"วิชิต"ออกโรงเอง ยันพร้อมร่วมมือสอบคดี สจล. ไม่มีนโยบายปกป้องคนทุจริต
"ไทยพาณิชย์" เปิดแถลงข่าวรอบ 3! คราวนี้ "วิชิต สุพงษ์ชัย" ซีอีโอออกโรงเอง ยืนยันคำเดิม พร้อมให้ความร่วมมือตรวจสอบคดี สจล.เต็มที่ ไม่ปกป้องคนทุจริต แจงส่งมอบเอกสารล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลา เผยเหตุไม่ดำเนินการเฉียบขาดกับ "ทรงกลด" เพราะได้รับการยืนยันจากลูกค้าว่าบัญชีเรียบร้อย
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2558 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย นายวิชิต สุพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดแถลงข่าวยืนยันนโยบายของไทยพาณิชย์ต่อคดีการยักยอกเงินฝากของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จำนวน 1,600 ล้านบาท ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบคดีนี้ โดยเฉพาะขั้นตอนการส่งมอบเอกสารและหลักฐานต่างๆ ไม่เคยมีนโยบายปกปิด หรือปกป้องคนทุจริต
" ในเรื่องนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (23 ม.ค.58) นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบริหารป้องกันอาชญากรรมทางการเงินและความปลอดภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีประสบการณ์เรื่องนี้ เขามีคำชี้แจงไปพอสมควร แต่ก็ยังมีคนพูดกันว่าทำไมผู้หลักผู้ใหญ่ของไทยพาณิชย์ ไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจน ดังนั้น วัตถุประสงค์ จริงๆ ที่มากล่าวในวันนี้ คือการยืนยันถึงนโยบายของธนาคารเกี่ยวกับเรื่องของการทุจริต"
นายวิชิต กล่าวว่า เรื่องของ สจล. เป็นเรื่องที่กระบวนการอยู่ในมือตำรวจ ผู้ที่ธนาคารจะต้องติดต่อมากที่สุดคือตำรวจ เพราะตำรวจมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ ประเด็นที่สงสัยว่าตำรวจต้องการเอกสารแล้วล่าช้า เนื่องจากเอกสารที่ต้องการนั้นมีจำนวนมาก มีหลายบัญชี
"เราไม่มีเจตนา ไม่มีประโยชน์ และไม่มีเหตุผล ที่เราจะซุกไว้หรือไม่ให้ ถามว่าเราจะทำแบบนั้นทำไม เพียงแต่อาจไม่ทันใจว่า ขอวันนี้ แล้วต้องได้ เพราะเอกสารเราเยอะ ลูกค้าเรามีกว่า 10 ล้านราย เราต้องแน่ใจว่าเอกสารที่ให้ไปนั้นใช้ได้ จึงมีปฏิกริยาในช่วงแรกๆ ว่าทำไมถึงช้า แต่นี่เป็นข้อเท็จจริงในการทำงานของเรา แต่ไม่เคยมีเจตนาหรือไม่มีนโยบาย ที่จะไม่ให้เอกสาร ขอยืนยัน ในเรื่องนี้ ตอนนี้ ทยอยมอบเอกสารให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมากขึ้น เพราะเรายืนอยู่ในข้างที่จะให้เอกสาร เราพร้อมผสานกับตำรวจด้วยซ้ำ ยืนยันได้ว่าเราให้ความร่วมมือ"
นายวิชิต กล่าวว่าส่วนประเด็นหนึ่งที่อาจมีคำถาม คือ ตอนนี้ สจล. ก็ยังเป็นลูกค้าของธนาคาร เพราะธนาคารไม่ได้ปิดบัญชี สจล. เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง ระหว่างสถาบันกับสถาบัน สจล. เป็น สถาบันที่ทรงเกียรติ นี่ไม่ใช่เรื่องระหว่างสถาบัน แต่เป็นเรื่องระหว่างตัวบุคคล เมื่อเกิดเรื่องก็ต้องสอบว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง
นายวิชิต กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่มีคนตั้งข้อสังเกต เป็นความรู้สึกว่าทำไมตอนนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่ดำเนินการเฉียบขาดกว่านั้นกับนายทรงกลด ศรีประสงค์ ( อดีตผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ ) ขอชี้แจงว่าไม่เคยปกป้องคนทุจริต แต่กรณีที่เกิดกับนายทรงกลด คือปฏิบัติไม่ตรงตามระเบียบ
"คนที่จะเช็คได้คือลูกค้า เราถามว่าบัญชีเรียบร้อยไหม สิ่งที่เราได้รับคำยืนยัน คือ บัญชีเรียบร้อย
หลังจากที่นายทรงกลดไม่อยู่แล้ว ไปทำอะไรที่อื่น ธนาคารไทยพาณิชย์เราไม่รู้เรื่องเลยนะครับ เมื่อเขาไปอยู่ที่อื่น เราไม่รู้เรื่อง ประเด็นตอนธันวาคม เป็นช่วงที่เขาออกจากไทยพาณิชย์ไปสักพักแล้ว เราไม่รู้เรื่อง เมื่อตอนที่เราพบว่าเขาปฏิบัติไม่ตรงระเบียบ เราไม่สบายใจ แต่เมื่อเราได้รับการยืนยันจากลูกค้าว่าเรียบร้อย แต่เมื่อเขาปฏิบัติไม่ตรงตามระเบียบ เราก็ขอให้ออก เราไม่มีทางรู้ว่าจากนั้นจะมีเรื่องเกิดขึ้นที่อื่น จริงๆ แล้ว ลูกค้า ก็ชอบการประกอบการของนายทรงกลด ด้วยซ้ำ แต่เมื่อไม่สบายใจก็ให้ออกไปเลย"
นายวิชิต ยังระบุด้วยว่า "แต่ผมบอกตรงนี้ว่าถ้ามาพบในตอนนี้ว่านายทรงกลด ทำหน้าที่ที่กระทำทุจริตในช่วงที่อยู่ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารไทยพาณิชย์จะรับผิดชอบ ตามกฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรม แต่ถามว่าตอนนั้นเรารู้ไหม เราไม่รู้”
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถามว่า วงเงินที่มีกระแสข่าวว่านายทรงกลด ยักยอก เบิกถอนออกไปนับพันล้านบาทนั้น จริงๆ แล้วมีการถอนออกไปกี่ครั้งและเป็นวงเงินจำนวนเท่าไหร่แน่ นายวิชิต กล่าวว่า "ไม่ทราบ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบริหารป้องกันอาชญากรรมทางการเงินและความปลอดภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกมาเปิดแถลงข่าวยืนยันข้อเท็จจริงกับสื่อมวลชนไปแล้ว 2 ครั้ง แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารไทยพาณิชย์ก็ยังไม่หมดไป จนกระทั่ง นายวิชิต สุพงษ์ชัย ต้องออกมาเปิดแถลงข่าวด้วยตนเอง
( อ่านประกอบ : แกะรอย"สจล.VSไทยพาณิชย์"ใครพูดจริง-เท็จ ปมไอ้โม่งฉากหลัง"ทรงกลด" )