‘กรมบัญชีกลาง’ ดีเดย์ใช้ระบบ e-Market กับ e-Bidding จัดซื้อฯ 1 ก.พ. 58
‘กรมบัญชีกลาง’ ดีเดย์ระบบ e-Market กับ e-Bidding 1 ก.พ. 58 นำร่องส่วนกลาง ก.คลัง รับปากเดินหน้าดันกม.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เน้นคุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ เตรียมชง ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ หวังจับมือ 3 ฝ่าย ป้องกันทุจริต
น.ส.ชุณหจิต สังข์ใหม่ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พ.ศ. ... ว่า เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่นอน แต่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีเนื้อหาครอบคลุมหลักปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ ทุกหน่วยงานภาครัฐที่เหมือนกัน ในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และองค์กรอิสระ แต่จะไม่ปรากฏรายละเอียดที่เข้มงวดมากเกินไป อย่างไรก็ตาม จะบรรจุหลัก ความคุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ไว้
“ในอดีตมีข้อกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างฯ ต้องคัดเลือกเกณฑ์ราคาต่ำที่สุด แต่ต้องยอมรับว่า ของดีและถูกหายาก ไม่มีในโลก” รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุ และว่า จึงต้องบรรจุเกณฑ์คุณภาพประกอบการตัดสินใจด้านราคาด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทั้งทางเทคนิคและราคา ส่วนสัดส่วนที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรอยู่ในขั้นตอนการกำหนดรายละเอียดต่อไป
สำหรับความโปร่งใสนั้น น.ส.ชุณหจิต กล่าวว่า ต้องจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างฯ ในเว็บไซต์ของหน่วยงานและกรมบัญชีกลาง ซึ่งในอดีตบังคับเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างฯ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auctions) ให้ต้องเปิดเผยข้อมูล แต่ในระดับท้องถิ่นยังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ตาม เห็นควรให้หน่วยงานภาครัฐทุกระดับต้องเปิดเผยทั้งหมด
รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ยังกล่าวถึงการตรวจสอบได้ ผู้ปฏิบัติต้องเตรียมเอกสารหลักฐานพร้อมเสมอสำหรับการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และให้มีการประเมินผลจากกรมบัญชีกลาง ส่วนระบบการร้องเรียนจะระบุในกฎหมายด้วยว่า ต้องร้องเรียนต่อหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างฯ และหน่วยงานนั้นต้องพิจารณาข้อร้องเรียนด้วย
“สิ่งที่กำลังถกเถียงกันขณะนี้ คือ ในร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พ.ศ. ... ควรบรรจุบทลงโทษผู้กระทำผิดด้วยหรือไม่”
น.ส.ชุณหจิต กล่าวอีกว่า กรณีราคากลาง จากเดิมมีเพียงราคากลางการก่อสร้างของราชการ ซึ่งมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในการคิดคำนวณ นำมาใช้อ้างอิง แต่สิ่งที่ควรบรรจุไว้ในกฎหมายต่อไป คือ การขึ้นทะเบียนผู้ก่อสร้าง ซึ่งในกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างระบุไว้แล้ว แต่ส่วนราชการมักขึ้นทะเบียนกันเอง ทำให้บริษัท 1 แห่ง ต้องขึ้นทะเบียนหลายครั้ง หากส่วนราชการมีหลายเรื่อง ดังนั้นต้องขึ้นทะเบียนราคากลางก่อสร้างและผู้ประกอบการก่อสร้างไว้ในแหล่งเดียวอย่างชัดเจน
สำหรับข้อเสนอจากหลายภาคส่วนให้ทำ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ยืนยันเกิดขึ้นแล้วในระดับนโยบาย และกำลังเสนอต่อกระทรวงการคลัง โดยอาศัยความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ เจ้าของโครงการ ผู้ยื่นซองประมูล ซึ่งหากได้รับคัดเลือกจะกลายเป็นผู้รับการประมูล และผู้สังเกตการณ์ ที่มาจากบุคคลภายนอกที่จะเข้ามามีส่วนร่วมรู้เห็น
“ผู้สังเกตการณ์จะทำหน้าที่ติดตามการดำเนินงานตั้งแต่ขั้นตอนการร่างขอบเขตงาน (Term of reference : TOR ) จนโครงการจบ หากการดำเนินงานถูกต้อง ทุกอย่างเปิดเผย โปร่งใส ไม่ล๊อคสเปก ก็จะไม่มีผลอะไรกับโครงการ” น.ส.ชุณหจิต กล่าว และว่า ดังนั้น ผู้สังเกตการณ์ไม่ได้ทำให้โครงการนั้นสะดุดลงหรือล่าช้าประการใด กลับทำให้โครงการนั้นได้รับข้อพิสูจน์ตามที่ควรจะเป็น โดยบุคคลจะมาจากภาคเอกชน ซึ่งระยะแรกจะครอบคลุมโครงการที่ถูกเลือกขึ้นมา แต่หากโครงการใดจะสมัครใจเข้าร่วมก็ได้
ที่สำคัญ ทุกครั้งที่ผู้เสนอราคาประมูลจะต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรม โดยเฉพาะประเด็นการแสดงให้เห็นนโยบายขององค์กรนั้นเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเริ่มนำร่องในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะมีบรรจุในกฎหมาย ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ดำเนินงานไปได้ระยะหนึ่ง สำหรับระบบ e-Auctions ที่มีปัญหา เราคงไม่แก้ไขแล้ว แต่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบ e-Market กับสินค้าสำนักงานทั่วไป เช่น ไมโครโฟน กระดาษ ปากกา แก้วน้ำ เป็นต้น ส่วนกรณีที่มีความซับซ้อนมาก ต้องตรวจสอบสเปก จะใช้ระบบ e-Bidding โดยจะเริ่มนำร่องกับหน่วยงานกระทรวงการคลังส่วนกลาง ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งขณะนี้มีผู้ค้าเข้ามาลงทะเบียนมาพอสมควรแล้ว
“กรมบัญชีกลางอาจประชาสัมพันธ์น้อยเกินไป ทั้งที่มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีความพยายามพัฒนาฐานข้อมูลให้สามารถสืบค้นรายชื่อผู้ประกอบการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างละเอียดให้อยู่ในฐานเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการสอบถามและสอบสวน" น.ส.ชุณหจิต ทิ้งท้าย .
อ่านประกอบ:ไทยไร้กม.คุมจัดซื้อฯ เสี่ยงเอื้อโกง ‘ดร.เดือนเด่น’ หนุนควิกวินเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ผู้จัดการ