สภาพอากาศเปลี่ยนขั้ว! ยูเนสโกคาดไทยอาจแล้งยาวต่อเนื่องเป็น 10 ปี
นักวิชาการจุฬาฯ เตือนประชาชนรับมือภัยแล้ง ชี้ช่วงพ.ย.-พ.ค. ปีหน้า เสี่ยงไม่มีน้ำประปาใช้ ระบุ ยูเนสโกคาดสภาพอากาศจะเปลี่ยนขั้ว แอฟริกาที่แล้งหนัก ก็จะเริ่มมีน้ำ ขณะที่ไทยเริ่มแล้งยาวนานต่อเนื่องเป็น 10 ปี
วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีวิกฤติภัยแล้ง: น้ำ ดิน อากาศ และการรับมือ ณ ห้องประชุม 1 สกว. ชั้น 15
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยประสบปัญหาฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์มาเป็นระยะเวลา 3 ปีต่อเนื่อง ดังนั้นต้นทุนน้ำจึงน้อย อีกทั้งปรากฎการณ์แอลนินโญ่มาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้และมีความรุนแรงตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทั้งนี้ปรากฎการณ์ดังกล่าวจะส่งผลแล้งระยะยาวต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2558 ส่วนฝนจะเริ่มตกจริงจังตั้งแต่1สิงหาคม ไปจนถึงต้นตุลาคม 2558 ฉะนั้นในระยะเร่งด่วนที่ต้องทำคือ 1.ขุดน้ำบ่อตื้น 2.ขุดน้ำบาดาล 3.ทำเกษตรยังชีพคือปลูกไว้สำหรับบริโภค 4.เวียนน้ำคือใช้น้ำซ้ำ 5.ประหยัดน้ำ คือต้องช่วยกัน โดยเฉพาะคนกรุงเทพ
รศ.ดร.สุจริต กล่าวถึงปรากฎการณ์แอลนินโญ่ที่จะส่งผลในระยะยาว และฝนที่จะตกเพียง 2 เดือน อาจส่งผลให้ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 - พฤษภาคม 2559 อาจจะไม่มีน้าประปาใช้และการปลูกข้าวนาปรังอาจจะเป็นเรื่องยาก เกษตรกรอาจจะต้องงดการทำนาปรัง และประชาชนทุกคนต้องช่วยกันประคองเพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้
"ในการประชุมขององค์การยูเนสโกที่ผ่านมา ในอนาคตสภาพอากาศจะมีการเปลี่ยนขั้ว แอฟริกาที่แล้งหนักเป็น 10 ปีก็จะเริ่มมีน้ำ ขณะที่ในประเทศไทยก็จะเริ่มแล้งยาวนานต่อเนื่องอาจจะเป็น 10 ปี เช่นเดียวกับแอฟริกาก็ได้ ดังนั้นวันนี้เราต้องเตือนตัวเองเรื่องการใช้น้ำ ชุมชนต้องดูแลตัวเอง ตุ่มที่เคยทุบทิ้งไปตั้งแต่วันนี้อาจจะต้องเริ่มนำมาใช้ในการกักเก็บน้ำใหม่"
สำหรับการบริหารแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อบาดาล ดร.สุจริต กล่าวว่า ควรมีการสำรวจและบันทึกตำแหน่ง ขนาดความจุและปริมาณน้ำของแหล่งเก็บน้ำ ให้มีการทำบัญชีน้ำในพื้นที่ตำบล และแปลงข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งแหล่งน้ำให้อยู่ในรูปแบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวต้องทบทวนแผนการใช้น้ำ ปรับโครงสร้างการใช้น้ำ เพิ่มแหล่งเก็บกัก ทั้งแบบเดียว และแบบเครือข่าย(อ่างพวง) รวมทั้งพิจารณาแผนจัดการด้านผู้ใช้ คือการจัดโควตาน้ำระบบ bcm และ โลจิสติก ที่สำคัญคือต้องมีกฎหมายแม่บทเรื่องน้ำของประเทศ ที่บรรจุภาพรวมการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในทุกมิติและมีความเชื่อมโยงในระดับลุ่มน้ำและมอบอำนาจลงสู่ลุ่มน้ำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัการทรัพยากร