หมอประกิต โต้นักวิจัยยันร่างพ.ร.บ.ยาสูบไม่ลิดรอนสิทธิผู้ประกอบการ
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ชี้ร่างพ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่...ไม่ลิดรอนสิทธิประชาชนและผู้ประกอบการ ระบุต้องการแก้กฎหมายให้ทันสมัย เผยหลายประเทศทั่วโลกเอาจริงเอาจังหมดแล้ว วอนผู้ประกอบการเห็นใจสังคมบ้าง
จากกรณีนักวิจัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สรุปผลการวิจัยเรื่องพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์ยาสูบมีผลกระทบต่อกฎหมายหลายมาตราและมีการลิดรอนสิทธิของผู้ประกอบการ และประชาชนไปเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 (อ่านประกอบ:นักวิจัยหอการค้า ชี้ ร่างพ.ร.บ.ยาสูบลิดรอนสิทธิเสรีภาพของปชช.)
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรากรณีผลสรุปจากงานวิจัยดังกล่าวว่า การห้ามมิให้แบ่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้น และนักวิจัยมองว่า เป็นดาบสองคม ต้องอธิบายว่า การห้ามในข้อนี้มีอยู่ 2 ส่วน คือ การเพิ่มอายุของตัวผู้ซื้อจาก 18 ปีเป็น 20 ปี อีกส่วนคือการห้ามแบ่งขายสำหรับบุคคลในทุกๆอายุ ในด้านผลเสียที่ทำให้เกิดเป็นดาบสองคม ส่งผลต่อคนที่มีฐานะยากจนหรือผู้ที่ต้องการจะเลิกบุหรี่ ด้วยการซื้อบุหรี่เพียง 1 มวน มองเห็นว่า กฎหมายนี้เป็นกฎภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบของกรมอนามัยโลก มี 97 ประเทศทั่วโลกก็ออกกฎหมายนี้ วัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ เพราะ 88.3% ของเด็ก 15-20 ปีมีการซื้อบุหรี่แบบแบ่งขาย
“กฎหมายนี้ทำขึ้นเพื่อลดการเข้าถึงบุหรี่ในเด็กและเยาชน และในส่วนของคนที่มีฐานะยากจน ถ้าเขาซื้อไม่ได้ก็ต้องปรับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ แต่ถ้าเลิกได้ก็จะยิ่งดี เพราะบุหรี่ไม่มีประโยชน์ มีแต่ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย”
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ในการทำบุหรี่ซองเรียบมองว่า เป็นผลดี เพราะทางประเทศออสเตรเลียและประเทศอังกฤษมีการวิจัยในเรื่องของการลดพื้นที่ใช้ในการทำโฆษณา พบว่า ซองบุหรี่แบบเรียบ ทำให้ภาพคำเตือนเกิดความชัดเจนขึ้น ยังทำให้เกิดความดึงดูดใจน้อยลงในเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังพบว่า เด็กและเยาวชนเข้าใจผลิตภัณฑ์ยาสูบตามความเป็นจริงมากขึ้น ทำให้เกิดการอยากสูบน้อยลง รวมถึงในประเทศต่างๆ ก็ทยอยออกกฎหมายนี้ เช่น ไอซ์แลนด์ ฝรั่งเศส สหภาพยุโรป หรือ อียูทั้ง 28 ประเทศ ทางประเทศไทยเองควรต้องใส่มาตรานี้ลงในกฎหมาย
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงการทำผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบเรียบในออสเตรเลีย มีการใช้มา 2 ปีกว่า ไม่พบบุหรี่เถื่อน และไม่พบความลำบากในเรื่องของการค้า เพราะว่าการทำผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบเรียบนั้นไม่ใช่เรียบไปเฉยๆ เพราะยังมีชื่อยี่ห้อเขียนอยู่ เพียงแต่ห้ามใช้สีสันเท่านั้นเอง
ส่วนในเรื่องการแย้งกับกฎหมายอื่นนั้น ศ.นพ.ประกิต มองว่าเป็นรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ซึ่งทางกฤษฎีกาต้องมีการตรวจสอบ แล้วถ้าขัดแย้งต่อกฎหมายอื่นจริงก็ไม่สามารถออกได้ ไม่ทำให้ขัดกันอยู่แล้วจึงไม่ได้เป็นปัญหามาก
อย่างไรก็ตาม นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ยาสูบฉบับนี้ต้องเดินหน้าต่อ เพราะกฎหมายประเทศไทยเก่า มีการใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ต มือถือ ไม่มีบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีบารากุ เราจึงต้องปรับปรุงกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้ทันสมัย
ในขณะนี้ 180 ประเทศที่มีการลงในอนุสัญญายาสูบฯ ได้มีการปรับปรุงกฎหมาย ใน 180 ประเทศมี 80 ประเทศที่ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเหล่านี้ไปแล้ว และใน 49 ประเทศที่มีการออกกฎหมายใหม่ ก็พยายามทำตามข้อผูกพันที่มีอยู่ภายใต้อนุสัญญา เอามาใส่ในกฎหมายของตัวเองให้มันทันสมัย
“ถ้าเราไม่ทำ ความเสียหายก็มาเกิดกับประเทศเราเอง เด็กและเยาวชนก็มาติดบุหรี่มากขึ้น เพราะฉะนั้นพ.ร.บ.ฉบับนี้มีประโยชน์แน่นอน ทุกๆมาตรการมีหลักฐานวิจัยมาแล้วทั้งนั้น ที่พร้อมทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามาติดบุหรี่น้อยลง”
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงข้อห่วงใยกฎหมายนี้ต่อการการละเมิดสิทธิของผู้ประกอบการนั้นกฎหมายให้อำนาจเพื่อประโยชน์ของสาธารณะสุข เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่สามารถจำกัดสิทธิเขาได้ ผู้ประกอบธุรกิจยาสูบต้องไม่ลืมว่า ทางบริษัทมีกำไรปีละ 1 หมื่นล้านบาท ประเทศมีแต่เสีย เด็กติดบุหรี่ใหม่ปีละ 2 แสนคน ใน 70 % ที่ติดเลิกไม่ได้ไปไปตลอดชีวิต และในหนึ่งปีคนเหล่านี้ตายไป 550,000 คน มีอายุสั้นลงคนละ 2 ปี กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ลิดรอนอะไรมากมายเมื่อเทียบกับผลกำไรที่ทางผู้ประกอบการได้รับ
“บุหรี่มีสารก่อมะเร็งตั้ง 70 ตัว ที่ยังขายได้ขายได้เพราะถูกกฎหมาย ซึ่งในประเทศต่างๆต้องคอยควบคุม ค่อยๆลดจำนวนผู้สูบไป แต่สินค้าบุหรี่ก็ยังก่อความเสียหายต่อสังคมเรามหาศาล เราไม่ได้ห้ามขาย ไม่ได้ห้ามสูบ เพียงแต่ลดจำนวนการสูบของเด็กให้มันลดลง ให้จริงจังมากขึ้น เพราะใน 25 ปี จำนวนคนสูบเราไม่ได้ลดลงเลย เขาต้องเห็นแก่ส่วนรวมด้วยไม่ใช่เห็นแก่ประโยชน์ของเขา ต้องเข้าใจรัฐบาลไทยที่คุ้มครองสุขภาพของประชาชน”