นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวได้ 2.3 แสนล้าน
นักวิชาการทีดีอาร์ไอวอนสังคมไทยออกจากกับดักจำนำข้าว ล้มมายาคติ มองชาวนาเป็นคนอ่อนแอ หากล้มเลิกนโยบายอุดหนุนภาคเกษตรไม่ได้ต้องออกกฎหมายป้องกัน
9 มีนาคม 2558 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดการประชุมเชิงวิชาการนานาชาติ เรื่อง “วิกฤติคอร์รัปชันไทยกับการต่อสู้ของภาคพลเมือง” ในงานรำลึก 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ณ ห้องประชุม ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ชั้น 7 อาคารดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทั้งนี้ภายในงานมีการวิเคราะห์เจาะลึกโครงการมหากาพย์โกง:พัฒนาการของการทุจริตคอร์รัปชันที่ฉุดประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤติ กรณีศึกษา โครงการรับจำนำข้าว
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงโครงการจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554-2557 เป็นโครงการที่แทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยรัฐบาลใช้เงิน 9.85 แสนล้านบาท ซื้อข้าว 54.4 ล้านตัน ขาดทุนทั้งสิ้น 5.4-6.6 แสนล้านบาท เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์น้อยกว่าต้นทุนความเสียหายจากากรแทรกแซงราคาตลาด
ขณะที่ชาวนาและโรงสีที่เข้าร่วมโครงการและไม่ได้เข้าร่วมโครงการเห็นว่า โครงการดังกล่าวมีการทุจริตค่อนข้างสูงและมีการทุจริตอยู่ในทุกระดับ และหลักฐานการเชื่อมโยงการทุจริตในการระบายข้าวก็มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เปิดเผยผลตรวจข้าวในโกดัง รัฐบาลมีการขายข้าวเก่า 2 ล้านตัน แต่ก็ไม่เปิดเผยว่า ผู้ซื้อคือใคร เอามาส่งคืนโกดังกลางหรือไม่ มีการปกปิดข้อมูลการส่งออกของบริษัทพรรคพวกโดยขอโอนคืนการออกใบอนุญาตส่งออกจากสภาหอการค้าไทย ใบสั่งจ่ายข้าวไม่ระบุราคาและมูลค่า วิธีการกองข้าวในโกดังไม่ถูกต้องตามระเบียบ ส่อเจตนาปล่อยให้มีการทุจริต
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวว่า ความเสียหายเกิดจากความล้มเหลวจากตัวนโยบายและความบกพร่องในการบริหารจัดการ เพราะการตั้งราคาสินค้าส่งออกสูงกว่าราคาตลาดต้องใช้งบมหาศาลและทำให้ส่งออกไม่ได้ในราคาที่รับจำนำมา อีกทั้งยังใช้อำนาจฝ่ายบริหารกู้เงินนอกงบประมาณโดยไม่ต้องขออนุมัติรัฐสภาเปรียบเสมือนการตีเช็คเปล่าที่รัฐบาลสามารถกรอกตัวเลขเท่าไหร่ก็ได้ และมักเป็นแบบนี้ทุกรัฐบาล แม้กระทั่งรัฐบาลปัจจุบันก็เช่นกัน ดังนั้นต้องฝากความหวังไว้ที่สภาปฏิรูปชาติให้แก้ไขในเรื่องนี้ด้วย
หากถามว่าจะป้องกันไมให้เกิดนโยบายรับจำนำข้าวรอบที่ 3 ได้อย่างไร ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญตอนนี้คือทุกคนมีมายาคติ ติดกับจำนำข้าว และมองว่าชาวนาเป็นคนอ่อนแอ ยากจน หากรัฐไม่ให้การช่วยเหลือจะอยู่ไม่รอด
“หากเกษตรกรคือบุคคลอ่อนแออย่างที่เราเข้าใจ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ การส่งออกสินค้าเกษตรหลายอย่างเราจะเป็นที่หนึ่งได้อย่างไร เพราะฉะนั้นต้องหลุดออกจากมายาคตินี้กันให้ได้”
ทั้งนี้ในเมื่อไม่สามารถห้ามไม่ให้มีนโยบายอุดหนุนภาคเกษตร หรือแทรกแซงตลาดได้ ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายป้องกันไม่ให้นโยบายแทรกแซงตลาดใช้เงินแบบไม่จำกัดงบประมาณจนสร้างความเสียหายได้อีก
1.กำหนดให้พรรคการเมืองที่หาเสียงต้องแจกแจงภาระค่าใช้จ่ายและที่มาของเงินได้
2.กำหนดให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งต้องเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายพิเศษต่อรัฐสภา
3.จัดทำบัญชีทุกหน่วยงานและทำบัญชี รวมของโครงการประชานิยมทุกโครงการเมื่อสิ้นปีงบประมาณและเสนอรัฐสภาก่อนเสนอร่างประมาณปีใหม่
สำหรับการที่รัฐจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าวเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น นักวิชาการทีดีอาร์ไอ มองว่า ไม่สามารถที่จะฟ้องได้ในยอดเงินขาดทุน 5.4-6.6 แสนล้านบาท เพราะบางส่วนเป็นเงินที่นำมาอุดหนุนชาวนาตามนโยบายที่วางไว้ เป็นการทำงานแบบตรงไปตรงมา ส่วนนั้นเราจะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายที่ชอบธรรม หากจะให้ประมาณการเบื้องต้นรัฐสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ในจำนวนเงิน 2.3 แสนล้านบาท 1.1 แสนล้านบาท จากการทุจริตระบายข้าว และ 1.2 แสนล้านบาท จากข้าวในคลังเสื่อมคุณภาพโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าของโกดัง โรงสี เซอร์วายเยอร์ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย
-
file download