‘ไทยโชต’ สำรวจป่าน่านฟรี ‘ดร.อานนท์’ เผยอุปสรรคไม่ใช่การถ่าย แต่เป็นทัศนวิสัย
‘ดร.อานนท์’ เผย GISTDA บริการฟรี ภาพสำรวจป่าจาก ‘ดาวเทียมไทยโชต’ เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะดาวเทียมต่างชาติ ตร.กม.ละ 400-3,000 บ. ยันพร้อมหนุนฟื้นคืนป่าน่าน สนองพระราชดำริพระเทพฯ
จากกรณีนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ออกมาระบุในเวที ‘รักษ์ป่าน่าน ปี 2’ ถึงปัญหาอุปสรรคการฟื้นฟูพื้นที่ป่า จ.น่าน เกี่ยวกับการนำข้อมูลสำรวจจากดาวเทียมที่ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศและค่าใช้จ่ายเช่าเวลาของดาวเทียมที่สูงมาก ทำให้ได้รับภาพถ่ายเป็นระยะ ๆ ตัวเลขต่าง ๆ จึงไม่นิ่ง (อ่านประกอบ:ภารกิจเข็นครก รักษ์ป่าน่าน ปีที่ 2 "เจ้าสัวบัณฑูร" บอกวันนี้ยังไม่ชนะ-ไม่แพ้)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ GISTDA เปิดเผยว่า การสำรวจพื้นที่ป่าด้วยภาพถ่ายดาวเทียม โดยปกติไม่จำเป็นต้องตรวจดูทุกวัน เพราะป่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงเร็ว ส่วนใหญ่จะสำรวจ 1 ครั้ง/เดือน ยิ่งเป็นดาวเทียมไทยโชต (Thailand Earth Observation Satellite: THEOS) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจระยะไกล เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทยทำได้ไม่ยาก และไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดตามด้วย เพียงแต่อาจไม่ได้ทุกวัน เนื่องด้วยการโคจรของดาวเทียม
ทั้งนี้ หากต้องการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติอย่างละเอียด มองเห็นลักษณะของต้นไม้ ต้องอาศัยภาพถ่ายจากดาวเทียมในต่างประเทศ ซึ่ง สทอภ. มีสัญญาร่วมกันอยู่ อาทิ ดาวเทียม WorldView ดาวเทียม IKONOS แต่ต้องเสียค่าใช้ในราคา 400-3,000 บาท/ตร.กม. ขึ้นอยู่กับชนิดดาวเทียม
ส่วนราคาการสำรวจสูงเกินไปหรือไม่นั้น ผอ.สทอภ. กล่าวว่า ถ้าใช้ดาวเทียมต่างประเทศสำรวจพื้นที่ป่า จ.น่าน ในลักษณะกว้าง ถือว่าแพง ฉะนั้นต้องใช้ดาวเทียมไทยโชตสำรวจภาพรวมก่อน หลังจากนั้นจึงใช้ดาวเทียมต่างประเทศชี้เป้าเป็นครั้งคราว การดำเนินงานจะคุ้มค่ามากกว่า เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในการสำรวจไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม เรายินดีให้บริการสนับสนุนภาพถ่ายแก่โครงการรักษ์ป่าน่านทันที หากมีหน่วยงานร้องขอเพื่อนำไปใช้
“สทอภ.มีส่วนร่วมในการดูแลป่าน่านมาตลอด ในเชิงการศึกษาวิจัย ร่วมกับสถาบันปัญญาภิวัฒน์ และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program:UNDP) และให้บริการภาพถ่ายเป็นประจำ” ดร.อานนท์ กล่าว และว่า แต่ข้อจำกัดที่มักประสบ คือ ปัญหาเมฆ และหมอกควัน ทำให้ไม่สามารถถ่ายภาพได้ 100% เมื่อถ่ายวันนี้ไม่ได้ ต้องรอไปอีก 2-3 อาทิตย์ กว่าที่ดาวเทียมจะกลับมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ การฟื้นฟูป่าน่านจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ผอ.สทอภ. ระบุว่า ทำได้ เพราะกระแสการตระหนักในการฟื้นฟูป่าปัจจุบันมีค่อนข้างมาก และหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะภาคเอกชนอย่างธนาคารกสิกรไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และบริษัทรายใหญ่อื่น ๆ ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงสร้างความมีส่วนร่วมขึ้น
“การทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่มีการพัฒนาดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่การบังคับให้ออกจากป่า แต่โครงการหาทางเลือกอื่นให้ ดังนั้น คำว่า ฟื้นฟูป่า จึงไม่ใช่การคืนป่าธรรมชาติ แต่อาจจะอยู่ในรูปแบบ ‘วนเกษตร’ ปลูกต้นผลไม้ ต้นกาแฟ แทนข้าวโพด เชื่อว่าจะลดการบุกรุกพื้นที่ป่าได้ และสร้างรายได้ที่ดีด้วย” ดร.อานนท์ กล่าวในที่สุด .
ภาพประกอบ:ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา-นิตยสารสารคดี