เบื้องหลัง!คำถามถึง"อิศรา"เหตุไฉนต้องไล่ล่าขุดคุ้ยข้อมูลใช้จ่ายงบ "กสทช."
"..คำถามที่น่าสนใจ คือ นอกเหนือจากงบประมาณในส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ที่ถูกต้องข้อสังเกตเรื่องความคุ้มค่า ฟุ่มเฟือย ตามที่มีการเปิดเผยข้อมูลไปแล้ว การใช้จ่ายเงินผ่านโครงการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมากต่างๆ ในกสทช. ซึ่งยังไม่ค่อยมีการพูดถึงกันมากนัก จะมีปัญหาซ้ำรอยกับการใช้งบประมาณส่วนอื่น และมีคนบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์ตอบแทนด้วยหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่น่าหาคำตอบ.."
ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา มีคำถามสำคัญหลายคำถามที่เกิดขึ้น ภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลจัดซื้อจัดจ้างของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวนหลายโครงการ
ไม่ว่าจะเป็น กรณีการว่าจ้างบริษัทจัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน ) ให้ติดตั้งป้อมยามรักษาความปลอดภัย ณ ประตู ด้านหน้าของสำนักงาน กสทช. มูลค่า 435,704 บาท , จ้างร้านเวิร์ค-ดี พิมพ์นามบัตร จำนวน 7,000 ใบ ด้วยวิธีตกลงราคา วงเงินตามสัญญาจ้าง 42,000 บาท เฉลี่ยนามบัตรใบละ 6 บาท ทำตรายางและนามบัตรด้วยวิธีตกลงราคาแบบเร่งด่วน รวมแล้ว 18 ครั้ง วงเงินรวมหลักหมื่นบาท และการว่าจ้างบริษัทพีพีพลัส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ปรับปรุงต่อเติมร้านค้ารวมถึงทัศนียภาพบริเวณอาคารโรงอาหาร สำนักงาน กสทช. ด้วยวิธีสอบราคา วงเงินตามสัญญาจ้าง 3,473,814.84 บาท
( อ่านประกอบ : "ฐากร"ยันตั้ง กก.สอบรับเหมาป้อมยาม กสทช.เกือบครึ่งล้าน-ขีดเส้น 5 วันรู้ผล, ป้อมยาม กสทช.ราคาเกือบครึ่งล้าน! ขาดไม้กั้น-เครื่องบันทึกรถเข้า-ออก , ปูดอีก!กสทช.จ้างร้านเดียว พิมพ์นามบัตร-ทำตรายาง เดือนเดียว 18 ครั้ง )
หนึ่งในคำถามสำคัญที่น่าสนใจคือ ทำไมสำนักข่าวอิศรา ต้องให้ความสำคัญ ให้ค่า ทุ่มเท เอาจริงเอาจริง กับ งานโครงการว่าจ้างเล็กๆ ที่มีวงเงินไม่ถึงหลักล้านแบบนี้
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ขอให้สาธารณชน รับทราบข้อมูลบางประการร่วมกันก่อน ดังนี้
ประการที่หนึ่ง กสทช. เป็นองค์กรอิสระ ที่จัดตั้งขึ้นมาภายใต้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มีภารกิจสำคัญในการทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแล วิทยุ-โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ให้เกิดการปฏิรูปสื่อ เร่งกระจายความเป็นเจ้าของคลื่นความถี่จากที่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่ถือครอง ให้ไปสู่มือของผู้ประกอบการและประชาชนที่หลากหลาย มีกฎหมายในการบริหารงานองค์กรของตนเอง
ประการที่สอง ในการดำเนินงานของ กสทช. ที่ผ่านมา ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากว่าส่อไม่คุ้มค่า อาทิ ค่าใช้จ่ายการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ จ้างที่ปรึกษา ค่าจ้างคณะทำงาน ที่ปรึกษา เป็นต้น
ล่าสุดในช่วงกลางเดือนพ.ย.57 ที่ผ่านมา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งกระทู้ถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการปรับปรุงระบบการจัดทำงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ควรจะมีการนำเสนอให้สภาฯ เห็นชอบก่อน เนื่องจากในการพิจารณารายจ่ายงบประมาณของ กสทช.ในปี 2556ที่ผ่านมา พบว่ามีตัวเลขการใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะในเรื่องการจ้างที่ปรึกษา รวมถึงการเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ
“การใช้จ่ายเงินงบประมาณของกสทช. ที่ผ่านมาไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณ ผมเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ควรจะมีการแก้ไขเรื่องนี้ เพราะไม่เช่นนั้น จะทำให้กสทช. นึกจะใช้จ่ายเงินประมาณซึ่งเป็นเงินแผ่นดินไปใช้ทำอะไรก็ได้ ไปดูซิตัวเลขการใช้จ่ายเงินที่ออกมา ไปตั้งที่ปรึกษา ตั้งอนุกรรมการจำนวนมาก แถมยังมีการเดินทางไปดูงานต่างประเทศจำนวนมากด้วย นึกจะใช้ทำอะไรก็ได้ แบบนี้มันถูกต้องหรือ ”
“ผมทราบดีว่ากสทช.มีกม.กำกับดูแลของเขาอยู่ แต่ถามว่าทำไมหน่วยงานอิสระแห่งอื่น อาทิ ป.ป.ช.งบประมาณที่จะใช้ต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบก่อน ทำไมกสทช.จะทำแบบนั้นด้วยไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าเงินงบประมาณเป็นเงินของแผ่นดิน ไม่ใช่เงินของกสทช. ที่คิดจะเอาไปใช้ทำอะไรก็ได้โดยไม่มีระบบตรวจสอบก่อน”
สอดคล้องกันกับ ความเห็นของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เคยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคนาคม พ.ศ.2553 และขอให้แจ้งสำนักงาน กสทช.นำเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล จำนวน 50,862 ล้านบาท ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อป้องกันไม่มีมีการใช้จ่ายเงินส่วนนี้ ซึ่งเป็นเงินของแผ่นดิน แบบบฟุ้มเฟ้อ ไม่คุ้มค่า
จากข้อมูลที่กล่าวไปทั้งหมด สาธารณชนคงพอจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่า กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อประเทศ มีงบประมาณจำนวนมากใช้จ่ายในแต่ละปี ขณะที่การจัดทำงบประมาณ จะเป็นหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ที่จะเป็นผู้จัดทำ และนำเสนอให้คณะกรรมการ กสทช. เป็นผู้เห็นชอบอนุมัติ
คำถามที่น่าสนใจต่อมา คือ นอกเหนือจากงบประมาณในส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ที่ถูกต้องข้อสังเกตเรื่องความคุ้มค่า ฟุ่มเฟือย ตามที่มีการเปิดเผยข้อมูลไปแล้ว
การใช้จ่ายเงินผ่านโครงการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมากต่างๆ ในกสทช. ซึ่งยังไม่ค่อยมีการพูดถึงกันมากนัก จะมีปัญหาซ้ำรอยกับการใช้งบประมาณส่วนอื่น และมีคนบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์ตอบแทนด้วยหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่น่าหาคำตอบ
และนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สำนักอิศรา เริ่มเข้ามาติดตามตรวจสอบงานจัดซื้อจัดจ้างของ กสทช. อย่างเต็มรูปแบบ
โดยไม่นำประเด็นเรื่องของวงเงินเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกทำข่าวชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่ให้ความสำคัญของประเด็นเรื่อง และกระบวนการเป็นอันดับแรก
เพราะในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ จะโกงเงินแค่บาทเดียว หรือ หลักสิบล้านพันล้าน ก็คือโกงเหมือนกัน
และในการดำเนินการเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา ก็ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที จากคนใน กสทช. เอง ที่คอยส่งข้อมูลเข้ามาให้รับทราบอยู่เป็นระยะๆ หลังพบเห็นความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการ
ไม่ว่าจะเป็น การเปิดประกวดราคาจ้างพัฒนาเว็บไซต์สำหรับแอพพลิเคชั่น บนโทรศัพท์มือถือ โดยตั้งราคากลางในการประกวด ไว้เป็นจำนวนเงินที่สูงถึง 19 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ผู้บริหาร กสทช.ได้เซ็นอนุมัติการประกวดราคางานทำเว็บไซต์สำหรับแอพพลิเคชั่น วงเงิน 19 ล้านบาทดังกล่าวออกมา ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับเจ้าหน้าที่ กสทช.บางส่วนเป็นอย่างมาก เพราะมองว่า ราคากลางที่ตั้งไว้สูงเกินไป
(อ่านประกอบ : วิจารณ์ขรม!กสทช.ใช้เงินสนุกมือ จ้างพัฒนาเว็บทำแอพฯ บนมือถือ 19 ล.)
หรือ การจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันดักฟังในราคารวม 9.6 ล้านบาท ที่เกิดคำถามพุ่งตรงไปยัง กสทช. คือ มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวเพิ่มอีก 5 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 เคยจัดซื้อมาแล้วในราคา 4.6 ล้านบาท ขณะเดียวกันการจัดประมูลคลื่น 3G ก็เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2555 ไฉนต้องมาจัดซื้อในปี 2556
(อ่านประกอบ : กสทช.จัดซื้อพิเศษอุปกรณ์ป้องดักฟังเฉียด 10 ล. กันข้อมูลลับประมูลรั่ว)
โดยในส่วนของ การประกวดราคางานทำเว็บไซต์สำหรับแอพพลิเคชั่น วงเงิน 19 ล้านบาท เบื้องต้น สำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือแจ้งเข้ามาที่สำนักข่าวอิศรา ว่าได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ว่า ราคากลางมีความเหมาะสม และเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างรายใด หรือไม่ หากพบว่า มีราคาที่ไม่เหมาะสม หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง รายใดก็จะสั่งยกเลิกการประกวดราคาและจะแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาให้ทราบต่อไป
แต่ปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ยังไม่แจ้งความคืบหน้าเข้ามาให้สำนักข่าวอิศราได้รับทราบแต่อย่างใด
จนกระทั่งล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเข้ามาใหม่อีกหลายโครงการ คือ การติดตั้งป้อมยาม พิมพ์นามบัตร ทำตรายาง การปรับปรุงต่อเติมร้านค้ารวมถึงทัศนียภาพบริเวณอาคารโรงอาหาร และได้มีการเข้าไปตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎเป็นข่าวไป
และก็มีหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงจาก กสทช. จนเป็นที่กระจ่างชัดแจ้ง ว่าสุดท้ายแล้ว โครงการเล็ก วงเงินน้อยๆ มีขั้นตอนการดำเนินงานที่โปร่งใสจริงหรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลสำคัญ ในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง.ว่า ในช่วงปี 2556 สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษและวิธีตกลงราคาในปริมาณสัญญาที่สูงที่สุด
โดยพบว่ามีการใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,311.79 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55 ของจำนวนเงินที่จัดซื้อจัดจ้างในปี 2556 (เกือบ 3 พันล้านบาท)
และใช้วิธีตกลงราคาในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 697.56 บาท คิดเป็นร้อยละ 29 ของจำนวนเงินที่จัดซื้อจัดจ้างในปี 2556
จึงเห็นได้ว่า สำนักงาน กสทช. ใช้วิธีพิเศษและวิธีตกลงราคาในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง รวมกันคิดเป็นร้อยละ 84 ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับองค์กรที่มีระบบการดำเนินงานและการควบคุมภายในที่ดี
สตง. ยังระบุด้วยว่า การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษและวิธีตกลงราคาของสำนักงาน กสทช. ที่มีจำนวนมากดังกล่าว หากผู้บริหารไม่กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด อาจเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตจากการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ หรือการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่งได้โดยง่าย ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินที่ขาดประสิทธิภาพ
"จากการตรวจสอบการทำสัญญาในปี 2556 พบว่า การจัดซื้อจัดจ้างเกือบทุกรายการที่ใช้วิธีพิเศษ โดยมีจำนวนเงินแต่ละสัญญาเกินกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้สัญญาที่วงเงินสูงที่สุดมีมูลค่าถึง 49.96 ล้านบาท ซึ่งหากใช้วิธีสอบราคาหรือประกวดราคาจะทำให้เกิดความรัดกุมและมีความเหมาะสมในการดำเนินการ มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งอาจจะส่งผลให้สำนักงาน กสทช. สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยจำนวนเงินที่ต่ำกว่าหรือได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพกว่า เพื่อให้การใช้จ่ายเงินดังกล่าวเกิดให้ประโยชน์สูงสุดกับสำนักงาน กสทช.
"ขณะที่ การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษและวิธีตกลงราคา ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยเลือกผู้ขายเพียงรายเดียวในการเสนอราคา ทำให้เปิดโอกาสในการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่งโดยง่าย และเป็นช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ขายหรือผู้รับจ้าง"
(อ่านประกอบ : สตง.ชำแหละกสทช.ฉบับเต็ม! พบจัดซื้อวิธีพิเศษพุ่ง1.3พันล. หวั่นเอื้อทุจริต)
ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ของ กสทช. ส่อว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นทั้งระบบ ตั้งแต่โครงการเล็กๆ ไปจนถึงโครงการใหญ่ จนเกิดกระแสที่ว่ามองไปทางไหน จับไปตรงไหน มันก็ใช่
"น้ำจิ้มสักหยดก็กินกันจนไม่เหลือ"
ดังนั้น เพื่อกู้ภาพลักษณ์ ของกสทช.ให้กลับคืนมา เป็นองค์กรที่อยู่ในความศรัทธา ของประชาชน โดยเร็วที่สุด
สำนักข่าวอิศรา เห็นว่า สิ่งสำคัญที่ สำนักงาน กสทช. รวมถึงกรรมการ กสทช. ทุกคน ควรจะรีบดำเนินการกับเรื่องนี้ คือ การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทุกรายการที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะดำเนินการประกาศเป็นทางการผ่านเว็บไซค์สำนักงาน กสทช. เป็นทางการ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการที่ใช้วิธีพิเศษ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและร่วมกันตรวจสอบแสดงความโปร่งใส ให้มากที่สุด
เพราะต้องไม่ลืมว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ ที่สำนักงาน กสทช. ใช้จ่ายอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เงินของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเงินแผ่นดิน เป็นเงินของชาติ ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์โดยชอบธรรม ที่จะรับรู้รับทราบข้อมูลทั้งหมด
กสทช. ไม่ควรนิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ก่อนที่วิกฤตศรัทธา ของประชาชน ที่มีต่อกสทช. จะลุกลามบานปลายใหญ่โตไปมากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้