สตง.ชำแหละกสทช.ฉบับเต็ม! พบจัดซื้อวิธีพิเศษพุ่ง1.3พันล. หวั่นเอื้อทุจริต
"เอ็กซ์คลูซีฟ": เปิดรายงานสอบ สตง. ชำแหละกสทช. ฉบับเต็ม! ตอนที่หนึ่ง ผ่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง พบใช้วิธีพิเศษสูงถึง 1.3 พันล้าน ตกลงราคาเฉียด 700 ล้าน ชี้ผิดปกติสำหรับองค์กรที่มีระบบการดำเนินงาน-ควบคุมภายในที่ดี หวั่นเปิดโอกาสทุจริตเรียกรับผลประโยชน์
การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในช่วงปี 2556 กำลังถูกตั้งข้อสังเกตจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในเรื่องกระบวนการดำเนินการที่ขาดความรัดกุม ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในรายงานประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ของ สำนักงาน กสทช. ประจำปี 2556 ที่จัดทำโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีการระบุถึงข้อสังเกตการจัดซื้อจัดจ้างที่ขาดความรัดกุมซึ่งอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้
สตง. ระบุว่า ในปี 2556 สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษและวิธีตกลงราคาในปริมาณสัญญาที่สูงที่สุด
โดยพบว่ามีการใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,311.79 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55 ของจำนวนเงินที่จัดซื้อจัดจ้างในปี 2556 (เกือบ 3 พันล้านบาท)
และใช้วิธีตกลงราคาในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 697.56 บาท คิดเป็นร้อยละ 29 ของจำนวนเงินที่จัดซื้อจัดจ้างในปี 2556
จึงเห็นได้ว่า สำนักงาน กสทช. ใช้วิธีพิเศษและวิธีตกลงราคาในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง รวมกันคิดเป็นร้อยละ 84 ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับองค์กรที่มีระบบการดำเนินงานและการควบคุมภายในที่ดี
แผนภูมิแสดงสัดส่วนจำนวนเงินจำแนกตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงาน กสทช. ปี 2556
สตง. ยังระบุด้วยว่า การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษและวิธีตกลงราคาของสำนักงาน กสทช. ที่มีจำนวนมากดังกล่าว หากผู้บริหารไม่กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด อาจเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตจากการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ หรือการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่งได้โดยง่าย ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งเกิดจากสาเหตุดังนี้
1. การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ สามารถดำเนินการได้โดยไม่จำกัดกรอบวงเงิน เนื่องจากระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 14 โดยกำหนดให้การจ้างโดยวิธีพิเศษไม่มีการจำกัดวงเงิน จากเดิมที่เคยกำหนดวงเงินไว้ครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท
จึงเป็นการเปิดโอกาสให้มีการหลีกเลี่ยงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับสัญญาที่มีจำนวนเงินสูงโดยวิธีสอบราคา หรือวิธีประกวดราคามาใช้วิธีพิเศษสำหรับวงเงินที่อยู่ในอำนาจของเลขาธิการ กสทช. และเกิดการจำกัดโอกาสในการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
จากการตรวจสอบการทำสัญญาในปี 2556 พบว่า การจัดซื้อจัดจ้างเกือบทุกรายการที่ใช้วิธีพิเศษ โดยมีจำนวนเงินแต่ละสัญญาเกินกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้สัญญาที่วงเงินสูงที่สุดมีมูลค่าถึง 49.96 ล้านบาท ซึ่งหากใช้วิธีสอบราคาหรือประกวดราคาจะทำให้เกิดความรัดกุมและมีความเหมาะสมในการดำเนินการ มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งอาจจะส่งผลให้สำนักงาน กสทช. สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยจำนวนเงินที่ต่ำกว่าหรือได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพกว่า เพื่อให้การใช้จ่ายเงินดังกล่าวเกิดให้ประโยชน์สูงสุดกับสำนักงาน กสทช.
2. การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษและวิธีตกลงราคา ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยเลือกผู้ขายเพียงรายเดียวในการเสนอราคา ทำให้เปิดโอกาสในการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่งโดยง่าย และเป็นช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ขายหรือผู้รับจ้าง
ทั้งนี้ สตง.ตรวจสอบพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา ผู้ขายที่ขายสินค้าให้สำนักงาน กสทช. สูงที่สุด คือ บริษัท เอส เค วัน ซีสเท็ม จำกัด เป็นจำนวน 84 ใบสั่งซื้อ เป็นจำนวนเงิน 6.50 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เอส เค วัน ซีสเท็ม จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 2 ธันวาคม 2548 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 63 ถนนพัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายและให้บริการซ่อมแซมเครื่องใช้สำนักงาน - ค้าส่ง
ปรากฎชื่อ นายสุรชัย สินสุกิจ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแสดงผลการประกอบธุรกิจ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 แจ้งมีรายได้รวม 22,509,569.04 บาท กำไรสุทธิ 1,714,668.61 บาท