุ่น'