"จุฬาราชมนตรี-พี่สาวนิสิต"รุมจวกปมห้ามคลุมฮิญาบฝึกงาน-คณบดีโต้เดือดไม่เคยปิดกั้น
เพจ "สำนักจุฬาราชมนตรี" ออกโรงเผยแพร่หนังสือถึงรมว.กระทรวงศึกษาฯ ให้แจ้ง ม.นเรศวร ทบทวนคำสั่งปิดกั้น นิสิตอิสลามใส่ "ฮิญาบ" ฝึกงาน - ฝ่ายคณบดี ยันคำเดิม "เด็กตัดสินใจออกเอง" ไม่มีการกดดัน ระบุมีเอกสารหลักฐานชี้แจงได้ทุกประเด็น ลั่น "ทำงานมานานรู้จักผิดชอบชั่วดี" แถมให้ความช่วยเหลือเต็มที ควักเงินส่วนตัวออกให้ก่อน 3 หมื่นกว่าบาทด้วย
จากกรณี มหาวิทยาลัยนเรศวร ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ต่อกรณีการตัดสิทธิ์เข้าเรียนของนิสิตหญิงรายหนึ่งในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เนื่องจากนิสิตหญิงรายนี้นับถือศาสนาอิสลาม จะต้องโพกผ้าคลุมศีรษะตลอดเวลา ไม่สามารถถอดผ้าคลุมศรีษะออกได้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหลักสูตรนี้ในช่วงการฝึกปฏิบัติที่ต้องสวมเครื่องแบบฝึกปฏิบัติของโรงพยาบาลต่างๆ
ขณะที่ รศ.ดร.พูลสุข หิงคานนท์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ทางคณะพยาบาลศาสตร์ ไม่เคยปิดกั้นนิสิตรายนี้ไม่ให้เข้ามาเรียน แต่เป็นตัวของนิสิตเองที่แจ้งว่าไม่ประสงค์จะเข้าเรียน และทำเรื่องขอให้มีการคืนเงินค่าบำรุงหอพักนิสิต จำนวน 15,500 บาท และยืนยันว่า พร้อมให้กลับมาเรียนได้ทุกเมื่อ นั้น
(อ่านประกอบ : คณบดีพยาบาล ม.นเรศวร แจงเหตุนิสิตถอนตัวเองไม่เกี่ยวห้ามคลุมฮิญาบฝึกงาน)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ล่าสุด "แฟนเพจ สำนักจุฬาราชมนตรี" ได้เผยแพร่หนังสือที่ นายอาศิล พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทำถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอให้มีคำสั่งไปยังมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ทบทวนการตัดสินใจเรื่องดังกล่าว และยอมรับนิสิตรายนี้เข้าศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน
โดยระบุว่า การกระทำของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เคารพสิทธิในการนับถือศาสนาของพลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา
นอกจากนี้ แนวปฏิบัติการแต่งกายด้านความเรียบร้อยในการเรียนการสอนของคณะพยาบาล ซึ่งต้องมีการสวมหมวกในขณะปฏิบัติหน้าที่ แทบไม่แตกต่างจากการคลุมผ้าโพกศีรษะ ของนิสิตมุสลิม อีกทั้งปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงระเบียบการแต่งกายของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ โดยให้มีเครื่องแบบของหญิงมุสลิมที่มีผ้าคลุมศีรษะ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกิจการสากลระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว
(ดูหนังสือประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนความเคลื่อนไหวของนิสิตหญิงรายนี้ นั้น มีผู้ใช้ นามสกุลเดียวกับนิสิตรายนี้ อ้างว่าเป็นพี่สาว ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมแชร์ลิงค์ข่าวของสำนักข่าวอิศรา เกี่ยวกับคำสัมภาษณ์ชี้แจง ของ รศ.ดร.พูลสุข หิงคานนท์
(อ่านประกอบ : คณบดีพยาบาล ม.นเรศวร แจงเหตุนิสิตถอนตัวเองไม่เกี่ยวห้ามคลุมฮิญาบฝึกงาน)
ก่อนจะระบุว่า ค่อนข้างรับไม่ได้ค่ะกับบทสัมภาษณ์นี้ ค่อนข้างบิดเบือนความจริง ตอบอ้อมไปอ้อมมา แถมยังอ้างว่าเด็กลาออกเอง นับว่าเป็นการตอบโต้ที่หลีกเลี่ยงคำพูดที่ตัวเองพูดในวันนั้นมาก ไม่อยากให้โยนความผิดให้นักศึกษา แค่ยอมรับและอนุญาต และนี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่ะ
น้องสาวได้รับคัดเลือกให้เข้าสอบสัมภาษณ์ผ่านระบบกลาง (Admission) และได้ไปสอบตามวันนัดหมาย อีกทั้งมีการแจ้งอาจารย์ที่ทำการสัมภาษณ์ในวันนั้นแล้วว่ามีความประสงค์ที่จะคลุมฮีญาบขณะศึกษาด้วย (น้องสาวยังไม่ได้คลุมฮีญาบขณะไปสอบสัมภาษณ์ แต่มีความตั้งใจว่าจะเริ่มคลุมฮีญาบและจะคลุมตลอดหลังจากนั้น รวมถึงตอนเรียนพยาบาล) หลังจากนั้นก็ได้มีการประกาศผลและให้นิสิตเข้ารายงานตัวในวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 น้องสาวจึงไปรายงานตัวพร้อมกับได้คลุมฮีญาบแล้วในวันนั้น
คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข หิงคานนท์ เห็นน้องสาวในวันนั้นจึงได้เรียกพบและแจ้งว่าที่นี่ไม่สามารถคลุมมฮีญาบได้ ถ้านิสิตต้องการที่จะเรียนก็ต้องห้ามคลุมฮีญาบ ทางน้องสาวจึงพยายามชี้แจงว่าได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วว่าจะคลุมฮีญาบ และอาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์ก็ไม่ได้คัดค้านใดๆ แต่ท่านคณบดีก็ยังคงยืนยันว่าทางคณะมีกฏระเบียบที่เคร่งครัดและจำต้องปฏิบัติตาม ให้นิสิตมุสลิมตัดสินใจเลือก และค่อนข้างมีการกดดันให้นิสิตลาออกหากยังคงดึงดันที่จะคลุมฮีญาบ อีกทั้งมีการอ้างว่าหากตรวจสอบพบเจอจะไม่มีการรับเข้ามาเป็นนิสิตตั้งแต่ต้น
หลังจากวันนั้น ผู้ใหญ่ทางนิสิตจึงพยายามเข้าไปพบปะพูดคุยกับทางคณะ และขอร้องให้มีการอนุญาตให้นิสิตคลุมฮีญาบขณะศึกษาได้ ทางคณะจึงให้ข้อสรุปมาว่าอนุญาตให้คลุมเฉพาะตอนเรียนชั้นปีที่ 1 แต่ชั้นปีต่อๆไปจะไม่อนุญาตเด็ดขาด เนื่องด้วยมองว่าเป็นปัญหาต่อการเรียนและการขึ้นวอร์ด และมีการทำข้อตกลงว่าหากนิสิตไม่สามารถตอบรับเงื่อนไขดังกล่าวก็จะเดินเรื่องให้มีการคืนเงินค่าเทอมและค่าอื่นๆที่นิสิตได้จ่ายไปแล้ว ทางน้องสาวก็ยืนยันที่จะคลุมฮีญาบจึงจำต้องยอมลาออก
จากเรื่องราวดังกล่าว มีผลให้สภาพจิตใจของน้องสาวบอบช้ำและสูญเสียกำลังใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นการลิดรอนสิทธิอย่างไม่เป็นธรรม จึงใคร่ขอความกรุณาให้มีการดำเนินการช่วยเหลือ รวมถึงชี้แจงถึงความจำเป็นของการคลุมฮีญาบของมุสลิมอย่างทั่วถึง ในการนี้ ไม่เพียงสร้างความกระจ่างชัดต่อประชาชนทั่วไป แต่ยังเป็นการช่วยให้มุสลิมคนอื่นๆได้ตระหนักถึงสิทธิที่พึงได้รับของตนอีกด้วย
ด้าน รศ.ดร.พูลสุข หิงคานนท์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา อีกครั้งว่า ได้เห็นของหนังสือสำนักจุฬาราชมนตรี ดังกล่าวแล้ว และไม่รู้สึกกังวลใจอะไร ถ้ากระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือถึงมหาวิทยาลัย ก็พร้อมที่จะทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดให้รับทราบ รวมถึงเอกสารหลักฐานต่างๆ ด้วย
"ดิฉันทำงานมานาน รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำอะไร ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยันยันด้วยความสัตย์จริง ว่า ทางมหาวิทยาลัย รวมถึงตัวของดิฉัน ไม่เคยมีความคิดที่จะปิดกั้น หรือไปกดดันให้นิสิตลาออก ด้วยเรื่องการแต่งกายทางศาสนาเลย เพราะปัจจุบันพยาบาลกำลังขาดแคลน ประเทศชาติกำลังต้องการทรัพยากรด้านนี้อยู่เราจะไปปิดกั้นเด็กที่อยากเรียนเพื่ออะไร ใครจะไปทำอะไแย่ๆแบบนั้น"
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องข้อความในหนังสือขอคืนเงินค่าหอพัก ที่มีการระบุถึง อุปสรรค ว่า นิสิตหญิงรายนี้นับถือศาสนาอิสลาม จะต้องโพกผ้าคลุมศีรษะตลอดเวลา ไม่สามารถถอดผ้าคลุมศรีษะออกได้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหลักสูตรนี้ในช่วงการฝึกปฏิบัติที่ต้องสวมเครื่องแบบฝึกปฏิบัติของโรงพยาบาลต่างๆ
รศ.ดร.พูลสุข หิงคานนท์ ยืนยันว่า เป็นการระบุข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ หลังจากที่นิสิตรายนี้ได้ทำบันทึกมาขอคืนเงิน ซึ่งถ้าไปดูในบันทึกข้อความให้ดี จะเห็นว่าไม่ได้มีการระบุคำพูดว่า ทางคณะฯ สั่งห้ามเรียนเพราะปัญหานี้แต่อย่างใด
และที่สำคัญในการทำเรื่องขอคืนเงิน ตนต้องควักเงินส่วนตัวประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท ออกแทนมหาวิทยาลัยให้ไปก่อนด้วย เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายคืนเงินให้นิสิตที่เข้ามารายงานตัว
"ทางญาติของฝ่ายเด็กแจ้งเข้ามาว่า มีความจำเป็นที่ต้องการใช้เงินด่วน ดิฉันก็รีบดำเนินการให้ เพราะเห็นว่าเขาเดือดร้อน และหลังจากนั้นไม่นานบันทึกขอคืนเงินก็ไปปรากฎในโลกออนไลน์ มีการให้ข้อมูลทำนองว่าคณะปิดกั้นกดดันเด็ก ให้ลาออก ซึ่งพูดความจริงไม่ครบ ทำไมไม่พูดข้อมูลอีกด้านว่า ทางเด็กเป็นฝ่ายมาขอคืนเงินเอง ด้วย"
รศ.ดร.พูลสุข ยังยืนยันว่า ในช่วงที่เชิญเด็กคนนี้ และผู้ปกครองมาพูดคุยกัน ตนได้อธิบายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระเบียบแต่งกายในการฝึกปฏิบัติไปฟังไปแล้วว่า อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในช่วงการฝึกงาน ซึ่งผู้ปกครองก็รับรู้รับทราบเข้าใจดี และตนยังคิดจะหาทางแก้ไขปัญหาให้ ด้วยการแจ้งเรื่องไปปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ พิจารณาเรื่องนี้ เพราะถือเป็นกรณีแรก ที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัย ได้ผลอย่างไรก็มาว่ากันอีกครั้ง
"ในส่วนของมหาวิทยาลัยเราก็มีเครื่องแบบที่ถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรที่ต้องปฏิบัติตามเหมือนกัน แต่เมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้น เราก็มาคุยกันว่าจะทำอย่างไร ซึ่งก็ได้ระบุไปว่า จะทำเรื่องปรึกษาหารือกันดูว่าจะทำอย่างไรกันดี จะแก้ไขปัญหาทางไหนได้บ้าง แต่ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรเลย ก็มีปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นเสียก่อน เรื่องมันก็ยุ่งไปใหญ่ นี่พี่สาวเขาก็มาโพสต์ต่อว่าอีก ถามหน่อยซิเขารู้ข้อมูลทั้งหมดแล้วหรือ ถึงพูดไปแบบนั้น เขามาอยู่ในเหตุการณ์ไหม และก็มีคนบางกลุ่มพยายามเชื่อมโยงเรื่องให้เป็นประเด็นความขัดแย้งทางศาสนาให้ได้ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องทำแบบนี้ พอพูดไปอธิบายไปก็หาว่าโกหกกัน แบบนี้มันยุติธรรมไหม"
รศ.ดร.พูลสุข ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ ได้เรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาดูแล้ว หนึ่งในนั้น คือ หนังสือที่ทางนิสิตแจ้งขอคืนเงิน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามเรื่องการใส่เครื่องแต่งกายได้ เพราะขัดต่อหลักศาสนา จึงขอเงินคืน เมื่อเป็นการตัดสินของตัวนิสิตเอง ทั้งที่ได้มีการพูดคุยหารือกันแล้ว ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไปดี ทางคณะก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว
"ดิฉันคิดว่าได้ชี้แจงข้อมูลในส่วนของคณะหมดแล้ว จากนี้ไปจะไม่ขอพูดหรือแสดงความเห็นเรื่องนี้อีก แต่สิ่งสำคัญในขณะนี้ไม่อยากให้มีการนำเรื่องนี้ไปโยงกับเรื่องศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ไม่ควรอย่างยิ่ง" คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ระบุ
ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่า สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ส่งแฟกซ์หนังสือถึงหน้าห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว