นักวิชาการนิด้า จี้คลังเร่งเดินหน้ากองทุนการออมแห่งชาติ
‘ศ.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์’ จี้กระทรวงการคลังเดินหน้ากองทุนการออมแห่งชาติ สร้างความเท่าเทียมเข้าถึงระบบสวัสดิการแรงงานนอกระบบ เเนะเพิ่มภาษีหางบฯ อุดหนุนเเสนล้าน เทียบจำนำข้าว ถือว่าใช้งบไม่มากเท่า
จากกรณีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 12 พฤษภาคม 2554 และให้เปิดรับสมาชิกภายใน 1 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป ทว่า รัฐบาลชุดก่อน ภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมีนโยบายยุบเลิกกองทุนฯ เนื่องจากเห็นว่า มีการทำงานซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามไปยังนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ถึงแนวนโยบายชัดเจน ยืนยันว่า ไม่ยุบแน่นอน แต่ขั้นตอนต่อไปนั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอยู่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ ‘ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์’ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ถึงการสร้างระบบหลักประกันทางสังคมที่เข้าถึงและลดความเหลื่อมล้ำว่า มีความจำเป็นต้องขยายให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานนอกระบบราว 30 ล้านคน ซึ่งเข้าไม่ถึงหลักประกันใด ๆ และเทียบไม่ได้เลยกับจำนวนแรงงานในระบบ 10 ล้านคน ที่มีระบบสวัสดิการบำนาญแล้ว ฉะนั้นเป็นภาระที่ท้าทายของรัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการออมขึ้น
“พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ถูกออกแบบไว้แล้ว แต่น่าเสียดายไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติเลย ประกอบกับที่ผ่านมายังมีความพยายามออกกฎหมายยกเลิกอีก เพื่อป้องกันการกระทำผิดจากการละเว้นไม่ปฏิบัติตาม” นักวิชาการ นิด้า กล่าว และว่าคนเราต่างห่วงตัวเองทั้งนั้น แก่ชราไปใครจะดูแล ยกเว้นคนฐานะร่ำรวยมีเงินซื้อประกัน ฉะนั้นต้องทำให้เป็นจริง ไม่ควรยกเลิก แม้ต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาทก็ตาม
ศ.ดร.ดิเรก กล่าวต่อว่า เคยมีการคำนวณงบประมาณในการบริหารจัดการ กอช. ใช้เพียง 1 แสนล้านบาท มิใช่จำนวนมากมายเหมือนโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งยอดงบประมาณดังกล่าวสามารถหาได้ในสังคมไทย จากการเก็บอัตราภาษีเดิม 17% ของจีดีพี ปรับเพิ่มเป็น 22% ของจีดีพี และทบทวนมาตรการลดหย่อนภาษี เกินความจำเป็น เพียงเท่านี้กับออกระบบการจัดเก็บภาษีให้ดีก็ได้แล้ว
ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลไม่ค่อยให้ความใส่ใจกับการขับเคลื่อน กอช. นักวิชาการ นิด้า ระบุว่า ตอบยาก ทั้งนี้ เราได้มีการศึกษาวิจัยความเหมาะสมในการคำนวณตัวเลขระดับหนึ่ง พร้อมกับนำข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาประกอบการพิจารณา เพียงแต่ที่ผ่านมาการตัดสินใจระดับผู้หลักผู้ใหญ่มีเวลาดูแลหรือได้รับคำปรึกษาที่ให้ความกระจ่างชัดหรือไม่
“การที่ รมว.คลัง ยืนยันว่าไม่ยุบ กอช. มิใช่จะเป็นสัญญาที่แท้จริง เวลานี้ไม่ต้องพูดถึงการยุบเลิก แต่ต้องเร่งขับเคลื่อนให้กองทุนดังกล่าวเกิดขึ้นให้ได้” ศ.ดร.ดิเรก ทิ้งท้าย .
อ่านประกอบ:“ไม่ยุบแน่นอน” กองทุนเงินออมแห่งชาติ ขุนคลัง จี้จนท.เร่งดำเนินการ