5 ข้อปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯ คดี EIA แม่เมาะ กพร.ชี้กฟผ.อาจไม่ต้องทำทั้งหมด
อธิบดีกพร. เผยขั้นตอนการดำเนินการ ตามคำสั่งศาลปกครองคดี EIA แม่เมาะ เรื่องถึงมือแล้ว เล็งเซ็นอนุญาตในมาตรการใหม่ที่ดีกว่า ชี้ส่งผลให้ กฟผ.ไม่ต้องปฏิบัติตามคำตัดสินทั้งหมด 5 ข้อ เหลือ อพยพชาวบ้าน กับฟื้นฟูเหมืองให้ใกล้เคียงสภาพเดิมตามธรรมชาติ ปลูกป่าทดแทนสนามกอล์ฟ
จากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วนตามกำหนดระยะเวลา 90 วัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กฟผ.ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้าย EIA และประทานบัตร (มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม)
โดยคำตัดสินของศาลฯ สั่งให้กฟผ. 1.การติดตั้งม่านน้ำเพื่อลดฝุ่นละออง 2. อพยพหมู่บ้านออกจากรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร 3.ฟื้นฟูเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ 4.ให้นำพืชที่ปลูกใน Wetland ไปกำจัด และ 5.ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงภาคประชาชนมีความกังวลว่า กฟผ.อาจจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลทั้งหมด
นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่กฟผ.ต้องทำทั้งหมด 5 ข้อ ซึ่ง 5 ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)ได้อนุมัติให้กับกฟผ.ในด้านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากมาตรการ EIA แก้ไขนั้นดีกว่าเดิม ก็สามารถนำมาปรับใช้ใน 5 ข้อได้
"มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กฟผ.ต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสนามกอล์ฟ การตั้งกรรมการระดับท้องถิ่น การนำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด หรือการทิ้งดิน"
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่เป็นปัญหามากที่สุดขณะนี้คือ การตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันพิจารณาในการอพยพชาวบ้าน ซึ่งทางกพร.มีคำสั่งไปที่กฟผ.ให้จัดตั้งคณะกรรมการในการโยกย้ายชาวบ้าน รวมทั้งพิจารณาพื้นที่ที่จะปิดขุมเหมือง ซึ่งกฟผ.จะต้องทำแผนมา ขณะนี้กพร.ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งไปตรวจสอบสนามกอล์ฟว่ามาจากขุมเหมืองหรือไม่ ส่วนในการตั้งกรรมการในระดับท้องถิ่นนั้น ไม่ว่ากฟผ.จะตีความคำสั่งศาลอย่างไร กฟผ.มีหน้าที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเวลา 90 วัน
ส่วนมาตรการตามคำสั่งศาล 3 ข้อ คือ 1.การติดตั้งผ้าม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ 2.ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัดและปลูกเสริมทุก ๆ 18 เดือน และทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศการไหลของน้ำ 3.ให้ขนส่งเปลือกดินโดยใช้สายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพานวางแผนจุดปล่อยดิน อธิบดี กพร. กล่าวว่า หาก กฟผ.มีมาตรการที่คิดว่าดีกว่าเหมาะสมและมีความทันสมัย ตามมาตรการของสผ.คำสั่งศาลบอกว่า ให้ทำได้
"สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือกฟผ.ผิดพลาดตรงที่ เมื่อสผ.เห็นชอบแล้วตามมาตรการที่กฟผ.เสนอมา แต่การอนุมัตินั้นยังไม่แล้วเสร็จ แต่กฟผ.เข้าใจว่า เมื่อสผ.อนุมัติแล้วสามารถดำเนินการได้เลย ความจริงไม่ใช่จะต้องขอตามขั้นตอน และให้กพร.สั่งการเป็นหนังสือก่อน"
อธิบดี กพร. กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง 3 ข้อข้างต้นมั่นใจว่า มาตรการใหม่ของกฟผ.มีความเหมาะสมกว่า อย่างการขนส่งเปลือกดินการทิ้งก็ไม่มีแล้ว ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการขณะนี้เรื่องได้มาถึงกพร.เรียบร้อยแล้ว ทางกพร.จะอนุญาตในมาตรการใหม่ที่ดีกว่าให้ ส่วนการตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่น อย่างไรกฟผ.ต้องจัดตั้งขึ้นมาใหม่แม้ในอดีตจะมีการโยกย้ายไปแล้วหรือไม่ก็ตาม
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า หากกพร.เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงวิธีการและมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม เหมือนสผ. จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทางกฟผ.ทางสมาคมจะต้องมีการฟ้องร้องว่า กพร.มีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ของกฎหมายอาญา เพราะนี่ถือเป็นคำสั่งที่เป็นที่สุดแล้วจะไปเอื้อประโยชน์ให้กันไม่ได้
"ขณะนี้ยังไม่ครบ 90 วันตามคำสั่งศาล ก็จะคอยเฝ้าดูว่า กพร.จะบังคับกฟผ.หรือไม่อย่างไร และหากไม่มีการดำเนินการอะไร หรือเบี้ยว อาจต้องดำเนินการร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้เอาผิดวินัยกับอธิบดีกพร.อีกด้วย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ชาวบ้านแม่เมาะร้องนายกฯ ลงพื้นที่ หลังกฟผ.ส่อละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
กฟผ. เชื่อแก้สิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ปลูกรักษาแนวไม้ กันฝุ่นกว่าติดตั้งม่านน้ำ