ประเสริฐ อภิปุญญา : เมื่อ กตป.ร่อนตะแกรง 'โมบายแล็บคาร์ กสทช.'
"..หลายโครงการที่ กตป.หยิบยกขึ้นมา ถ้าดูตามระเบียบ ถามว่าถูกต้องไหม เขาก็อ้างว่าเขาทำถูกต้องตามกระบวนการ มีการประกาศทีโออาร์ จัดซื้อจัดจ้างตามกระบวนการ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุว่าถ้าตรวจสอบในมิติของการทำถูกต้องตามระเบียบนั้น ก็ผ่าน เอาตะแกรงร่อนแล้วมันผ่าน แต่ตะแกรงร่อน ของ กตป. เอง เราร่อนละเอียดกว่านั้น เพราะเราต้องมองไปถึงเรื่องของเทคนิค เรื่องความคุ้มค่า ความเชื่อมโยง เช่น กรณีโมบายแล็บคาร์..."
จากกรณีที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช. ที่ลงนามสัญญาเลขที่ พย.(ช)(ดท.) 8/2556 กับบริษัทจัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด ( มหาชน ) ซื้อขายรถตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคมเคลื่อนที่ ( Mobile Lab Car ) จำนวน 1 คัน วงเงิน 11,235,699.78 บาท และตั้งข้อสังเกตถึงความคุ้มค่าและราคาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบพบว่าทีโออาร์ของโครงการโมบายแล็บคาร์กลับระบุถึงการติดตั้งกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นอีกโครงการที่ บ .จัสมินฯ ได้งานจาก กสทช. โดยล่าสุด นายประเสริฐ อภิปุญญา คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ( กตป. ) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า กตป. มีมติ เห็นสมควรให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทำการตรวจสอบในเชิงลึกโครงการโมบายแล็บคาร์
( อ่านประกอบ : กตป.ชง คตร. สอบโมบายแล็บคาร์ กสทช. ตั้งข้อสังเกตความคุ้มค่า-แก้ไขสัญญา , เผยโฉม“โมบายแล็บคาร์” กสทช.11.2 ล. เครื่องวัดสัญญาณไฮเทคหลักล้าน ,ทีโออาร์จัดซื้อโมบายแล็บคาร์ กสทช.สุดมั่ว!ตัดแปะเอกสารจากโครงการกล้องวงจรปิด )
เพื่อติดตามความคืบหน้าในการตรวจสอบ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สัมภาษณ์พิเศษนายประเสริฐ อภิปุญญา ถึงมุมมองและแนวทางของ กตป.ในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวเทียบเคียงกรณีการจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ ของสำนักงาน กสทช. ที่สำนักข่าวอิศราเคยนำเสนอ รวมถึงข้อสังเกตอื่นๆ ในการใช้งบประมาณของสำนักงาน กสทช. ในการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความซับซ้อน ที่ กตป.รายนี้วิเคราะห์ว่า แม้บางครั้งจะทำทุกอย่างให้ถูกระเบียบ แต่อาจมีข้อพิรุธบางประการที่ไม่อาจมองข้าม
@ มุมมองของคุณ ในฐานะ กตป. มีประเด็นใดที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในการตรวจสอบโครงการโมบายแล็บคาร์ ?
ประเสริฐ : ประเด็นของเรา แรกสุดเราไม่ได้สนใจว่าใครจะได้งานนี้ หากเขาได้งานอย่างถูกต้องแต่เรามองในประเด็นที่ลึกกว่านั้น คือมองที่ทีโออาร์ ที่เขียนว่ามีการส่งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เราก็เลยสงสัยและเป็นโครงการที่เราหยิบยกมาตรวจสอบ เป็นกรณีพิเศษ
ประเด็น ต่อมาคือราคา เพราะเมื่อแยกย่อยอุปกรณ์ออกมาแล้ว ราคารถค่อนข้างสูง และจริงๆ แล้ว มันมีอุปกรณ์ บางตัวที่ คล้ายคลึงกับโครงการอื่น ซึ่งถ้าหากเขาเน้นที่ความคุ้มค่า ก็น่าจะใช้ด้วยกันได้ เพราะเท่าที่เห็น ปริมาณการใช้งานโครงการนี้ มีไม่มาก จนต้องแยกออกมาเป็นอีกโครงการต่างหาก
@ อุปกรณ์อะไร ที่คุณเห็นว่าคล้ายหรือเหมือนโครงการอื่น ?
ประเสริฐ : พวกเครื่องตรวจเช็คคลื่นความถี่
@ ยี่ห้อแอนริทสึ?
ประเสริฐ : เรื่องยี่ห้อนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ในเรื่องของเครื่อองตรวจเช็คคลื่นความถี่นั้น จริงๆ แล้ว คือ การตรวจสอบ คลื่นความถี่ มันไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความถี่เดียว เมื่อหน้าที่ของเขาคือการตรวจสอบทั้งหมด ดังนั้น ในเรื่องของความคุ้มค่า เมื่อจัดซื้อรถโครงการนี้ ผมจึงตั้งคำถามว่า เครื่องตรวจโทรคมนาคมเคลื่อนที่ ควรจะตรวจสอบคลื่นให้ได้ครอบคลุมหรือไม่ ถามว่ารถนี้สามารถไปดัดแปลง ใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี 4 จีได้ไหม เพื่อที่จะไม่มีการไปแยกว่ามีโครงการตรวจสอบคลื่น 3 จี 4 จี หรือโทรคมนาคมเคลื่อนที่ต่างหาก คือน่าจะให้ใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์มากกว่า
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญเราก็มองที่ทีโออาร์ และจริงๆ แล้วที่เราสงสัย คือ จู่ๆ มันก็มีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 2 เพิ่มเติม แต่ขอยังไม่เปิดเผยในส่วนนี้
@ กตป.ตั้งประเด็นไว้อย่างไร ในเรื่องการตรวจสอบราคาอุปกรณ์ต่างๆ ในท้องตลาด กับราคาที่ บ.จัสมิน ทำสัญญา กับ กสทช. ?
ประเสริฐ : การตรวจสอบราคา เราแยกระหว่างอุปกรณ์กับตัวรถ เราก็เห็นราคาในท้องตลาดว่ารถตู้คันหนึ่งควรจะราคาเท่าไหร่ ไม่ว่าจะใส่อะไรเข้าไป ต้นทุนก็ไม่ถึงขนาดนั้น นอกจากนี้ ควรต้องมีบันทึกเสนอผู้มีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติก็ไม่มี คือเขาไม่ยอมส่งมาให้เรา
นอกจากนี้ ประเด็นรถตู้ราคา 2 ล้านกว่าบาท ปกติในท้องตลาด ราคาล้านนิดๆ ล้านเดียว
เพราะฉะนั้น คุณตอบได้ไหมว่าระบบในรถคันนี้ระบบไฟฟ้าที่ทำให้มันแพงคืออะไร ระบบภายในและไฟฟ้าที่ปรับปรุงนั้นเป็นอย่างไร เครื่องปั่นไฟราคาเท่าไหร่ รถตู้โตโยต้านี้วิเศษวิโสอย่างไร มีอะไรที่ทำให้มันแพงขึ้นมาได้ คำถามคือรถนี้ มีสเปกอะไรที่ พิเศษทำให้ รถนี้เป็นรถเหนือรถยังไง และวิธีทำงานเป็นยังไง ถ้าหากต้องวิ่งหาคลื่น อุปกรณ์ในรถก็ต้องมีเครื่องยึด ต้องมีแร็กเมาท์ ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ นี้ มันก็จะพิสูจน์ ว่าเขียนทีโออาร์แบบกลอนพาไปหรือเปล่า และมันมีพิรุธในทีโออาร์ฉบับนี้
@ อิศราเคยสัมภาษณ์ รักษาการผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมได้รับคำตอบว่าภายในรถตู้มีการต่อเติม มีการโมดิฟาย?
ประเสริฐ : อย่างไร ล้านนึงเลยหรือ ประเด็นคือ เราตั้งคำถามข้อที่หนึ่งว่าการจัดทำโครงการนี้ มันมีความจำเป็น ความคุ้มค่าเหมาะสมเพียงไร นั่นเป็นข้อแรกที่ผมคิดว่าต้องตรวจสอบ จากนั้นก็ไปดูสเปกของ อุปกรณ์ต่างๆ และลำดับต่อมาก็ไปตรวจสอบเรื่องราคาเป็นประเด็นที่สาม เรายังไม่นำเรื่องราคามาเป็นประเด็นหลัก เพราะไม่ว่าราคาจะมากหรือน้อยก็เป็นประเด็นได้ทั้งนั้น เราให้ความสำคัญกระบวนการในเชิงลึก เพราะบางที ก็อาจใช้วิธีแยกโครงการที่มีลักษณะเดียวกัน แล้วทยอยซื้อ ทยอยจ้าง เพราะงบประมาณมีกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท การตรวจสอบ ไม่ใช่เรื่องง่าย
@ ยกตัวอย่างได้หรือไม่ โครงการที่มีลักษณะเดียวกันแต่แยกย่อยออกมา ?
ประเสริฐ : คือโครงการที่อ้างถึงการตรวจสอบและกำกับคุณภาพ ที่มีทั้งหมด 14 โครงการ ที่แม้บางโครงการยกเลิกไปแล้วเพราะตรรกะไม่เพียงพอ แต่มีหลายโครงการที่อ้างความจำเป็นต่อเนื่องกัน ในโครงการเหล่านี้ รวมแล้วใช้งบประมาณทั้งสิ้นราว 400 ล้านบาท
@ โครงการโมบายแล็บคาร์ อยู่ในส่วนนี้ด้วยไหม ?
ประเสริฐ : โมบายแล็บคาร์ เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามความคุ้มค่า เราจึงตั้งข้อสังเกตถึงความจำเป็น ความคุ้มค่า แต่เรายังมีอุปสรรค ในการเรียกเอกสารที่มากกว่านี้ อำนาจเรามันไม่มี เราจึงต้องขอให้ คตร. มาสอบเรื่องนี้
@ ในการตรวจสอบกรณีเช่นนี้ ขอบเขตอำนาจของ กตป. มีแค่ไหน ?
ประเสริฐ : เจตนารมณ์ ของกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรฯ ต้องการให้ กตป. ไปติดตาม ตรวจสอบ เพราะมันเป็นอำนาจหน้าที่ของเราโดยตรงอยู่แล้ว แต่เราก็ยังไม่มีอำนาจเรียกเอกสารบางส่วน จึงต้องขอให้ คตร.เข้ามา
@ ยังมีประเด็นใดอีกบ้างเกี่ยวกับโครงการของ กสทช.ที่ควรตรวจสอบเป็นพิเศษ ?
ประเสริฐ : คือประเด็นเรื่องคิวโอเอส ( QoS : ควอลิตี้ ออฟเซอร์วิส ) การตรวจสอบคุณภาพการให้บริการ ที่เรามีข้อสังสัยเพิ่มเติมว่ามีการทำโครงการบางโครงการของ กสทช. ยังไม่มีมาตรฐานในการกำกับ อย่างเช่น การตรวจสอบสัญญา Wifi ในอาคาร คุณยังไม่ออกมาตรฐานเลย หากถามว่าคุณตรวจสอบได้ไหม ตรวจสอบได้ แต่เมื่อคุณยังไม่ออกมาตรฐานเลย แล้วคุณไปจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ยังไง
@ การตรวจสอบในประเด็นที่ว่ามานั้น คงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญใดทางเทคนิค คุณมีจุดสังเกตใดอีกบ้าง ?
ประเสริฐ : คงต้องยอมรับว่าเรื่องของโทรคมนาคม วิทยุและโทรทัศร์ มันเป็นเรื่องเทคนิคพอสมควร ซึ่งหากเราตรวจเผินๆ ดูการเบิกจ่ายตามระเบียบ คือหลายโครงการที่ กตป.หยิบยกขึ้นมา ถ้าดูตามระเบียบ ถามว่าถูกต้องไหม เขาก็อ้างว่า ถูกต้อง เขาทำถูกต้องตามกระบวนการ มีการประกาศทีโออาร์ จัดซื้อจัดจ้างตามกระบวนการ
เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุว่าถ้าตรวจสอบในมิติของการทำถูกต้องตามระเบียบนั้น ก็ผ่าน เอาตะแกรงร่อนแล้วมันผ่าน แต่ตะแกรงร่อน ของ กตป. เอง เราร่อนละเอียดกว่านั้น เพราะเราต้องมองไปถึงเรื่องของเทคนิค เรื่องความคุ้มค่า ความเชื่อมโยง เช่น กรณีโมบายแล็บคาร์ บังเอิญ ทีโออาร์ เขียนไปว่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเดิม คือมันมีอะไร ที่ทำให้เราสนใจ เราสแกนเจอความผิดปกติตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เรายังไม่ออกข่าว เพราะเราต้องตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ
นอกจากนี้ โครงการโมบายแล็บคาร์นี่ ยังมีการไปเขียนในทีโออาร์ว่า “ส่งมอบกล้อง” มันก็เลยสะดุด คุณไปเขียนอย่างนั้นได้ยังไง
@ กรณีการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของ กสทช. “อิศรา” ก็ให้ความสำคัญในประเด็นเรื่องความจำเป็นและคุ้มค่า โดยราคาเป็นประเด็นรองลงมา ไม่ว่าราคาจะมากหรือน้อย หากมีข้อสังเกตก็ตรวจสอบทั้งสิ้น อาทิ กรณีจัดพิมพ์นามบัตรใบละ 6 บาท, จัดซื้อป้อมยาม, ต่อเติมโรงอาหาร กสทช. แล้วในส่วนของ กตป. มีกรอบหรือแนวทางในการตรวจสอบอย่างไร ?
ประเสริฐ : ถ้าดูหมดก็คงลำบาก เราก็ดูว่าอันไหนที่มีผลกระทบต่อสาธารณะเยอะ เช่น เรื่องของการตรวจสอบคุณภาพการให้บริการ ที่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ ขณะที่การสร้างป้อมยาม โอเค มันก็เป็นประเด็น แต่ประชาชน อาจยังไม่ได้รับผลกระทบมาก จริงอยู่ การจัดซื้อแพง อันนี้ก็เป็น เรื่องที่เขาต้องไปดีเฟล็กซ์ แต่โมบายแล็บคาร์นี่ หากซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ หรือซื้อมาแล้วมันไม่คุ้ม แล้วหากประชาชนร้องเรียนขึ้นมา หรือเกิดอะไรขึ้นมา ถ้าคุณไม่สามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ มันไม่สามารถใช้งานได้ มันคือ ความบกพร่องต่อประโยชน์สาธารณะ
@ กตป. เข้าไปตรวจสอบอุปกรณ์และการใช้งานภายในรถโมบายแล็บหรือยัง มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบในรถหรือไม่ ?
ประเสริฐ : เราตั้งใจจะเข้าไปดู แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลา และเรามีสิทธิ์เชิญเขามาให้ข้อมูล แต่เขามีสิทธิ์ที่จะเลื่อนได้ เช่นแจ้งเหตุขัดข้อง แต่ไม่มีสิทธิ์ในการปฏิเสธ
แต่เราก็อยากดูว่าท่านซื้อมาแล้ว ท่านได้ใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่เขียนตามทีโออาร์หรือเปล่า เพราะทีโออาร์มันไม่ใช่แค่พิธีกรรม แต่มันคือสิ่งที่ชี้วัดว่าคุณทำได้ตามวัตถุประสงค์ไหม ดังนั้น หากทีโออาร์ เขียนว่า “ส่งมอบกล้อง” เราก็มีความลำบากใจในการประเมินแล้วว่ายังไง
…
นี่คือความคืบหน้าล่าสุด ในการติดตามตรวจสอบโครงการรถตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคมเคลื่อนที่ หรือ Mobile Lab Car ของสำนักงาน กสทช. วงเงิน 11.2 ล้านบาท ที่นับจากนี้ย่อมเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งของทั้งซูเปอร์บอร์ดอย่าง กตป. และ คตร. ในการตรวจสอบโครงการดังกล่าวให้ครบทุกมิติไม่ว่าในเรื่องเทคนิค กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่มา เหตุผล ความจำเป็นในการจัดซื้อ รวมถึงความเหมาะสมของราคาและที่สำคัญ คือการตรวจสอบที่มาของ “ทีโออาร์” ที่ผิดปกติไม่น้อย
ภาพประเสริฐจาก : www.google.co.th