นักวิชาการค้านเดินหน้า ‘พ.ร.บ.สวนป่า’ ฉบับแก้ไข ผ่าน สนช.วาระ 2-3
นักวิชาการ มก.ชง กมธ.พิจารณาร่างฯ 6 ข้อทบทวน แก้ไข พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 หลังเนื้อหาไม่เอื้อส่งเสริมการปลูก หากไม่ตอบสนอง ‘ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์’ ระบุยากจะผ่านวาระ 2-3 แนะกลับไปใช้กม.เดิม รอยกร่างฯ ฉบับใหม่
วันที่ 27 มกราคม 2558 ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มีการจัดเวที ‘วาระสุดท้าย ลมหายใจป่าเศรษฐกิจ’ เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สวนป่า ฉบับ... พ.ศ. ... ซึ่งกำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 และ 3 โดยมีดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ คณบดีคณะวนศาสตร์ มก. และผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างศักยภาพ คณะวนศาสตร์ มก. ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว พร้อมด้วยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสวนป่า ร่วมแถลงข่าว
ดร.จงรัก กล่าวว่า ภายหลังเข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างฯ 2 ครั้งที่ผ่านมา พบยังไม่มีการแก้ไขรายละเอียดให้เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมปลูกป่า ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนาเพื่อการส่งเสริม ไม่ใช่ควบคุม เพราะมีกฎหมายอื่นระบุไว้อยู่แล้วสำหรับการปราบปรามหรือตรวจสอบ ดังเช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 เราจึงไม่อยากเห็นการบัญญัติโทษ เพราะเป็นสิ่งที่ผิดวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ หากมีการกระทำผิด ควรใช้วิธีการลดสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ
สำหรับบทบาทด้านสิ่งแวดล้อมในการปลูกสวนป่านั้น คณบดีคณะวนศาสตร์ ยอมรับว่า แม้จะมีไม่เท่ากับป่าธรรมชาติ แต่หากจัดการอย่างยั่งยืน เชื่อจะมีบทบาทใกล้เคียงกัน เพราะจะสามารถอนุรักษ์ดินและน้ำ เพียงแต่ต้องตั้งกองทุนสนับสนุนการปลูกสวนป่าเศรษฐกิจ โดยอาจจะระดมทุนจากแหล่งใดก็ได้ ให้สิทธิดอกเบี้ยระยะสั้น ยาว หรือไม่มีเลย เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกสวนป่ามีหนทาง เพราะการปลูกแต่ละครั้งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ บางรายอาจขาดทุนก็ได้
ดร.จงรัก กล่าวด้วยว่า วันที่ 28 มกราคม 2558 จะเข้าไปชี้แจงต่อ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างฯ เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา เป็นครั้งสุดท้าย คิดว่าคงเพียงพอแล้ว หากไม่รับฟังก็ขอเรียกร้องให้ปฏิเสธการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แล้วกลับไปใช้ พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 เหมือนเดิม เพราะเมื่อแก้ไขไม่ดีก็ไม่สมควรแก้ไข หรือยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่แทน แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็ขอให้ยกเลิกการบัญญัติบัญชีไม้แนบท้ายในร่าง พ.ร.บ. แล้วนำไปบัญญัติไว้ในกฎกระทรวง
"ไม้ชนิดหลักที่ประเทศไทยใช้กันมีอยู่ 3 ชนิด มาจากการปลูกยางพารา 22 ล้านไร่ ยูคาลิปตัส 3 ล้านไร่ เเละไม้สัก 1ล้านไร่ ดังนั้น 'พ.ร.บ.สวนป่า' ที่จะออกมาควรส่งเสริมให้คนปลูก ไม่ใช่ควบคุม คิดจะแก้ไขทั้งที ก็น่าแก้ให้ดีไปเลย" คณบดีคณะวนศาสตร์ กล่าว
ด้านผศ.ดร.นิคม กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.สวนป่า ฉบับ... พ.ศ. ...อาจเป็นกฎหมายแรกที่ไม่ผ่านการพิจารณาของ สนช. ว่า เนื่องจากรายละเอียดกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกสวนป่ารายย่อย ดังนั้นจึงไม่ควรผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะจะกระทบเชิงลบต่ออาชีพ คณะวนศาสตร์จึงลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อคนไทย หากไม่ทำวันนี้ ลูกหลานจะตำหนิบรรพบุรุษได้ว่าปล่อยให้ผ่านกฎหมายแบบนี้มาได้อย่างไร
“ไทยประกาศปิดป่า พ.ศ.2532 ได้นำเข้าสุทธิไม้ปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นเรื่องน่าอับอาย เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีนโยบายปักธงในอีกกี่ร้อยปีข้างหน้าให้ไทยเป็นประเทศส่งออกสุทธิที่ชัดเจน โดยเฉพาะจากองค์ความรู้ของคนไทย” รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างศักยภาพ กล่าว และว่าโลกปัจจุบันเริ่มหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติมากขึ้น แต่เหตุใดร่าง พ.ร.บ.จึงต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม ทั้งที่ต้นไม้ที่ปลูกล้วนมาจากพื้นที่มีเอกสารสิทธิ 130 ล้านไร่ ไม่ใช่พื้นที่ป่าสงวนเลย”
ผศ.ดร.นิคม ระบุถึงกระแสข่าว กมธ.พิจารณาร่างฯ ไม่ยอมเลิกนำ ‘ไม้ยางพารา’ ขึ้นบัญชีแนบท้าย เกิดจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) อยากขายไม้ชนิดนี้จำนวน 2 แสนไร่ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทว่า ไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะ อ.อ.ป.มีพื้นที่ปลูกยางพาราชัดเจน จำนวน 9 หมื่นไร่ และมีระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน เพียงแต่ชาวสวนยางพาราอาจกังวลจะพบกับขั้นตอนที่ยุ่งยากขึ้น เพราะปัจจุบันเป็นไม้นอกบัญชีหวงห้าม ซึ่งสะดวกในการจัดการ
ขณะที่นางยิ่งลักษณ์ ปฏิภาณเทวา เครือข่ายผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจ ในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกไม้สัก กล่าวว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 เกษตรกรประสบความลำบากในขั้นตอนที่ยุ่งยาก บางครั้งต้องจ่ายเงินแก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อช่วยให้การขอขึ้นทะเบียน ตัดฟัน รวดเร็วขึ้น ทั้งที่ปลูกต้นไม้ในที่ดินเอกสารสิทธิของตัวเอง ดังนั้นเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน แล้วยกร่างขึ้นใหม่ ชื่อว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริมอย่างแท้จริง ป้องกันการสวมตอ
นอกจากนี้ต้องจัดให้มีสำนักงานส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบริหารและสนับสนุนเงินทุนระยะยาว พร้อมกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกษตรกรจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ลดต้นทุนในการติดต่อ สุดท้าย เกษตรกรต้องรวมตัวเป็นสหกรณ์ เพื่อสร้างการจัดการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างอำนาจการต่อรองราคา สร้างมูลค่าเพิ่มส่งขายต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะวนศาสตร์ มก. และเกษตรกรผู้ปลูกสวนป่า มีประเด็นเรียกร้องต่อ กมธ.พิจารณาร่างฯ ให้ทบทวน 6 ข้อ ดังนี้
1.ควรสร้างกลไกในการสนับสนุน จูงใจให้คนอยากปลูกสร้างสวนป่าไว้ เช่น การจัดตั้งกองทุน การลดหย่อนภาษี
2.กฎหมายมุ่งเน้นการส่งเสริม ไม่ควรมีบทลงโทษ
3.แยกบัญชีไม้เป็น 2 กลุ่ม คือ ไม้หวงห้าม และไม้นอกบัญชีหวงห้าม (ไม้ต่างถิ่น) หรือให้ตัดบัญชีไม้แนบท้ายออก และออกในกฎกระทรวงแทน พร้อมเพิ่มคำนิยาม ‘ไม้ป่า’ หมายถึง ไม้ต้นที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์เนื้อไม้ และของป่าเป็นหลัก แทน
4.ลดความยุ่งยากในการเตรียมข้อมูล เพื่อขอขึ้นทะเบียนตัดฟัน
5.ระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติต้องมาจากการมีส่วนร่วม และมุ่งเน้นการส่งเสริมเป็นหลัก
6.การรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต้องทำโดย ‘Third party ที่หน่วยงาน Accreditation Body (AB) รับรอง ซึ่งต้องดำเนินการตาม Scheme ที่เป็นสากล .
อ่านประกอบ:นักวิชาการ ค้านขึ้นบัญชี (ไม้) แนบท้าย-บทลงโทษ ในพ.ร.บ.สวนป่าฯ