ต้องสั่งพักราชการ "หัสวุฒิ" ปธ.ศาลปกครองฯระหว่างสอบสวน?
"..ดังนั้น ในกรณีนายหัสวุฒิจะต้องถูกสั่งพักราชการหรือไม่ระหว่างการสอบสวน ก็ขึ้นอยู่กับว่า ก.ศป.จะสร้างมาตรฐานในลักษณะเดียวกับข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมที่ไม่คำนึงถึงว่าผู้ถูกกล่าวหามีตำแหน่งใหญ่ขนาดไหนก็ใช้มาตรฐานเดียวกันหมด.."
แม้ว่า คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ด้วยเสียง 9 ต่อ 2 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการ 5 คนขึ้นมาสอบสวนนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กรณี "จดหมายน้อย"ฝากตำรวจ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 24 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฯ และระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 แล้วก็ตาม
แต่ที่ประชุมยังไม่มีข้อยุติว่า จะมีการสั่งพักราชการนายหัสวุฒิ ระหว่างการสอบสวนหรือไม่
(อ่านประกอบ : ก.ศป.ลงมติ9ต่อ2 ตั้งกก.สอบ"หัสวุฒิ" คดีจม.น้อย ชี้ชะตาพ้นตำแหน่ง)
เหตุที่ยังไม่มีข้อยุติเนื่องจาก ก.ศป.ส่วนหนึ่งเห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ให้อำนาจในเรื่องนี้ไว้แก่ ก.ศป.โดยตรงโดย มาตรา 24 วรรคสาม ระบุว่า ในระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาตามวรรคหนึ่ง(การกระทำผิดวินัยร้ายแรง) ถ้า ก.ศป. เห็นว่าการให้ผู้ถูกสอบสวนหรือพิจารณาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการจะมีมติให้พักราชการก็ได้
แต่ ก.ศป.บางส่วนเห็นว่า ตามระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 ข้อ 12 ระบุว่า ก่อนการสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนประชุมกำหนดแนวทางการสอบสวนและให้เสนอความเห็นต่อ ก.ศป.ว่า จะสั่งพักราชการข้าราชการตุลาการศาลปกครองที่ถูกกล่าวหาเพื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอันจะเป็นการเสียหายแก่ราชการหรือไม่ ถ้า ก.ศป.เห็นสมควรสั่งพักราชการข้าราชการตุลาการที่ถูกกล่าวหา ก็ให้สั่งพักตลอดเวลาที่คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวน หรือจนกว่า ก.ศป.จะพิจารณากรณีที่ข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาแล้วเสร็จ
ถ้ายึดตามระเบียบดังกล่าว ก็หมายความว่า ก.ศป.ไม่มีอำนาจสั่งพักราชการนายหัสวุฒิได้โดยตรง แต่ต้องรอให้คณะกรรมการสอบสวน 5 คน(ประกอบด้วย ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะเป็นประธาน ตุลาการศาลปกครองสูงสุดระดับหัวหน้าคณะอีก 3 คน และข้าราชการพลเรือนตัวแทนจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.))เสนอความเห็นหรือชงเรื่องดังกล่าวต่อ ก.ศป.พิจารณา
เมื่อความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย ที่ประชุมจึงเลื่อนการพิจารณาประเด็นดังกล่าวออกไปในการประชุม ก.ศป.คราวหน้า
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาประเด็นนี้เทียบเคียงกับข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิด ซึ่งหลังจากผ่านขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริงและสรุปว่า ข้อกล่าวหามีมูล จนมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทางวินัยร้ายแรงแล้ว ทางคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)ดำเนินการอย่างไร
ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 74 เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถ้า ก.ต. เห็นว่าจะให้อยู่ในหน้าที่ราชการระหว่างสอบสวนหรือ พิจารณาจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้พักราชการก็ได้
การให้พักราชการนั้นให้พักตลอดเวลาที่สอบสวนหรือตลอดเวลาที่คดียังไม่ถึงที่สุด เมื่อสอบสวนหรือคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้พักราชการมิได้กระทำความผิดและไม่มีมลทินหรือมัวหมอง ก็ให้ผู้นั้นคงอยู่ในราชการตามเดิม
เงินเดือนของผู้ที่ถูกสั่งให้พักราชการดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
เมื่อเทียบเคียงกับ มาตรา 24 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯกับ มาตรา 74 พ.ร.บ..ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สาระสำคัญแทบไม่มีความแตกต่างกันแล้ว ซึ่งจากสอบถามข้าราชการระดับสูงในสำนักงานศาลยุติธรรมทีคลุกคลีกับการสอบสวนความผิดของผู้พิพากษามาอย่างยาวนานระบุว่า เมื่อผู้พิพากษาถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงแล้ว ก.ต.จะสั่งพักราชการทุกกรณี
แม้แต่ล่าสุดที่ผู้พิพากษาระดับรองประธานศาลฎีกาถูกให้ออกจากราชการหรืออดีตประธานศาลอุทธรณ์ ก็ถูกสั่งพักราชการระหว่างการสอบสวนทางวินัยทั้งหมด
สำหรับในกรณีของนายหัสวุฒิซึ่งแม้การแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน จะมิได้เรียกว่า การสอบสวนทางวินัยร้ายแรงเหมือนข้าราชการพลเรือนทั่วไปหรือข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม
แต่เมื่อดูขั้นตอนตามระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 แล้ว น่าจะเป็นขั้นตอนเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้ ก.ศป.ได้แต่งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริงซึงมีนายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน
มีผลสรุปว่า ข้อกล่าวหานายหัสวุฒิกรณีจดหมายน้่อยมีมูล ก.ศป.จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา สอบสวนอีกคณะหนึ่ง ซึ่งหลังจากคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นอย่างไรแล้ว ก็จะส่งผลการสอบสวนให้ ก.ศป.วินิจฉัยชี้ขาดเป็นครั้งสุดท้ายซึ่งมีอยู่ 2 ทางคือ
1.ถ้าเห็นว่า ยังไม่เป็นเหตุให้ตุลาการพ้นจากตำแหน่งก็ให้ยุติเรื่องและเก็บไว้พิจารณาความดีความชอบ
2.ถ้าเห็นว่า เป็นเหตุต้องให้พ้นจากตำแหน่ง ก็ให้มีมติให้ออกหรือไล่ออกจากราชการ
คำวินิจฉัยของ ก.ศป.ให้เป็นที่สุด
ดังนั้น ในกรณีนายหัสวุฒิจะต้องถูกสั่งพักราชการหรือไม่ระหว่างการสอบสวน ก็ขึ้นอยู่กับว่า ก.ศป.จะสร้างมาตรฐานในลักษณะเดียวกับข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมที่ไม่คำนึงถึงว่าผู้ถูกกล่าวหามีตำแหน่งใหญ่ขนาดไหนก็ใช้มาตรฐานเดียวกันหมด
สำหรับระยะเวลาในการสอบสวนนั้น ตามระเบียบระบุว่า ให้คณะกรรมการสอบสวนสอบสวนให้เสร็จโดยเร็ว แต่ไม่เกิน 30 วันนับแต่ที่ได้รับแต่งตั้งจาก ก.ศป.ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจสอบสวนได้เสร็จให้ขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่ถ้าขยายเวลาแล้ว ยังสอบสวนไม่เสร็จ จะขยายเวลา ต้องได้รับอนุมัติจาก ก.ศป.ก่อน
สรุปแล้วในเบื้องต้น น่าจะเห็นผลจากการสอบสวนว่าหมู่หรือจ่า ไม่น่าจะเกิน 60 วัน นับแต่ ก.ศป.แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
หมายเหตุ
1. พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
มาตรา 22 ตุลาการศาลปกครองต้องประพฤติตนตามวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครองตามที่ ก.ศป. กำหนด
ก.ศป. อาจมีมติให้ตุลาการศาลปกครองผู้ใดออกจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ในกรณีที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ถูกสั่งให้ออกมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ แต่การให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนให้ทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างร้ายแรงหรือประพฤติตนไม่สมควรตามที่กำหนดในวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง
(2) หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการได้โดยสม่ำเสมอแต่ไม่ถึงเหตุทุพพลภาพ
(3) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(4) มีกรณีตามมาตรา 21 (4) (5) (6) หรือ (7)
มาตรา 23 ก.ศป. อาจมีมติไล่ตุลาการศาลปกครองออกได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
(2) กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่กำหนดในวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง
(3) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา 24 ในการพิจารณาให้ตุลาการศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 22 (1) (2) หรือ (4) ประกอบกับมาตรา 21 (4) หรือ (7) หรือตามมาตรา 23 (1) หรือ (2) ให้ ก.ศป. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนประกอบด้วยตุลาการในศาลปกครองสูงสุดหรือตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นจำนวนสี่คน และกรรมการข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ เพื่อทำการสอบสวน
ในการสอบสวนให้คณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจเรียกให้หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลใดให้ข้อเท็จจริง ให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวนได้
ในระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาตามวรรคหนึ่ง ถ้า ก.ศป. เห็นว่าการให้ผู้ถูกสอบสวนหรือพิจารณาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการจะมีมติให้พักราชการก็ได้
การให้พักราชการนั้น ให้พักตลอดเวลาที่สอบสวนหรือพิจารณา เมื่อสอบสวนหรือพิจารณาเสร็จแล้ว ถ้าปรากฏว่าผู้ถูกให้พักราชการมิได้กระทำการตามที่ถูกสอบสวนหรือพิจารณา ก็ให้ผู้นั้นคงอยู่ในราชการตามเดิม
วิธีการสอบสวนและสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ศป. กำหนดโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
2.พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543
มาตรา 74 เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูก
ตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถ้า ก.ต. เห็นว่าจะให้อยู่ในหน้าที่ราชการระหว่างสอบสวนหรือ พิจารณาจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้พักราชการก็ได้
การให้พักราชการนั้นให้พักตลอดเวลาที่สอบสวนหรือตลอดเวลาที่คดียังไม่ถึงที่สุด เมื่อสอบสวนหรือคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้พักราชการมิได้กระทำความผิดและไม่มีมลทินหรือมัวหมอง ก็ให้ผู้นั้นคงอยู่ในราชการตามเดิม
เงินเดือนของผู้ที่ถูกสั่งให้พักราชการดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
3. ก.ศป.เสียงข้างมาก 9 เสียง ที่เห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล ประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด 4 คนคือ นายมนูญ ปุญญกริยากร นายวิษณุ วรัญญู นายชาญชัย แสวงศักดิ์ นายสมชาย งามวงศ์ชน
ผู้ทรงคุณวุฒิจากตุลาการศาลชั้นตน 3 คน นายพัลลภ รัตนจันทรา นางสิริกาญจน์ พานพิทักษ์ และนายเกียรติภูมิ แสงศศิธร
ผู้ทรงคุฒิภายนอก 2 คน นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายกู้เกียรติ สุนทรปุระ
4. ก.ศป.เสียงข้างน้อย 2 คน ประกอบด้วย นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช อดีตผู้ว่าราชการ จ.น่านผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ส่วนนายนพดล เฮงเจริญ งดออกเสียงเพราะเป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
5. สำหรับ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะ ที่มีคุณสมบัติเป็นคณะกรรมการสอบสวนได้ ประกอบไปด้วย นายชาญชัย แสวงศักดิ์ นายปิยะ ปะตังทา(ชื่อเดิมเกษม คมสัตย์ธรรม) รองประธานศาลปกครองสูงสุด นายนพดล เฮงเจริญ นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ นายไพบูลย์ เสียงก้อง นายวิษณุ วรัญญู
#เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"
อ่านประกอบ :
"หัสวุฒิ"อ่วม!ก.ศป.สั่งสอบเพิ่ม 4คดีรวด"ยกฉัตร-ใกล้ชิดคู่ความ-รถ-ญาติ"
องค์คณะ"ก.ศป."ครบ 13คนทางการ สนช.เคาะ 2 ชื่อ สุดท้าย"อุดม-วีรวิทย์"
เมื่อ “บิ๊ก”ตุลาการศาล ปค.คลุกคลีตีโมงกับคู่ความ
ปริศนา!ประธานศาล ปค.ตรวจราชการ-ยกยอดฉัตรวันเวลาเดียวกัน ซ้ำรอย “จารุวรรณ”?
คดีจม.น้อยฝาก"ตร."ไร้ข้อยุติ!องค์ประชุม ก.ศป.ล่ม-กก.ลาเพียบ"หัสวุฒิ"ด้วย
เปิดคำพิพากษายกฟ้อง “ดิเรกฤทธิ์”ฟ้อง”อิศรา” กรณีจม.น้อย
"ดิเรกฤทธิ์" ฟ้องแพ่ง"อิศรา"เพิ่ม!เรียกค่าเสียหาย 50 ล.-ขอคุ้มครองชั่วคราว
คกก.ข้อมูลข่าวสารฯ รับอุทธรณ์ "ผอ.อิศรา"ปมศาลปค.ปัดให้ผลสอบ"จม.น้อย"
"ดิเรกฤทธิ์"โดนโทษเบาหวิวแค่ตักเตือนปมจม.น้อยฝากตร.-ปธ.ศาลปค.รอด
“ตุลาการ” โวย สนง.ศาลปกครอง แถลงบิดเบือนผลสอบจม.น้อยฝาก "ตร."
ศาลปกครองกลับลำแก้ผลสอบจม.น้อยแล้ว ชี้"ดิเรกฤทธิ์"มีมูลทำผิดวินัย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google