3 มุมมองคนเกษตรอินทรีย์ วิพากษ์หนังสือนักวิชาการมก.เขียนหนุน “ปุ๋ยเคมี”
หนังสือเล่มนี้ เป็นตรรกะป่วยที่สุดเท่าที่เคยเจอ แล้วหนังสือเล่มยังส่งไปยังสถานที่ราชการ หน่วยงานต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่เกิดขึ้นสถาบันการเกษตรที่มีชื่อเสียง
เมื่อเร็วๆ นี้ สภาเกษตรแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน จัดเวทีสัมมนาวิชาการ “ความจริง...เรื่องเกษตรอินทรีย์” ณ อาคารวิทยบริการ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ช่วงหนึ่งในเวทีมีการวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเรื่อง “ปลูกพืชอินทรีย์ ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม”
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นงานต่อมาจากหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เขียนโดยคนเขียนคนเดียวกัน คือสมาคมการค้าปุ๋ย ซึ่งแปลกใจมากว่าเผยแพร่ออกมาในนามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อย่างไร ถือเป็นเรื่องน่าอับอาย มีการใช้งานตำแหน่งของงานวิชาและชื่อมหาวิทยาลัย ซึ่งมีชื่อเสียงมายาวนานเพื่อเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ของบริษัทขายปุ๋ย
หนังสือเล่มนี้แย่อย่างไรนั้น ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เกษตรแบบอินทรีย์เป็นการเกษตรแบบองค์รวม แต่ในหนังสือเล่มนี้เป็นตรรกะป่วย ใส่ความเชื่อผิดๆ เป็นความเชื่อที่ว่า ถ้าใส่ปุ๋ยเคมีลงไปเท่าไหร่จะได้ผลผลิตมากเท่านั้น ปุ๋ยเคมีเท่ากับผลผลิตพืช ต้องใส่เท่าไหร่ถึงจะคุ้มค่า เป็นตรรกะป่วยที่สุดเท่าที่เคยเจอ แล้วหนังสือเล่มยังส่งไปยังสถานที่ราชการ หน่วยงานต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่เกิดขึ้นสถาบันการเกษตรที่มีชื่อเสียง
“การใช้ปุ๋ยเคมีในการทำเกษตรกรรมมีการศึกษามาโดยตลอด การใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไปนั้นจะเห็นว่า ผลผลิตยิ่งน้อยลง และเลวร้ายกว่าเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมีด้วยซ้ำ มีสารตกค้างในพืชผลไม้เกินกว่ามาตรฐาน”นายวิฑูรย์ กล่าว และว่า หนังสือเล่มนี้บอกเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มาตรฐาน แต่ความเป็นจริงตรงกันข้าม แม้ในตอนนี้เกษตรกรหลายท่านเห็นผลแล้ว แต่เราอยากให้เห็นผลในอนาคตด้วย
ส่วนนายวิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้อำนวยการ Green net กล่าวถึงผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ เขียนขึ้นโดยปราศจากความเข้าใจกลไกความสัมพันธ์ของวงจรแร่ธาตุอาหารที่ซับซ้อนดังกล่าว ลดทอนความสัมพันธ์ของการเจริญเติบโตของพืชกับปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี โดยชักจูงให้เชื่ออย่างผิดๆ โดยปราศจากการทดลองหรือการศึกษาใดๆ รองรับว่า “ปริมาณการใส่ปุ๋ยเคมีมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลผลิตที่ได้รับ” และ “การปลูกพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตเท่ากันต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณมาก เพื่อให้มีธาตุอาหารหลักมากในระดับเดียวกับปุ๋ยเคมี”
นอกจากนี้ นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ผู้เขียนยังเปรียบเทียบ “ผลผลิตพืชที่ได้” โดยเปรียบเทียบ “ธาตุอาหารหลัก” (N-P-K) ที่มีใน “ปุ๋ยเคมี” กับที่มีใน “ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก” แล้วสรุปเอาเองว่า การซื้อปุ๋ยเคมี เปรียบเทียบกับการซื้อปุ๋ยอินทรีย์ ถ้าให้ได้ผลผลิตพืชเท่ากันจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 8-70 เท่า ขณะเดียวกันยังมีความเชื่อแบบผิดๆ ของชาวเกษตร ว่า เกษตรแบบอินทรีย์มีผลผลิตน้อยกว่าการเกษตรแบบเคมี จริงๆแล้วไม่ได้เป็นข้อสรุปตายตัว แต่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็ได้ "แต่บอกได้เลยเกษตรแบบอินทรีย์ให้ผลผลิตที่ดีกว่าเกษตรเคมีเป็นกี่เท่าก็ได้"
ด้านนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ตั้งข้อสังเกตหนังสือเล่มดังกล่าวเช่นเดียวกันว่า เขียนขึ้นมาแบบรู้ไม่จริง แถมมีอีแอบด้วยจ้างพิมพ์ แล้วเอามาแจกฟรี โดยไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้สนับสนุน
“สารเคมีดีตรงไหน มีแต่ทำลายล้าง ผลกระทบที่ตามมามีมากมาย แล้วจะมาบอกว่า เกษตรเคมีดีกว่า เป็นไปได้หรือ แล้วยังจะมาบอกว่าปุ๋ยเคมีไม่มีสารพิษ แค่เขียนคำนำก็ผิดแล้ว คนอ่านหนังสืออ่านคำนำกับสารบัญ ก็พอรู้แล้วว่า เนื้อหาข้างในน่าจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นการไม่รู้แล้วเอาเขียนจะยิ่งทำให้คนไม่รู้ ยิ่งไม่รู้เข้าไปอีก การมาว่า ระบบอินทรีย์นั้นแสดงว่าคนเขียนรู้จักอินทรีย์ยังไม่ดีพอ เพราะระบบอินทรีย์ต้องแบบองค์รวม คน สัตว์ พืช การทำเกษตรเคมีทำให้เกษตรยากจน ไม่มีคนไหนที่จะร่ำรวย แต่บางคนก็ยังทำต่อ”
ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวด้วยว่า การทำเกษตรแบบอินทรียีเป็นการคิดแบบองค์ เกษตรอินทรีย์เป็นเกษตรแบบธรรมมะ แต่เกษตรเคมีเป็นฝ่ายอธรรม “ผมพูดตามหลักธรรม แล้วการเกษตรแบบเคมีเป็นธรรมมะตรงไหนไม่มีเลยแม้น้อย แถมเพิ่งเกิดด้วย และกำลังจะย่อยสลายลงไป เพราะไม่ใช่เป็นการเกษตรแบบยั่งยืน”