ฟังอีกด้าน ‘ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์’ หลังโดนวิพากษ์หนังสือปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิดฯ
‘ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์’ โต้เอ็นจีโอวิพากษ์หนังสือ ‘ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิดฯ’ เขียนหนุนปุ๋ยเคมี เตือนระวังพูดไม่ดีเสี่ยงละเมิดสิทธิ ระบุทำตามหน้าที่นักวิชาการ รู้อะไรพูดไปอย่างนั้น เดินหน้าคัดค้านต่อ
เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่สิ่งดีที่สุด สิ่งดีที่สุด คือ เกษตรปลอดสารพิษ
นี่คือคำยืนยันของ ศ.เกียรติคุณ ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้เขียนหนังสือ ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเครือข่ายภาคประชาสังคมว่า มีวาระซ่อนเร้น ยัดเยียดข้อมูลผิด ๆ เพื่อหวังเปลี่ยนแนวคิดให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยเคมีแทนอินทรีย์มากขึ้น
โดยความตอนหนึ่งในคำนำของหนังสือ ศ.เกียรติคุณ ดร.อำนาจ เขียนไว้ว่า “ปัจจุบันได้เกิดกระแสความคิดและหรือความเชื่ออย่างกว้างขวางในระดับโลก รวมถึงในประเทศไทยว่า การผลิตพืชอินทรีย์เป็นการผลิตที่ดีที่สุด ทั้งในแง่ต้นทุนการผลิตพืชต่ำ มีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดมลพิษ หรือมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง ไม่มีสารพิษในผลผลิต ทำให้โรคและแมลงทำลายพืชน้อย และคุณภาพด้านโภชนาการของผลผลิตสูง
การผลิตพืชอินทรีย์ในที่นี้ หมายถึง การผลิตพืชที่ไม่ใช่ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีเลย เช่น ไม่ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง ไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช รวมทั้งไม่ใช้ปุ๋ยเคมี การห้ามใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งไม่ใช่สารพิษ แต่เป็นสารที่ให้ธาตุอาหารพืช เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า ขัดกับหลักความจริงและหลักวิชาการ โดยความจริงปุ๋ยเคมีมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ทำได้ดีกว่าและมีความได้เปรียบปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ...”
ศ.เกียรติคุณ ดร.อำนาจ เล่าว่า หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลผลงานวิจัยต่าง ๆ ส่วนใหญ่หลังปี 2544 เพื่อนำมาสรุป ฉะนั้นรายละเอียดทั้งหมดจึงมีเอกสารอ้างอิง และตั้งใจแจกให้แก่ทุกคนเพื่อชี้ให้เห็นว่า ความจริงเป็นอย่างไร
"แต่จะเชื่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ ซึ่งน่าเสียดายหากปล่อยให้เกษตรกรเดินผิดทาง โดยเลือกเชื่อหลักเกษตรไสยศาสตร์มากกว่าเชื่อหลักวิชาการ"
ผู้เขียนหนังสือ ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม ทราบดีถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่รู้สึกน้อยใจ แต่ลึก ๆ แล้ว เขาบอกว่า ดีใจด้วยซ้ำ เพราะทำให้มีคนสนใจอ่านหนังสือเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อจะได้ทราบความจริงเป็นอย่างไร และได้แจ้งให้สังคมทราบแล้ว จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็นอนตายตาหลับ แต่ขอเตือนคนพูดไม่สร้างสรรค์ต้องระมัดระวังอาจเข้าข่ายล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือสถาบันการศึกษาได้
“ผมทำหน้าที่นักวิชาการที่ดีแล้ว รู้อะไรก็พูดไปตามที่รู้ ท่านจะคิดอย่างไรคงไปจับมือทำไม่ได้ แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่สิ่งดีที่สุดจริง อยากให้สังคมรู้ว่า ผมได้ทักท้วงแล้ว”
นักวิชาการ มก. ยืนยันว่า หากเขาไม่ทำหน้าที่ อนาคตอาจมีคนถามหาอาจารย์อำนาจอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ศึกษาเรื่องนี้ให้สังคมได้รู้
ต่อให้อีก 50 ปี ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่า อินทรีย์ 100%
อาจารย์อำนาจ ยอมรับ การปลูกพืชอินทรีย์นั้นมีข้อดี เพราะปลอดสารพิษ แต่ผลวิจัยที่ศึกษามา ต่างไม่ยืนยันว่า เกษตรอินทรีย์ดีต่อสิ่งแวดล้อม ตรงกันข้ามกลับก่อให้เกิดมลพิษ และมีโอกาสสะสมคราบโลหะหนักในดินและทำให้ดินแข็งได้
อีกอย่างหนึ่ง คือ เปิดช่องให้มีการหลอกลวงผู้บริโภค เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พืชที่อ้างว่า ‘อินทรีย์’ ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีตามกฎที่กำหนดหรือไม่ ต่อให้อีก 50 ปี ก็ไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่า เป็นพืชอินทรีย์ 100% นอกจากบังคับให้ใส่ปุ๋ยเคมีในรูปไอโซโทปเท่านั้น แต่หากบังคับไม่ได้ ก็พิสูจน์ไม่ได้เช่นกัน
“ใครปลูกอะไรก็อ้างเป็นอินทรีย์ มะพร้าวอินทรีย์ ข้าวหอมอินทรีย์ แต่ไม่มีใครรู้ว่า แอบใส่ปุ๋ยเคมีหรือไม่ ดังนั้น จึงสนับสนุนให้ ‘ปลูกพืชปลอดสารพิษ’ เเละ 'ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษ' มากกว่า โดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ใช้ปุ๋ยเคมีได้ เพราะไม่นับเป็นสารพิษ และสามารถนำพืชตรวจหาสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน หากพบผู้กระทำผิดก็ลงโทษได้”
ถ้าไม่เชื่อเขาท้าให้ลองไปสอบถามชาวไร่อ้อยที่ทำด้วยตัวเองและพูดความจริง จะทราบว่า การใส่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียว แม้จะช่วยให้ลำต้นใหญ่ แต่กลับไม่เกิดความหวาน เพราะอ้อยต้องการโพแทสเซียม ดังนั้นจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารดังกล่าวด้วย เช่นเดียวกับการปลูกผลไม้ชนิดต่าง ๆ
พร้อมตอกย้ำหนักแน่นว่า ข้อมูลทั้งหมดมีงานวิจัยรองรับ ทุกอย่างมีเหตุมีผล มิได้พูดขึ้นจากความคิดส่วนตัว
แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า งานวิจัยที่อ้างอิงถูกต้องสมบูรณ์ นักวิชาการ มก.ตอบทันทีว่า ให้หานักวิชาการที่เป็นกลางมาอ่านงานวิจัยและประเมินว่า ผลสรุปถูกต้องหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะให้ไปเชื่อใคร เราจะเลือกใช้ความเชื่อและปฏิบัติตามหลักเกษตรไสยศาสตร์เชียวหรือ ก่อนเปรียบการทำไปตามความเชื่อเหมือนถูต้นไม้ขอเลขแทงหวย แทงร้อยรายก็ถูกสักราย เพราะแต่ละคนเห็นตัวเลขแตกต่างกัน
หากยังไม่มีวิธีตรวจสอบพืชอินทรีย์ 100% จริงหรือไม่ ในอนาคตต้องทำอย่างไร ซึ่ง ศ.เกียรติคุณ ดร.อำนาจ ไม่เห็นทางออกเช่นกัน นอกเสียจากควบคุมแปลงปลูกพืชอินทรีย์ตลอดเวลา ซึ่งกลางวันตรวจได้ แต่กลางคืนอาจตรวจไม่ได้ และจะกลายเป็นจังหวะให้แอบนำปุ๋ยเคมีมาใส่
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีองค์กรรับรองมาตรฐาน ถามว่า เมื่อคนรับรองกลับบ้านแล้ว เกษตรกรก็อาจแอบใส่ปุ๋ยเคมีก็ได้ แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เป็นพืชอินทรีย์จริง นอกจากอาศัยความเชื่อใจเท่านั้น
“ถ้าเห็นทางออกก็ช่วยบอกหน่อย ผมจะได้เปลี่ยนคำสรุปในหนังสือ ยินดีจะเปลี่ยนคำสรุปให้ หากเห็นทางว่ามีวิธีตรวจอย่างไร”
ทั้งนี้ คำสรุปในหนังสือ ระบุว่า การปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยทั้งสามอย่าง ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยเคมี ให้เหมาะสมกับดินและพืช ทำให้ต้นทุนผลผลิตต่ำกว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษน้อยกว่า หรือมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่า ทำให้พืชและแมลงทำลายพืชน้อยกว่า และคุณภาพด้านโภชนาการของผลผลิตสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชอินทรีย์
“การปลูกพืชอินทรีย์ไม่ใช่สิ่งดีที่สุด แต่คงห้ามใครให้เลิกทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ เพียงแค่ต้องการให้ผู้บริหารประเทศทราบว่า ความจริงคืออะไร และควรเลือกดำเนินนโยบายรูปแบบใด"
ทั้งนี้ ยืนยันจะคัดค้านต่อไป เเต่คงไม่ถึงขั้นวางระเบิด .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:3 มุมมองคนเกษตรอินทรีย์ วิพากษ์หนังสือนักวิชาการมก.เขียนหนุน “ปุ๋ยเคมี”