ควิกวิน! เหตุผลต้องเดินหน้า กอช.สร้างระบบบำนาญประชาชน
สปช.ลุยควิกวิน เร่งรัด ครม.เดินหน้ากองทุนการออมฯ หลังล่าช้า 3 ปี 7 เดือน กระทบปชช. นอกระบบ 'นพ.อำพล' ชี้ข้อต่างจากประกันสังคม ม.40 เน้นเงินบำนาญ ตรงกลุ่มเป้าหมาย เผยทำไม่ได้ ต้องทบทวนตัวเอง 'สมชัย ฤชุพันธุ์' เชื่อเป็นระบบมั่นคง ไม่ล่ม ไม่ทำลายระบบคลัง
วันที่ 22 ธันวาคม 2557 ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีวาระการประชุมเพื่อพิจารณา รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้เพื่อการยังชีพของผู้สูงอายุ:การเร่งรัดการดำเนินการงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) พ.ศ.2554 ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส พิจารณาเสร็จแล้ว
ทั้งนี้ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส กล่าวตอนหนึ่งถึงผลการพิจารณาว่า สภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 324 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง หมายความว่า กฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่อมาเมื่อฝ่ายค้าน (พรรคเพื่อไทย) ได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลกลับไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยลงมติเห็นด้วย
ก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหาร สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ คือ รัฐบาลสมัยนั้นพยายามเสนอแก้กฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2555 ต่อเนื่องปี 2556 ใน 7 ประเด็นหลัก ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม สามารถผลักดันให้เกิด กอช.ก่อนได้ และแก้ไขข้อบกพร่องภายหลัง แต่แล้วก็ไม่ได้แก้ไขตามที่ระบุไว้ จึงทำให้กฎหมายค้างมาเรื่อย ๆ และเปิดช่องทางใหม่ คือ ประกันสังคม มาตรา 40
ประธาน กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ กล่าวต่อว่า กอช.เน้นระบบการออมบำนาญ เพื่อให้ได้จนวาระสุดท้ายของชีวิต เเละไม่ให้นำเงินบำเหน็จมาใช้ก่อนจนหมด ซึ่งจะทำให้ตัวเองตกเป็นภาระการดูแลของสังคมต่อไป แม้มาตรา 40 จะเป็นช่องทางใหม่ทำให้คนได้รับโอกาสมากขึ้น แต่ประชาชนอีก 24.6 ล้านคนกลับไม่มีโอกาสเข้ามา เพราะไม่มีการผลักดัน กอช.
“เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ผมลองไปสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งสามารถส่งเงินออมย้อนหลังและล่วงหน้าได้” นพ.อำพล กล่าว และว่ากอช.ไม่มีนโยบายให้คนในระบบได้ประโยชน์ นอกจากประชาชน 24.6 ล้านคน เท่านั้น
ประธาน กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ กล่าวด้วยว่า ถ้าพรุ่งนี้ลาออกจากประกันสังคม มาตรา 40 รัฐบาลก็จะจ่ายให้ 100% ย้อนหลังจนถึงปี 2555 ระบบนี้จึงผิดกลุ่มเป้าหมาย และทำให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ส่วน กอช.กลับไม่เดินหน้าจัดตั้งกองทุน แต่ไปทำด้านข้างแทน โดยมีความคิดจะนำมาแทนกันได้ ขณะนี้ประกันสังคม มาตรา 40 เลยเป็นตัวขวางทำให้ กอช.เดินหน้าต่อไม่ได้
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหาร นพ.อำพล ระบุว่า ประชาชนและเครือข่ายต่าง ๆ มีความหวังให้ กอช.ตั้งขึ้นสำเร็จ แต่ที่ล่าช้าเพราะเกิดจากประเด็นการเมือง
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวไว้ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 ความต่อหนึ่งว่า...
“เรื่องกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสวัสดิการชุมชน เมือง โฉนดชุมชน ที่เคยดำเนินการมา เราได้พยายามทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้น เพื่อความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ในประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในขั้นการพิจารณาหาวิธีการดำเนินการ โดยไม่ให้มีผลกระทบกับระบบการเงิน การคลังของประเทศ”
ประธาน กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ ยังกล่าวถึงการนำเสนอข่าวในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ อ้างถึงนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม ระบุวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้ง กอช. เพื่อเป็นเงินออมให้แก่สมาชิกอาชีพอิสระ จะได้มีความมั่นคงในชีวิต
น่าเสียดาย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 เดลินิวส์รายงานว่า นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลับไม่เสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี และเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด
สุดท้าย กมธ.ปฏิรูปด้านสังคมฯ พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว เห็นว่า การไม่จัดตั้ง กอช.ได้สร้างความเสียหายต่อประชาชน แทนที่จะได้มีเงินออมเร็ว กลับต้องช้าไปอีก 3 ปี และยังทำให้ประชาชนที่ใกล้อายุ 60 ปีขณะนั้น หมดสิทธิจนต้องไปสมัครในระบบประกันสังคม มาตรา 40 แทน
นพ.อำพล กล่าวต่อว่า ประกันสังคม มาตรา 40 มาจากฐานของกฤษฎีกา เน้นการรับบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้และอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แต่ กอช.มาจากพ.ร.บ. ซึ่งมีฐานะชัดเจน โดยที่สิทธิตามกฎหมายของมุ่งเน้นไปที่ระบบบำนาญชราภาพ ผูกพันระยะยาว และอยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลัง เพื่อรักษาวินัยทางการเงินการคลัง
สำหรับการอภิบาลและจัดการระบบของกอช.นั้น จะยึดหลักธรรมาภิบาลชัดเจน คือ คณะกรรมการลงทุนจะมาจากผู้แทนภาครัฐและสมาชิก แต่ประกันสังคม มาตรา 40 มาจากผู้แทนภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง โดยไม่มีสัดส่วนของผู้ประกันตนนอกระบบ
“มีโอกาสสนทนากับนพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผูสูงอายุไทย ซึ่งได้สอบถามท่านว่า กอช. ดีหรือไม่ ก่อนได้รับคำตอบว่า ดี ต้องทำ แล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อติดประกันสังคม มาตรา 40” ประธาน กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ กล่าว และว่า ท่านบอกไม่เห็นจะยาก กอช.ก็ทำไป ส่วนอำนาจหน้าที่จากประกันสังคม มาตรา 40 สามารถโอนบางส่วนมาก็ค่อยว่ากัน พร้อมยืนยันเป็นระบบที่ดีกว่าสังคมสงเคราะห์แน่นอน
นพ.อำพล กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศและคืนความสุขแก่ประชาชน นายกรัฐมนตรีจะต้องเดินหน้า มิเช่นนั้นจะหวังปฏิรูปได้อย่างไร ทั้งนี้ สปช.มีหน้าที่ในการเสนอให้รัฐบาลเดินหน้า โดยไม่นำเรื่องประกันสังคม มาตรา 40 มาเป็นข้ออ้าง และหากจะผลักดันเป็นพ.ร.บ.ต่อไปก็ควรเพิ่มความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีโอกาสสวนทางสูง เพราะคนที่มีโอกาสแล้วก็ไปได้อีก
สุดท้าย การจัดตั้ง กอช.น่าจะเป็นบททดสอบเส้นทางปฏิรูปของ สปช. ว่าเรื่องง่าย ๆ ที่เป็นประเด็นปฏิรูปชัดเจนจะเดินหน้าได้หรือไม่ หากไม่เร่งเดินหน้าก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง เรื่องใหญ่กว่านี้จะเดินหน้าได้อย่างไร
(ภาพประกอบ:เว็บไซต์ redusala.blogspot.com)
ด้านดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้คนสูงอายุมีสุขภาพดีและเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องขยายเวลาเกษียณจากเดิม 60 ปี เป็น 65 ปี หรือบางอาชีพเป็น 70 ปี เช่น นักวิชาการ แพทย์ ผู้พิพากษา ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้เกษียณอายุก่อนกำหนด 55 ปี โดยที่ต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมมือด้วย
นอกจากนี้ควรส่งเสริมการออมให้มีวินัยแท้จริง ซึ่งเห็นด้วยกับนพ.อำพล จินดาวัฒนะว่า กอช.เป็นหนทางที่ดีที่สุด ไม่ใช่ประกันสังคม มาตรา 40 ที่จะส่งผลให้เมื่อถึงวัยชราภาพเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นจึงไม่ช่วย ทั้งนี้ ต้องส่งเสริมวัฒนธรรมและแนวทางให้บุตรดูแลพ่อแม่ แม้ไทยจะดีกว่าประเทศตะวันตก แต่ยังจำเป็นต้องส่งเสริมคนละไม้คนละมือ
ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า รัฐต้องส่งเสริมบ้านพักคนชราและวางกฎเกณฑ์นำคนที่มีคุณภาพอยากทำงานในไทยถาวรได้รับสัญชาติ ในอนาคตต้องพิจารณาเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนประเทศไทยให้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นแน่
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปด้านสังคมฯ จุดประกายเรื่องการจัดตั้ง กอช. เบาไป ความจริงแล้ว นพ.อำพลต้องจุดประกายชูประเด็นให้สังคมรับรู้กระพือโหมมากกว่านี้ หากมติที่ประชุมเห็นพ้องก็ควรชูเรื่องนี้ให้สังคมทราบชัดเจนว่า เกิดอะไรขึ้นบนแผ่นดินไทย ทั้งนี้ เป็นเวลา 3 ปี 7 เดือน ที่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ กับ กอช. ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญของผู้สูงอายุในอนาคต
“หลักการและเหตุผลเกี่ยวกับกฎหมายเป็นเรื่องที่ดีและมีความเหมาะสมอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุและสังคมไทย เชื่อว่าสมาชิก สปช.ไม่คัดค้าน” นายวันชัย กล่าว และว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ภาคการเมือง หากเป็นนโยบายของพรรคใด เมื่ออีกพรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล ถ้าไม่มีผลต่อคะแนนเสียงก็จะไม่เอาด้วย ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้ดี และไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับเงินบางส่วนได้
นายวันชัย กล่าวต่อว่า พรรคการเมืองบางพรรคพยายามเฉไฉ ทั้งที่มีเงินมากองอยู่ 750 ล้านบาท หากการเมืองไม่ขยับเขยื้อน กอช.จะเป็นหมันไป คนสูงอายุต่อไปจะเสียประโยชน์ เพราะฉะนั้น สปช.ต้องผลักดันเป็นการปฏิรูปเร่งด่วน โดยการจุดประกายของกมธ.ปฏิรูปด้านสังคมฯ ที่มีมติเสียงดังฟังชัดว่า บ้านเมืองนี้ต้องนำมาสู่การปฏิบัตได้จริง
รัฐบาลต้องเห็นด้วยกับ สปช. ซึ่งมีส่วนกระตุ้นอย่างแรงและสำคัญอันเป็นไปตามการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จะผสานอย่างไรก็ตาม ถือว่าเรื่อง กอช.มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ส่วนปัจจุบันที่ดำเนินการกันตามพระราชกฤษฎีกา ประกันสังคม มาตรา 40 เป็นการมั่วกัน ไม่ตรงประเด็น แต่ไม่เข้าใจทำไปเพื่ออะไร ทั้งที่เป็นแม่น้ำคนละสาย
(ภาพประกอบ:เว็บไซต์สำนักข่าวทีนิวส์)
นายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีระบบบำนาญหรือกองทุนประกันสังคมอยู่ก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะดูแลประชาชนได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีมากถึง 24 ล้านคน นอกจากนี้การดำเนินการกองทุนข้าราชการบำนาญ หรือกองทุนประกันสังคมในมาตรา 40 ก็ดำเนินการไปได้ไม่ถึง 10% ดังนั้นการเดินหน้าพ.ร.บ.การออมแห่งชาติจะเป็นการปิดจุดอ่อนและเพิ่มจุดเสริมระบบการดูแลเพิ่มเติมในการดูแลความมั่นคงของมนุษย์ อีกทั้งพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วจากทุกภาคส่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลลงมติผ่านพ.ร.บ.ฉบับนี้กันอย่างท่วมท้น
“ระยะเวลาผ่านมา 3 ปีเศษ ๆ ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมกับการตอบโจทย์ที่จะให้มีการปฏิรูปเกิดขึ้น และที่ผ่านมาสังคมมีความสับสนทั้งในเรื่องกอช. กองทุนประกันสังคม มาตรา 40” นายอลงกรณ์ กล่าว และว่าครั้งนี้จึงเสนอแนวทางและสร้างการปฏิรูปอย่างชัดเจน
สำหรับที่นายสมชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวว่า ระบบการออมเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่ของประเทศที่จำเป็นจะต้องมีตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม เพื่อสร้างความปลอดภัยในการดำรงชีวิต และรัฐต้องดำเนินการจัดการให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ การที่รัฐต้องจัดสิ่งที่เรียกว่าตาข่ายทางสังคมนั้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐต้องเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด เพียงแต่ต้องจัดให้มีระบบที่เพียงพอ ครอบคลุม และยั่งยืน ต้องเป็นระบบ 3 เสาหลัก สำหรับ กอช.หรือจะเรียกว่ากองทุนการออมเพื่อการชราภาพนั้นมีอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบที่กำหนดสิทธิประโยชน์ และระบบกำหนดจำนวนเงินที่นำส่งเข้ากองทุน
นายสมชัย อธิบายถึงความแตกต่างของ 2 ระบบนี้ว่า การกำหนดสิทธิประโยชน์นั้นสมาชิกต้องส่งเงินเข้ากองทุนเมื่อพ้นสภาพการเป็นสมาชิกก็จะได้รับผลประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ในขณะที่ระบบแบบกำหนดจำนวนการนำส่งเข้ากองทุนจะเป็นระบบที่เร่งรัดส่งเสริมให้มีการออม มีการจัดบัญชีของแต่ละสมาชิกและเงินสมทบที่นายจ้างหรือรัฐออกให้ และนำเงินที่ได้รับการสมทบไปลงทุน สมาชิกแต่ละคนจะได้รับผลประโยชน์ตามความเป็นจริง ซึ่งระบบนี้เป็นระบบที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และเป็นระบบเดียวกับที่ประเทศสิงคโปร์ใช้ เป็นระบบที่มีหลักประกันมั่นคง
“ดังนั้น กอช. จึงเป็นการออกแบบมาในลักษณะของการกำหนดจำนวนเงินเข้ากองทุนโดยมีรัฐบาลจ่ายเงินสมทบแล้วเอาเงินไปลงทุน และเก็บผลประโยชน์ไว้ในบัญชีส่วนบุคคลจนกระทั่งเกษียณ จึงมั่นใจได้ว่าเป็นระบบที่มั่นคงและไม่ล่มจมแน่นอน จึงอยากให้ทุกท่านได้ใช้มตินี้เพื่อที่จะยืนยันกับคนที่มีความห่วงใยว่ากองทุนนี้จะล่ม ว่ากองทุนนี้เป็นตาข่ายความปลอดภัย เป็นระบบที่เกื้อกูลคนออมและไม่ทำลายระบบการคลัง”
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องระบบว่าดีหรือไม่ดี หรือระบบกองทุนนี้จะสร้างความเสียหายอย่างไร แต่ปัญหาคือการที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภามีการประกาศออกมาเป็นกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีกฎหมายแล้วมีผู้รักษาการแล้ว ครบกำหนดเวลาแล้ว แต่ไม่มีการปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้ทำได้ในประเทศไทย และเป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าต้องทำอย่างไร ไม่ใช่ปัญหาเรื่องดีหรือไม่ดี แต่มีกฎหมายแล้วแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้
ส่วนน.ส.สาลี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า ระบบสวัสดิการทางสังคมของรัฐที่ผ่านมาสร้างความเหลื่อมล้ำกับคนในสังคม นอกจากนี้ประเทศไทยก็มีอัตราการออมที่ต่ำ ดังนั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติจะต้องเดินหน้าเรื่องการออมจัดการความเหลื่อมล้ำทั้งระบบการออมสวัสดิการทางสังคมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างปรากฏการณ์เหล่านี้ให้เกิดขึ้นมีอยู่อย่างยั่งยืน และนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องทำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท้ายที่สุดที่ประชุม สปช.มีมติเห็นด้วยตามข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ ด้วยคะแนนเสียง 212 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากผู้เข้าประชุม 213 คน ให้ ครม.เร่งปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ทันที และเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นระยะต่อไป .
อ่านประกอบ:มติ สปช. 212 เสียง เห็นชอบเร่งรัด ครม.เดินหน้ากองทุนเงินออมฯ
ดูเหมือนมีครบ “ระบบบำเหน็จบำนาญ” ของไทย