นักวิชาการเชื่อกระจายอำนาจ ‘ตำรวจ’ สังกัดท้องถิ่น ไม่กระทบมั่นคงชาติ
นักวิชาการ จุฬาฯ เชื่อกระจายอำนาจ ‘ตำรวจ’ สังกัดท้องถิ่น ไม่กระทบความมั่นคงชาติ เหตุเน้นจัดบริการสาธารณะ-สร้างส่วนร่วมภาค ปชช. เลิกหวั่นจะตกเป็นเครื่องมือนักการเมืองพื้นที่ มั่นใจความใกล้ชิดชาวบ้าน ช่วยตรวจสอบ
การเร่งขับเคลื่อนปฏิรูปตำรวจผ่านการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อถ่ายโอนภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงไปยังหน่วยงานอื่นของรัฐ อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มองว่า การลอกเลียนแบบอารยประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาจไม่เหมาะสม เพราะมีพัฒนาการมาช้านาน ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจแบบสุดโต่ง ด้วยกังวลจะกระทบกับความมั่นคง
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การอ้างกระจายอำนาจเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งเป็นจริงเช่นนั้น หากมองหลักคิดแบบทหารที่ต้องบริหารประเทศโดยเอกภาพ แต่ภารกิจงานในท้องถิ่นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทุกเรื่อง หากเกี่ยวข้องกับการจัดบริการสาธารณะและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นหลัก
สำหรับ ‘ตำรวจ’ ไม่สามารถกระจายอำนาจได้นั้น นักวิชาการ จุฬาฯ ระบุว่า เมื่อนำข้อมูลการกระจายอำนาจทั่วโลกมาหักล้างกัน คำถาม คือ จริงหรือไม่ที่กระจายไม่ได้ หลายประเทศที่มีความเจริญมากกว่า ระดับเดียวกัน หรือด้อยกว่าไทย ล้วนแต่กระจายอำนาจตำรวจขึ้นกับท้องถิ่นทั้งสิ้น ดังนั้น เพราะเหตุใดเราจึงกระจายไม่ได้
“ไทยกระจายอำนาจตำรวจสู่ท้องถิ่นไม่ได้ เพราะมุ่งหวังการคุมกำลังพลกว่า 2 แสนนาย งบประมาณ หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระดับชาติ ต้องตอบคำถามให้ได้” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว และว่าถ้ากระจายอำนาจแล้ว ตำรวจสามารถดูแลแก้ไขคดีได้ดีขึ้น สิ่งนี้ก็น่าคิด
นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า บางครั้งอาจมองกันในมุม หากกระจายอำนาจตำรวจไปแล้ว จะบริหารกำลังพลไม่ได้ โยกย้ายคนไม่ได้ หรือสร้างฐานอำนาจการเมืองระดับชาติไม่ได้ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ผบ.ตร.ต้องอธิบายสังคมให้ได้ถึงสาเหตุไม่กระจายอำนาจตำรวจขึ้นกับท้องถิ่น และโครงสร้างปัจจุบันตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาชาวบ้านได้จริงหรือ โดยเฉพาะคดีเล็กน้อย (มโนสาเร่)
ทั้งนี้ อาจมีข้อกังวลว่า การกระจายอำนาจจะทำให้ตำรวจตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่ด้วยลักษณะองค์กรเล็กและใกล้ชิดชาวบ้าน จะทำให้เกิดการตรวจสอบในระดับพื้นที่ได้ง่ายขึ้น หากตำรวจตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองระดับชาติเหมือนโครงสร้างปัจจุบันจะตรวจสอบยาก
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ ยังกล่าวว่า การกระจายอำนาจที่ดีจึงต้องทำให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ตรวจสอบ ดูแล และเกิดกระบวนการออกแบบตำรวจไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองท้องถิ่น ดังเช่นการแต่งตั้งชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) .
อ่านประกอบ:‘พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง’ ค้านปฏิรูปตำรวจสุดโต่ง หวั่นกระทบมั่นคงชาติ
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เอ็มไทย