ความจริงรายจ่ายการศึกษาไทย นักวิชาการชี้อุดหนุนทั่วถึงเท่าเทียม ต้องคิดใหม่
เปิดบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาไทย พบปี 2556 ไทยใช้จ่ายรวมด้านการศึกษากว่า 8 แสนล้านบาท มากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ทุ่มระดับปฐมวัยสูง และ “ต่ำเกินไป” ในระดับอาชีวะ-มัธยม
วันที่ 25 พฤษภาคม โครงการติดตามเศรษฐกิจ (TEF) ครั้งที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแถลงข่าว “ความจริงรายจ่ายการศึกษาไทย” โดย รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวถึงผลการศึกษาบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติของไทย ในปี พ.ศ.2551-2556 รวบรวมจากทุกแหล่งทั้งรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น ภาคครัวเรือน ภาคเอกชน พบว่า ในปี 2556 ประเทศไทยใช้จ่ายเพื่อการศึกษาไปกว่า 8 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 ของ GDP แบ่งเป็นใช้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 72 ระดับอุดมศึกษาร้อยละ 17 ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยใช้จ่ายสูงในระดับปฐมวัย และ “ต่ำเกินไป” ในระดับอาชีวะและมัธยม
“ขณะที่ครัวเรือนยังมีภาระในการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เป็นค่าธรรมเนียม ค่าเล่าเรียน ค่าเดินทางไปเรียน ค่าหนังสืออุปกรณ์ ค่าเครื่องแบบ ตัวเลขปี 2556 เฉลี่ยเกือบ 1 หมื่นบาทต่อคน โดยครัวเรือนยากจนจะรับภาระสูงกว่าครัวเรือนรวย”
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวอีกว่า แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการขยายโอกาสทางการศึกษา แต่การพัฒนาคุณภาพการศึกษากลับยังไม่น่าพอใจนัก สาเหตุหลักคือเงินเหล่านั้นไม่ได้ถูกบริหารอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังพบว่า งบประมาณรายจ่ายเพื่อการศึกษาร้อยละ 69 ถูกใช้ในด้านการผลิตนักเรียนและบัณฑิต โดยส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนครูอาจารย์ ซึ่งค่อนข้างสูง
“มีเพียงร้อยละ 5เป็นรายจ่ายเพื่อพัฒนาสื่อวิธีการเรียนการสอน รวมถึงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ถือว่าค่อนข้างต่ำ หมายความว่า มีการใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพค่อนข้างน้อย”
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า รายจ่ายต่อหัวสำหรับนักเรียน ประมาณ 53,000 บาทต่อคนต่อปีนั้น ต้นทุนเฉลี่ยต่อหัวในการจัดการศึกษาของเอกชนยังต่ำกว่าของรัฐบาลประมาณร้อยละ 22 ทั้งนี้เพราะรัฐต้องดูแลโรงเรียนจำนวนมากที่มีขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท และมีนักเรียนจำนวนน้อย ทำให้ต้องใช้ครูและผู้บริหารจำนวนมาก อีกทั้งนักเรียนที่เลือกเข้าเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนกว่า โรงเรียนรัฐจึงมีภาระเพิ่มในการอุดหนุนนักเรียนกลุ่มนี้
หัวหน้าโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ กล่าวถึงความคุ้มค่าการลงทุนเพื่อการศึกษานั้น ต้นทุนการดำเนินการต่อหัวของภาครัฐ ของโรงเรียนของรัฐที่อยู่ในระดับสูงต้องชอบด้วยเหตุผล ตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ และความจำเป็ของนักเรียน
“โรงเรียนของรัฐขนาดเล็กในเมือง มีทางเลือกอื่น หากไม่จำเป็น ควรพิจารณาควบรวม และพิจารณาสนับสนุนโรงเรียนดีระดับตำบลให้มีคุณภาพ กลายเป็นทางเลือกของผู้ปกครอง”รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว และว่า ความซับซ้อนของการยุบ หรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก อย่าลืมว่า มีตำแหน่งผู้อำนวยการ ซึ่งเรื่องนี้มีผลเสียผลประโยชน์ ฉะนั้นจะทำอย่างไรถึงจัดการเรื่องนี้อย่างรอมชอม
ทั้งนี้ รศ.ดร.ชัยยุทธ ยังเสนอให้ปรับสัดส่วนการลงทุนระดับมัธยม โดยเฉพาะอาชีวะ เน้นการใช้ทรัพยากรเพื่อความเหลื่อมล้ำ มากกว่าการกระจายอย่างเท่าเทียมกัน ทั่วถึง โดยคำนึงถึงความแตกต่างตามพื้นที่ภูมิศาสตร์และความจำเป็นของผู้เรียน อีกทั้งยังสามารถระดมทรัพยากรจากองค์กรภาคเอกชน และภาคธุรกิจเอกชน ให้หันมาส่งเสริมจัดการศึกษาได้มากขึ้น
“การที่ต้นทุนเฉลี่ยการจัดการศึกษาของรัฐสูง มีเหตุผล เช่น กรณีโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ประชากรเบาบาง โรงเรียนเอกชนไม่มีทางไปลงทุนเรื่องการศึกษา ดังนั้น เป็นภาระที่รัฐต้องรับภาระโรงเรียนเหล่านี้ คำถาม คือ เรารับได้ไหม สมเหตุสมผลขนาดไหน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:เปิดบัญชีรายจ่ายการศึกษาไทยลงทุนสูง 8 แสนล. ผลลัพธ์กลับสวนทาง