ไม่มีมาตรฐานวัด 'กะเพรา' มกอช.เร่งจัดทำค่าสารพิษตกค้าง คาดไม่เกิน 2 ปี
มกอช.เผยกะเพรา โหระพา มะเขือเปราะ เป็นพืชรอง ไร้ค่า MRL อ้างอิง เล็งจัดทำค่ามาตรฐานเพิ่มภายใน 2 ปี ระบุปัจจุบันเเมลงปรับตัวรบกวนกะเพรา ต้นเหตุเกษตรกรใช้สารเคมี
วันที่ 30 มีนาคม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรื่องผลเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (ค่า MRL) ในผักผลไม้ที่คนไทยบริโภค ณ ห้องสมุด อาคาร 1 มกอช. โดยนายศักดิ์ชัย ศรีบุญชื่อ เลขาธิการ มกอช.และนายพิศาล พาศาพิชณ์ รองเลขาธิการ มกอช. ร่วมแถลง หลังจากที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (THAI-PAN) ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรจากห้างค้าปลีกและตลาดสด (อ่านประกอบ:สุ่มตรวจ 10 ชนิดผักยอดฮิต พบกะเพรามีสารตกค้างมากสุด 62.5%)
เลขาธิการ มกอช.กล่าวว่า ในฐานะเจ้าของมาตรฐาน Q เห็นว่า ภาพรวมผลการตรวจสอบของ THAI-PAN โดยเฉพาะตลาดสดและผลไม้ที่มีตราเครื่องหมาย Q รับรองนั้น ปริมาณการตกค้างของวัตถุอันตรายทางการเกษตรในสินค้าเกษตรลดลง เมื่อเทียบกับปี 2557 และเมื่อพิจารณาผลการตรวจสอบหลังมกอช.นำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องสารพิษตกค้าง ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (มกษ.9002-2556) จะเห็นว่า มีตัวอย่างสินค้าเกษตรที่มีปริมาณสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL เพียง 1 ตัวอย่าง คือมะเขือเปราะ และมีตัวอย่างที่มีค่าปริมาณสารตกค้างอยู่ในระดับที่น้อย (Limit of Quantitation:LOQ) 1 ตัวอย่าง คือ กะเพรา ถือเป็นค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่วิเคราะห์ได้ ทางหลักสากลถือว่า ค่านี้ต่ำมากและไม่เกินค่ามาตรฐาน
"การตีความตามมาตรฐานของมกอช.และTHAI-PAN แตกต่างกันเล็กน้อย โดยTHAI-PAN ใช้ค่าปริมาณสูงสุดสารพิษตกค้าง (MRL) ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกคัาง ปี2554 ทำให้บางค่ามีความแตกต่างกัน"
สำหรับการแปลผลข้อมูลเป็นรายชนิดผักที่พบว่า กะเพรามีปริมาณสารพิษตกคัางเกินค่า MRL มากสุดนั้น นายพิศาล กล่าวว่า กระเพรา โหระพา มะเขือเปราะ จัดเป็นพืชรอง (Minor crop) ไม่มีค่า MRL ในการอ้างอิง ซึ่งมกอช.กำลังจัดทำค่ามาตรฐานสำหรับกลุ่มพืชดังกล่าว
"กะเพราไม่มีค่ามาตรฐานกำหนด เพราะเป็นพืชเล็กพืชน้อย หากเทียบปริมาณการผลิตระดับประเทศ และระดับโลก มาตรฐานจึงไม่ได้กำหนดไว้" รองเลขาธิการ มกอช.กล่าว และว่า มกอช.กำลังสนับสนุนงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัย สารเคมีตกค้างในกะเพรา ปัจจุบันทำเสร็จไปแล้ว 4-5 ชนิดสารเคมี คาดภายในปีนี้ กำหนดเสร็จอีกไม่ต่ำกว่า 6-7 ชนิดสารเคมี จากนั้น มกอช.กำหนดค่ามาตรฐานของไทย รวมถึงจะส่งข้อมูลทั้งหมดไปให้ Codex กำหนดเป็นมาตรฐานสากลต่อไป คาดใช้เวลาประมาณ 2ปี
รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวถึงความเข้าใจผิดเรื่องกะเพรา ที่ในอดีตเชื่อว่า ไม่มีแมลงมารบกวนพืชชนิดนี้นั้น ปัจจุบันแมลงปรับตัว ทำให้เกษตรหันมาใช้สารเคมีเพื่อไล่แมลงมารบกวนจนมีการตกค้าง ขณะที่ในอดีตก็เคยมีการส่งออกกะเพราไปสหภาพยุโรป (อียู) แล้วเจอแมลง หนอน แมลงหวี่ขาว ทางอียูระงับการนำเข้ามาแล้ว กรณีนั้นไม่ได้เป็นการเจอสารพิษตกค้าง แต่เป็นการเจอแมลง
"จุดอ่อนของกฎหมายไทยไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน หากพบสารเคมีตกค้างระดับต่ำมาก ๆ นั้น ผิดหรือไม่ผิดมาตรฐาน ซึ่งจุดนี้ มกอช.กำลังปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะการตีความ" นายพิศาล กล่าว .