- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- เปิดบัญชีรายจ่ายการศึกษาไทยลงทุนสูง 8 แสนล. ผลลัพธ์กลับสวนทาง
เปิดบัญชีรายจ่ายการศึกษาไทยลงทุนสูง 8 แสนล. ผลลัพธ์กลับสวนทาง
เปิดบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติไทย 80% ลงเงินเดือนครูและงบบริหารจัดการ เหลือเพียง 5% งบพัฒนาผู้เรียน อ.เศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้ปัญหาเหล่านี้สะท้อน นโยบายด้านการเงินเพื่อการศึกษาตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษาปี 2542 ไม่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ตามเป้าหมายได้
วันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องบอลลูม อินฟินิตี้ 2 โรงแรมพลูแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UNESCO Institute for Statistics/UIS) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเรื่องการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (Regional Workshop on National Education Accounts/NEA) โดยนำเสนอข้อมูลที่สะท้อนการลงทุนด้านการศึกษา ทั้งในส่วนภาครัฐ เอกชน และครัวเรือน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจทางนโยบาย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม ลาว และเนปาล
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กล่าวถึงสถิติผ่านระบบบัญชีรายจ่ายเพื่อการศึกษา พบว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณสูงอย่างมากในการจัดการศึกษาเมื่อเทียบกับนานาชาติ ผลจากการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาไทยระหว่างปี 2551-2556 จากรายงานของสสค.ทำให้เห็นว่า รายจ่ายรวมด้านการศึกษาของไทยสูงถึง 800,000 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี แต่ประสิทธิผลกลับไม่สัมพันธ์กัน จึงต้องดูว่า มีจุดรั่วตรงไหน ซึ่งพบว่า 80% เป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าบริหารจัดการ เหลือไม่ถึง 5% เป็นเงินเพื่อพัฒนาการศึกษาในห้องเรียน ระบบบัญชีรายจ่ายเพื่อการศึกษาจึงมีความสำคัญเพื่อดูว่าใช้เงินลงไปที่ใด ใช้ไปกับใคร มีประสิทธิภาพอย่างไร และระบบบัญชีรายจ่ายเพื่อการศึกษาต้องไปมากกว่านี้ในการดูผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเพื่อให้เห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น
ขณะที่ดร.กวาง โจ คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาเพื่อตอบคำถามสำคัญถึงเส้นทางการอุดหนุนและการแจกจ่ายงบประมาณ 4 ประการ ได้แก่ 1) แหล่งทุนทางด้านการศึกษา 2) จุดเปลี่ยนสำคัญในบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และวิธีการใช้จ่ายและการอุดหนุนเงิน 3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้เงินอุดหนุนการศึกษา และ 4) แหล่งทุนและบริการต่างๆ รวมถึงผู้ได้รับผลประโยชน์
ข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นการไหลเวียนของงบประมาณที่อุดหนุนด้านการศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งปัจจุบันมี 8 ประเทศ ที่ริเริ่มจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติอย่างเป็นระบบ ได้แก่ ประเทศไทย ลาว เนปาล เวียดนาม ยูกันดา เซเนกัล โกตติวัวร์ กาน่า และซิมบับเว เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการงบประมาณด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
"โครงการ NEA จึงไม่เพียงช่วยให้เห็นภาพความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนในการลงทุนด้านการศึกษา แต่ยังช่วยในการตัดสินใจได้ว่า ควรอุดหนุนงบประมาณลงไปจุดใดจึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย ความร่วมมือดังกล่าวในระดับนานาชาติ ทำให้เชื่อมั่นว่า อนาคตประเทศไทย และประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกจะสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาของแต่ละประเทศร่วมกันเพื่อประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและในระดับชาติต่อไป"
ส่วนดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติของไทย ในปี พ.ศ.2551-2556 พบว่า รายจ่ายรวมด้านการศึกษาของไทยหากรวมจากทุกแหล่งทั้งรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น ภาคครัวเรือน ภาคเอกชน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 805,239 ล้านบาทในปี 2556 โดยรายจ่ายส่วนใหญ่กว่า 64% ถูกใช้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นสัดส่วนที่สูงสุดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าจำนวนนักเรียนเฉลี่ยจะลดลงปีละ 2 แสนคนอย่างต่อเนื่องก็ตาม
สำหรับกิจกรรมรายจ่ายงบประมาณการศึกษาไทยในสัดส่วนที่สูง 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1) ค่าจ้างและเงินเดือนครู 69% ตามด้วย 2) การบริหารจัดการทั้งค่าตอบแทนผู้บริหารและค่าสาธารณูปโภค 12% 3) เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา 5.5% 4) รายจ่ายเพื่อการลงทุนและวิจัย 6% และ5) กิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียน 5%
“ในภาพรวมประเทศไทยใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาในระดับที่เพียงพอ แต่ผลลัพธ์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ทั้งในด้านคุณภาพ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลการประเมินระหว่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสสำหรับนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจน การผลิตบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ปัญหาเหล่านี้สะท้อนว่า นโยบายด้านการเงินเพื่อการศึกษาตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษาปี 2542 ไม่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา ทั้งในเรื่องการจัดสรรงบประมาณลงไปเติมในส่วนที่ขาดและการพัฒนาผู้เรียนและกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพผู้เรียน ส่วนเงินเดือนครูและค่าวิทยฐานะต้องหาทางเชื่อมโยงการเพิ่มขึ้นของงบประมาณส่วนนี้เข้ากับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนที่จะต้องเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน”ดร.ชัยยุทธ กล่าว
ด้านนายชานคาร์ บาฮาดูร์ ธาพา รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาด้านการติดตามและวางแผน กระทรวงศึกษาธิการเนปาล กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้ปัจจุบันมีห้องเรียนที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศจำนวน 16,000 ห้องเรียน ทำให้ต้องมีการปิดเรียนอย่างน้อย 15 วัน โดยกระทรวงศึกษาธิการเนปาลได้วางแผนด้านงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา เริ่มจากการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานของสถานศึกษาเพื่อให้สามารถเปิดใช้งานได้ การจัดหาที่พักสำรองให้แก่ครูและนักเรียน จากนั้นจึงค่อยทำการปรับปรุงให้มีสภาพคงเดิม ซึ่งการจัดทำระบบบัญชีรายจ่ายเพื่อการศึกษาร่วมกับสสค.และองค์การยูเนสโกเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการเนปาลให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อให้ระบบการจัดทำบัญชีรายจ่ายการศึกษาถูกนำไปใช้ในการบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดท่ามกลางข้อจำกัดของเหตุการณ์ภัยพิบัติ