แก้บ่วงห่วงโซ่อุปทาน ‘ปลาป่น-ข้าวโพด’ บ่อนทำลายสิ่งแวดล้อม
การจับปลาเป็ดด้วยอวนลากนำมาผลิตปลาป่นและการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงบุกรุกป่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งทั้งหมดล้วนมีการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ของบริษัทขนาดใหญ่
ทั้งนี้ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาจากการถูกทำลาย จึงนำมาสู่การถกเถียงและทำความเข้าใจในเวทีเสวนา ‘ปลาป่น ข้าวโพด หมอกควัน น้ำท่วม และอาหาร’ ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิชีววิถี และภาคีเครือข่าย ณ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ
‘บรรจง นะแส’ นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุถึงสถานการณ์ประมงไทยกำลังถูกเขย่าให้เปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) โดยเฉพาะกฎประมง IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing) ซึ่งตลาดภายนอกเป็นตัวกำหนดทุนภายใน อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ ที่ EU พูดถึงล้วนเคยเกิดขึ้นทั้งสิ้น
ทั้งนี้ การพูดถึงแรงงานทาสนำมาสู่ประเด็นสินค้าเกษตรส่งออก ‘กุ้ง’ ของซีพีที่ได้รับผลกระทบสูงสุด เพราะเกี่ยวโยงไปสู่ ‘ปลาป่น’ นำไปเป็นอาหารกุ้ง ฉะนั้นปัจจัยภายนอกจึงนำไปสู่การแก้ปัญหาอื่น ๆ ในทะเลไทยโดยปริยาย
“ซีพีมีอำนาจเหนือตลาด ขณะเดียวกันต้องการรักษาภาพลักษณ์ เพราะในอนาคตจะกลายเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่าง ความพยายามแก้ไขปัญหาเรืออวนลากทำปลาป่น แต่เมื่อฝ่ายการตลาดกังวลจะแพ้คู่แข่ง ซีพีหยุด เบทาโกรไม่หยุด ที่สุดแล้วก็ต้องคิดถึงต้นทุนกำไร หากเรื่องเหล่านี้ได้รับการตีแผ่มากขึ้น เชื่อว่าทั้งสองบริษัทจะต้องทบทวน”
(บรรจง นะเเส )
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การประมง ฉบับใหม่ กำลังรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งไร้มาตรการยกเลิกเครื่องมือทำลายล้าง ประเภทอวนรุน อวนลาก และเรือปั่นไฟ ขณะที่อินโดนีเซีย ประกาศยกเลิกการใช้อวนลากแล้ว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้อำนาจสิทธิชุมชนในการปกป้องทะเล ส่งเสริมให้ชาวประมงที่มีเครื่องมือถูกต้องเข้มแข็งขึ้น และปะทะกับเจ้าของเรือที่มีเครื่องมือทำลายล้างได้เกือบทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาดหยุดเครื่องมือเหล่านี้ อาจนำมาสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ได้
หากรัฐมีคำสั่งให้เรือประมงยกเลิกเครื่องมือทำลายล้าง บรรจง บอกว่า ต้องมีมาตรการเยียวยากรณีเลิกทำประมง รัฐต้องจ่ายค่าเรือให้ แต่ปัญหาของไทย คือ มีเรือเถื่อนกับเรือสวมทะเบียนจำนวนมาก ทำให้รัฐตัดสินใจใช้นโยบายขึ้นทะเบียนเรือประมงให้หมด ก่อนจะซื้อภายหลัง ยอมกลืนเลือดเพื่อให้หยุดปัญหาเหล่านี้
“การทำร้ายทะเลด้วยอุตสาหกรรมปลาป่นมีถึงร้อยละ 18 หรือ 3.5 แสนตัน/ปี ทำให้ลูกปลาที่จะเติบโตเป็นปัญหาให้สังคมไทยมโหฬาร ถ้าปล่อยอยู่อย่างนี้ ทะเลไม่มีทางรอด จึงวอนขอจำนวนดังกล่าวเหลือไว้ให้ลูกหลาน” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว และตั้งคำถามว่า อินโดนีเซียทำได้ ทำไมไทยทำไม่ได้!
‘สฤณี อาชวานันทกุล’ กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากงานวิจัยของผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนำเสนอทางเลือกให้ชาวบ้านในพื้นที่ จ.น่าน หลายกลุ่มนำพืชชนิดอื่นมาปลูกทดแทน
ทั้งนี้ สิ่งที่สามารถทำได้ คือ การสร้างทางเลือกแก่เกษตรกร สร้างการตื่นตัวของผู้บริโภค โดยกรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังไม่เห็น เพราะมีห่วงโซ่อุปทานยาวมาก แต่กรณีปลาเป็ดที่นำไปผลิตปลาป่นนั้น เกิดการเรียกร้องและตื่นตัวในต่างประเทศประเด็นแรงงานทาส เพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง
ผู้บริหาร ป่าสาละ มองต่อว่า หากในปีนี้มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาก แล้วยังไม่มีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าปีหน้าปัญหาก็คงไม่หายไป ถ้าพฤติกรรมยังไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนเดิม หรือหนักกว่าเดิม ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่ทุกคนต้องออกมาเรียกร้อง
“เราไม่อยากเห็นการแก้ปัญหาหนึ่งไปสร้างอีกปัญหาหนึ่ง ดังเช่น การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม กลับไปกระทบปัญหาความยากจน ทั้งนี้ ทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลา” สฤณี กล่าว และว่า การแก้ปัญหาหมอกควัน จ.เชียงใหม่ มีความคิดต้องแบ่งกันเผาพื้นที่เป็นระลอก ไม่ใช่พร้อมกันทีเดียว กำหนดปริมาณรับซื้อข้าวโพด แทนที่จะรับซื้อพร้อมกัน
สุดท้าย เราเชื่อว่า เรื่องเหล่านี้หนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานให้ยั่งยืน
‘อุบล อยู่หว้า’ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า ลูกปลาทู ลูกม้าน้ำ ในทะเล นำไปคลุกกับข้าวโพดบด ซึ่งใช้พื้นที่ป่าเขาบนดอยทางภาคเหนือ นำมาเป็นอาหารสัตว์ เพื่อผลิตสินค้าการส่งออกนั้น กลุ่มทุนมองว่าเป็นการจัดการทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ของบรรษัท
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่พี่น้องชาวปกากะญอทำไร่หมุนเวียนถูกเผาพื้นที่ขับไล่ แต่การเปิดป่าเพื่อปลูกไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภูเขากลับไม่มีปฏิบัติการทางกฎหมาย เพราะระบบบรรษัทอุตสาหกรรมมีอำนาจเหนือกลไกรัฐ จึงทำให้ระบบนี้ดำเนินต่อไปได้
ผู้ประสานเครือข่ายฯ กล่าวต่อว่า บนการขยายตัวของระบบบรรษัทอุตสาหกรรม ผลที่เกิดขึ้นประการหนึ่ง คือ ฟาร์มปศุสัตว์ เลี้ยงหมูขุนขึ้นทะเบียนกว่า 9 หมื่นฟาร์ม เฉลี่ย 1 ฟาร์ม เลี้ยงประชากรได้ 960 คน ทั้งที่การเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ควรเป็นอาชีพของเกษตรกรรายย่อย จึงถือเป็นระบบทุบทำลายโอกาสทำมาหากินและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหาร
“กฎหมายตามไม่ทันการลงทุนในระบบ แม้จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นถึงระดับนายพล แต่กลับไม่กล้าแตะ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542” เขา กล่าว และมีข้อเสนอให้หยุดปลูกพืชล้มลุกในพื้นที่ลาดชันภาคเหนือทันที หันมาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน แต่ไม่ควรเปิดเป็นพื้นที่เตียนโล่ง
ขณะที่ ‘อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล’ ศูนย์ศึกษาความเป็นธรรม คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ (มช.) บอกถึงปัญหาว่า บริษัทขนาดใหญ่ผูกขาดการตลาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ ระบบเกษตรพันธสัญญา ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งหากนำมาต่อเป็นจิ๊กซอว์จะพบมีการผูกขาดเบ็ดเสร็จตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้บริษัทขนาดใหญ่ยังจับมือกับสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกรที่ได้รับการยืนยันเข้าร่วมโครงการ ตั้งคำถามว่า มีการนำประเด็นวินัยทางการเงินและความสามารถการใช้หนี้พิจารณาด้วยหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงหลักธรรมาภิบาล
นักวิชาการ มช. กล่าวต่อว่า อีกปัญหาหนึ่ง คือ รัฐดำเนินนโยบายสอดคล้องกับบริษัทขนาดใหญ่ เมื่อค้นมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเกษตรพันธสัญญาจะพบไม่มีการระบุถึงการคุ้มครองเกษตรกรในระบบดังกล่าวเลย แต่กลับให้บริษัทเข้าไปส่งเสริมในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่รัฐควรทำหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกคนอย่างเสมอหน้า ไม่ควรเอื้อประโยชน์เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ที่น่าตกใจ คือ การอบรมผู้บังคับใช้กฎหมายสูงสุด กลับเชิญบริษัทขนาดใหญ่เป็นผู้ให้ความรู้ว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาคืออะไร ซึ่งหากให้เกิดความเป็นธรรมควรนะผู้ประสบปัญหาจากระบบดังกล่าวเข้าไปด้วย เพราะหน้าที่เพื่อรักษาความเป็นธรรม ไม่ใช่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท
อาจารย์ไพสิฐ มีข้อเสนอให้สร้างพื้นที่ระหว่างประชาชนด้วยกันทำให้ความจริงปรากฎและเกิดความตระหนักจนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา ส่วนภาครัฐต้องสนับสนุนกลไกสร้างความเป็นธรรม มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ เชื่อมโยงกับการปกครองระดับท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบว่า บริษัทปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่
“แก้กฎหมายให้การฟ้องคดีหมิ่นประมาท โดยการนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผย ไม่ควรถูกดำเนินคดี เพื่อให้คนกล้าพูดมากขี้น” นักวิชาการ มช. กล่าว และว่ากระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและอาญาต้องสร้างวาระพิเศษ ดูแลเฉพาะกลุ่ม เช่น เกษตรกร แรงงานนอกระบบ เป็นต้น สร้างมาตรการช่วยเหลือ
สุดท้าย สถาบันการศึกษาต้องสร้างแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่าง การพัฒนากฎหมายให้ผู้รับประโยชน์สุดท้ายในการปลูกข้าวโพดเป็นคนจ่ายภาษีสิ่งแวดล้อม แทนการให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และต้องให้กระบวนการยุติธรรมไม่ผูกติดกับตัวอักษร แต่ต้องเข้าถึงความเป็นธรรมได้
(จากซ้าย:อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล-อุบล อยู่หว้า)
ฝ่าย ‘มงคล วุฒิธนากุล’ ที่ปรึกษากฎหมายอิสระ ชวนทุกคนลองสมมติสถานการณ์เป็นผู้มีอำนาจรัฐใหญ่ที่สุดในประเทศ สามารถสั่งการได้ทันที มีกฎหมายรองรับ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เคยออกประกาศให้ปลาทุกตัวที่จับในแหล่งน้ำของไทยต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 3 วัน เพื่อออกใบรับรอง มิฉะนั้นจะถือผิดกฎหมายและโรงงานห้องเย็นห้ามรับซื้อ
เนื่องจากการออกประกาศฉบับนี้มีสาเหตุจาก EU กำหนดว่า ต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ ตั้งคำถามว่า หากนำมาใช้ในกรณีข้าวโพด ห้ามโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดจากแหล่งไม่ใช่พื้นที่ส่วนบุคคล สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ วัตถุดิบขาดแคลน คนตกงาน ผลิตอาหารไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งผลกระทบจะเกิดขี้นอย่างต่อเนื่อง
ที่ปรึกษากฎหมายอิสระ กล่าวต่อว่า จากเหตุผลดังกล่าวจึงนำมาสู่การชั่งน้ำหนักของเจ้าหน้าที่รัฐ จะตัดสินใจอย่างไรระหว่างห้ามไปเลย เพราะต้องการคุ้มครอง ไม่สนใจผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมถึงความมั่นคงของชาติ สุดท้าย ท่านอยู่ไม่ได้ ในฐานะผู้มีอำนาจของรัฐ ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นโดมิโน หรือห่วงโซ่ที่ต่อเนื่องกัน หลุดอันหนึ่งแล้วขาดไปหมด ฉะนั้นปัญหาเหล่านี้จึงแก้ไขค่อนข้างยาก
“ข้อเสนอให้ทุกคนมีส่วนร่วม หากเป็นสมัยปี 2518-19 ผมอาจเชื่อ แต่ปัจจุบันนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่แตกต่างจากชาวบ้านส่วนใหญ่ของประเทศ” มงคล กล่าว และว่า ผู้ประกอบการจะมองโลกนี้เป็นสังคมปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำให้ปลาใหญ่มีวิธีการล่อหลอก ทั้งนี้ สนับสนุนความคิดของทุกคน แต่ต้องนึกถึงสภาพความเป็นจริงด้วย
.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:มูลนิธิชีววิถี ชี้MOU ‘ซีพี-ส.ป.ก.’ ไม่ใช่ทางออกหนุนเกษตรกรปลูกข้าวโพดยั่งยืน
ผู้บริหารกรุงเทพโปรดิ๊วสยันไม่รับซื้อผลผลิตทุกชนิดจากแหล่งไม่ถูกต้อง
บ.รับซื้อข้าวโพด ลั่นไม่หนุนเผาวัชพืช สร้างปัญหาหมอกควัน
ภาพประกอบหลัก:ข้าวโพด-เว็บไซต์ thaiahpa, เรือประมงอวนลาก-เว็บไซต์ Tofa