Thai-PAN แนะล้างผักปลอดภัย ใช้ ‘น้ำส้มสายชู’ ดีกว่าด่างทับทิม-เบคกิ้งโซดา
Thai-PAN เสนอทบทวนวิธีการล้างผัก ยันใช้น้ำส้มสายชูมีประสิทธิภาพมากกว่าด่างทับทิม-เบคกิ้งโซดา เเต่พบข้อจำกัด ลดสารตกค้างเพียงครึ่งหนึ่ง เเนะเเก้ต้นเหตุเลือกซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ยกเลิกสารเคมีร้ายเเรง
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2558 เป็นวันที่สอง ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
นางสาวอังคณา ราชนิยม นักวิจัยอิสระ เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับการล้างผัก โดยรวบรวมงานศึกษาเกี่ยวกับการล้างจากต่างประเทศและในประเทศมาสังเคราะห์ โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้มากที่สุดของประเทศไทย พบว่า สารที่พบการตกค้างมากที่สุด 6 อันดับแรก ได้แก่ ไซเปอร์เมทริน(Cypermethrin) คลอไพรีฟอส (Chlorpyrifos) โปรฟีโนฟอส (Profenofos) โอเมโธเอท (Omethoate)คาร์โบฟูราน (Carbofuran) และเมโทมิล (Methomyl)
ทั้งนี้ ประสิทธิภาพในการล้างผักและผลไม้ เพื่อลดสารพิษตกค้าง เรียงตามลำดับประสิทธิภาพในการล้าง นักวิจัยอิสระ สรุปผลการศึกษา มีดังนี้
1) การล้างด้วยน้ำส้มสายชู เป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะลดสารที่ตกค้างมากที่สุดได้ 48% สารลำดับที่สองได้ 87% และสารลำดับที่สามได้ 32-85%
2) การล้างด้วยด่างทับทิมและโซเดียมไบคาร์บอเนตได้ผลใกล้เคียงกันมากโดยด่างทับทิมลดสารตกค้างมากที่สุดได้ 20% สารตกค้างอันดับสองได้ 87% และลดสารตกค้างอันดับที่สามได้ 18-83% การล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนตลดสารที่ตกค้างมากที่สุดได้เพียง 8% ลำดับสองได้ 87% ลำดับสามได้ 42 %
3) การล้างด้วยน้ำสะอาดและน้ำเกลือให้ผลใกล้เคียงกัน โดยการล้างด้วยน้ำในสารไซเปอร์เมทริน ทำได้ดีกว่าน้ำเกลือเล็กน้อย ขณะที่ในสารลำดับที่สองนั้นการล้างด้วยน้ำเกลือให้ผลดีกว่าเล็กน้อย ส่วนสารอื่นๆ ที่เหลือให้ผลใกล้เคียงกัน
นางสาวอังคณา กล่าวด้วยว่า เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ให้คำแนะนำในการล้างผักผลไม้สำหรับประชาชนที่สามารถลดสารเคมีให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ มี 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. ล้างด้วยน้ำไหลเพื่อขจัดคราบของดิน สิ่งสกปรก แบคทีเรีย และเชื้อต่างๆ ตลอดจนสารพิษบางส่วน
2. แช่ผักและผลไม้ในน้ำส้มสายชู นาน 10-15 นาที ถ้าไม่มีน้ำส้มสายชูก็อาจใช้น้ำด่างทับทิมหรือโซเดียมไบคาร์บอเนตอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ประสิทธิภาพจะน้อยกว่าการใช้น้ำส้มสายชู
3. ล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำไหลเพื่อชะล้างน้ำส้มสายชู และสารเคมีบางส่วนออก
“การศึกษายังพบการล้างในทุกวิธีมีการตกค้างของสารเคมีที่พบบ่อยมากที่สุดในอันดับแรก คือ ไซเปอร์เมทรินสูงค่อนข้างมาก โดยวิธีการล้างที่ดีที่สุดยังสามารถลดการตกค้างได้ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น” นักวิจัยอิสระ กล่าว และว่าคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งให้ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนตหรือเบคกิ้งโซดาจะสามารถลดการตกค้างได้ 90-95 เปอร์เซ็นต์แล้วแต่ชนิดผักนั้น ไม่สอดคล้องกับรายงานนี้
นางสาวอังคณา กล่าวอีกว่า การล้างเป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้บริโภคเท่านั้น วิธีการที่ดีที่สุดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นอกเหนือจากการเลือกซื้อผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ คือ การยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างบ่อย และมีพิษทั้งเฉียบพลันสูง เช่น คาร์โบฟูราน เมโทมิล และมีพิษภัยเรื้อรัง เช่น คลอไพรีฟอส เป็นต้น โดยนอกเหนือจากประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรงแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไปพร้อม ๆ กันด้วย .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:สุ่มตรวจ 10 ชนิดผักยอดฮิต พบ 'กะเพรา' มีสารพิษตกค้างมากสุด 62.5%