ก.วิทย์ฯ ชง 3 มาตรการ หนุนพัฒนานวัตกรรมไทยเป็นวาระแห่งชาติ
ก.วิทย์ฯ เดินหน้ายกระดับโครงสร้างองค์กร สร้างระบบงบฯ ลงทุนต่อเนื่องภาครัฐ ขับเคลื่อนอย่างมีเอกภาพ ชง 3 มาตรการด่วน หนุนพัฒนานวัตกรรมเป็นวาระเเห่งชาติ หวังดึงเม็ดเงินเอกชนลงทุนวิจัยพัฒนา
วันที่ 14 มกราคม 2558 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มองนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดขึ้น โดยในปี 2558 ได้มีแผนขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างให้สำเร็จ 3 เรื่องสำคัญ คือ
1. ระบบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ทำให้ระบบงบประมาณการลงทุนเอื้ออำนวยให้เกิดความต่อเนื่องและคุ้มค่ากับการพัฒนาความเจริญ เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการเกือบทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ฯ ส่วนใหญ่ไม่เสร็จสมบูรณ์ในปีเดียว ฉะนั้นจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องในการลงทุนภาครัฐ
2. ระบบบริหารจัดการด้าน วทน. ส่งเสริมให้เกิดการนำบริหารงานอย่างชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูง เพราะวิทยาศาสตร์ฯ ไม่ได้เป็นเรื่องที่จำกัดเฉพาะกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกกระทรวง ฉะนั้นการต่อยอดนโยบายหรือลดความซ้ำซ้อนต้องได้รับการสั่งการจากผู้นำระดับสูง
3. การพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นเอกภาพ จะขับเคลื่อนประเทศต้องมีเอกภาพตั้งแต่วิธีคิด นโยบาย แผนปฏิบัติการ ดังนั้นต้องมีเอกภาพในระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ฯ
สำหรับการกระตุ้นภาคเอกชนให้ลงทุนวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพื่อให้มีงบประมาณรองรับ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ 3 มาตรการเร่งด่วน โดยผลักดันเป็นวาระเเห่งชาติ คือ สนับสนุนการลดหย่อนภาษีวิจัยและพัฒนาจากเดิม 200% เป็น 300% นั้น ขณะนี้มีการดำเนินงานชัดเจนมากขึ้น โดยกระบวนการจะรับรองบริษัทเอกชนวิจัยแทนการรับรองรายโครงการ เพื่อให้เกิดการลื่นไหลในประสิทธิภาพการหักลดหย่อน เมื่อวงจรการอนุมัติรวดเร็ว เม็ดเงินของบริษัทเอกชนก็จะกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้น
“กระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้หารือกับกระทรวงการคลัง คาดว่าการดำเนินงานจะเสร็จสิ้นภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หลังจากนั้นกรมสรรพากรจะออกพระราชกฤษฎีกาตามขั้นตอนปกติ ทั้งนี้ นโยบายมุ่งให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารโครงการและส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน บางโครงการอาจใช้เวลานานถึง 3-4 เดือน เพราะขาดผู้เชี่ยวชาญ”
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีมาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เมื่อบริจาคเงินให้แก่กองทุนที่เกี่ยวข้องกับ วทน. เป็นแรงจูงใจให้กองทุนต่าง ๆ เติบโต และนำเงินที่ได้รับบริจาคขยายผลหรือพัฒนาให้เอสเอ็มอีเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานมากขึ้น โดยขั้นตอนจะเหมือนกับการบริจาคเงินแก่สถานศึกษา ซึ่งกรมสรรพากรจะเปิดให้สถานศึกษาลงทะเบียนในฐานะผู้รับบริจาค เมื่อมีผู้บริจาคก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์
ทั้งนี้ จะมีการเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งหนึ่ง พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริจาคและรับบริจาคเข้าใจมากขึ้น
ดร.พิเชษฐ กล่าวถึงมาตรการสุดท้าย คือ การสนับสนุนนวัตกรรมโดยผูกกับการสร้างตลาดภาครัฐ โดยเอื้อให้การจัดซื้อจัดจ้างในสินค้าและบริการใช้นวัตกรรมของไทยมากขึ้น โดยแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ยกตัวอย่าง ให้ระบุสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานภายในประเทศสามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่มีราคาเกิน 1 แสนบาท ได้โดยตรงผ่านวิธีพิเศษ อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวต้องครอบคลุมนวัตกรรมในประเทศ ทั้งนี้ แม้จะเป็นของไทยก็ต้องมีคุณภาพ มาตรฐานเทียบเคียงสากล ปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่จะเอาอะไรก็ได้
“ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งคณะทำงานชุดเล็กขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง โดยคาดว่าจะมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ระบุถึงความคืบหน้า .
อ่านประกอบ:ก.วิทย์ หวังมาตรการยกเว้นภาษี 300% สร้างแรงจูงใจเอกชนทุ่มงบ R&D