"มก.ต้องพัฒนาอีกเยอะ" คุย ‘ดร.นิวัติ เรืองพานิช' ผู้คิดแปลงโฉม‘ไร่สุวรรณ’ สู่ Farm Outlet
คุยกับนายกสภาฯ มก.'ศ.ดร.นิวัติ เรืองพานิช' ไขข้อสงสัยกับการแต่งตั้ง 'มนตรี คงตระกูลเทียน' ผู้บริหารซีพี นั่งประธานพัฒนาไร่สุวรรณ ระบุเป็นคนมีความสามารถ ศิษย์เก่าเกษตรฯ ยันไร้ผลประโยชน์เอื้อกลุ่มทุน เข้าเเปรรูปงานวิจัยมหาวิทยาลัย หวังเพียงหารายได้เลี้ยงตนเองเท่านั้น
“บริษัทยักษ์ใหญ่จะมายุ่งอะไรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีก็แต่มาช่วยเหลือเรา มหาวิทยาลัยจน ๆ อย่างเราต้องอาศัยเขา แต่ยืนยันไม่ให้ผลประโยชน์ไปหรอก เพราะมีอาจารย์ฉลาดระดับ ดร.ทั้งนั้น ไม่มีวันยอมให้เสียผลประโยชน์ และตราบใดที่ผมนั่งในตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ไม่มีทางจะนำไร่สุวรรณไปให้ใคร”
ศ.ดร.นิวัติ เรืองพานิช นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) อย่างตรงไปตรงมา ภายหลังเกิดกระแสคัดค้านการแต่งตั้ง นายมนตรี คงตระกูลเทียน รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้นั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่ไร่สุวรรณ (ศูนย์วิจัยข้าวโพดเเละข้าวฟ่างเเห่งชาติ)
ด้วยกลุ่มภาคประชาสังคมหวั่นว่าการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าว ซึ่งสวมหมวกอีกใบหนึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของซีพี อาจนำไปสู่การเอื้อประโยชน์และสนับสนุนการแปรรูปงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งควรเป็นประโยชน์ในการศึกษาของเกษตรกรรายย่อยและสาธารณะไปสู่การดำเนินการในทิศทางตอบสนองผลประโยชน์ของบริษัทเอกชน
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.นิวัติ ระบุว่า การลงมติคัดเลือก ‘นายมนตรี’ เข้ามารับตำแหน่งข้างต้นนั้น ด้วยเพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงแม้เป็นบุคลากรทำงานในซีพี ตนเองก็ไม่อยากให้คิดว่าคนที่อยู่ในบริษัทนี้จะมีพฤติกรรมไม่ดีทุกคน ฉะนั้น เราจะต้องปฏิรูปตัวเองก่อนให้รู้จักมองโลกในแง่ดี
พร้อมยืนยันอีกครั้งว่า การดำเนินงานครั้งนี้ไม่มีประเด็นการทุจริตเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนแน่นอน แต่หากไป ‘มโน’ กันเอง จะเกิดความเสียหายให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ ซึ่งเป็นสมบัติของทุกคน ถ้าเสียชื่อเสียงก็จะเสียหายทั้งหมด
ก่อนจะวกกลับมาย้อนเล่าถึงความสำคัญของไร่สุวรรณ เพราะในปี 2559 จะมีอายุครบ 50 ปี นายกสภาฯ มก. ย้อนประวัติให้เห็นว่า ไร่แห่งนี้สร้างชื่อเสียงไว้กับประเทศมากมาย โดยเป็นสถานีศึกษาวิจัยสายพันธุ์ข้าวโพดและสถานที่ฝึกปฏิบัติของนิสิต ซึ่งที่ผ่านมามีชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะกรณีการศึกษาวิจัยข้าวโพดสายพันธุ์ ‘สุวรรณ 1’
แรกเริ่มเดิมทีนั้น มูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเลอร์ ให้การสนับสนุน ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป มหาวิทยาลัยรับมาดำเนินงานเองภายใต้งบประมาณจำกัด ซึ่งเห็นได้ชัดรัฐบาลไม่สนใจในการสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ส่งผลให้เกิดความไม่สำคัญ ดังนั้นจึงมีความพยายามทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับชาติมากขึ้น
“ผมไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้จากการบริหารจัดการไร่สุวรรณ แต่เท่าที่รู้ คือ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ” ศ.ดร.นิวัติ ตอบสั้นๆ เมื่อถูกถามถึงรายได้จากการดำเนินงาน และจากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และผลิตผลการเกษตร
เมื่อถามลงลึกถึงแผนงานดำเนินโครงการพัฒนาไร่สุวรรณที่มีนายมนตรี คงตระกูลเทียน เป็นประธาน นายกสภาฯ มก. ระบุว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยเราต้องหารายได้มาเลี้ยงตนเอง เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
"มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนที่สุด ดังนั้นจึงมีแนวคิดพัฒนาต่อยอด โดยจะนำพื้นที่ริมถนนมิตรภาพสองฟากฝั่งราว 80 ไร่ ตลอดแนวคู่ขนาน ลึกประมาณ 100-200 เมตร สร้างเป็นศูนย์รวมจำหน่ายสินค้า (OUTLET) ทางการเกษตร คล้ายกับตลาดนัดเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) แต่เรายืนยันจะบริหารจัดการให้ดีกว่านั้น
บริษัทใดหรือใครประสงค์จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่สามารถเสนอโครงการเข้ามาได้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย หากตรวจสอบแล้วพบว่า มหาวิทยาลัยได้ผลประโยชน์สูงสุดก็จะอนุมัติ เพียงแต่สินค้าที่นำมาจำหน่ายต้องเป็นผลิตผลทางการเกษตรเท่านั้น”
ก่อนจะกล่าวติดตลกว่า จะทำร้านเสริมสวยหรือขายหนังสือพิมพ์ไม่ได้!!!
โดยปัจจุบันพื้นที่ริมสองฝั่งถนนหน้าไร่สุวรรณใช้สำหรับปลูกข้าวโพด "ผมถามว่า ทำเลเช่นนี้ ติดริมถนนมิตรภาพ ปลูกข้าวโพดริมถนนไปทำไม เขยิบปลูกลึกเข้าไปอีกสัก 100 เมตร จะเสียหายตรงไหน เราต้องการหาผลประโยชน์เข้ามหาวิทยาลัย มิได้เข้ากระเป๋าใคร ซีพียิ่งไม่เกี่ยวและไม่รู้เรื่อง มีแต่จะนำเงินมาช่วยเหลือเรา รวมถึงบริษัทเกี่ยวกับเกษตรอื่น ๆ แต่ไม่ได้อะไรจากเรา"
และนับแต่นายกสภาฯ มอบนโยบายไปหลายเดือน จวนเจียนจะลงจากเก้าอี้ต้นปี 2558 แล้วนั้น ถึงวันนี้โครงการดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
"ผมเรียกประชุมไปเพียงแค่ 1 ครั้ง ซึ่งคุณมนตรีก็น้อยใจไม่อยากจะทำ เพราะโดนตำหนิดังที่เป็นกระแสข่าว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการไม่ได้ทำเอง เมื่อมีมติก็จะส่งมอบให้ฝ่ายบริหารทำแทน
การหาเงินเป็นเรื่องยาก เพราะหลายคนมักจะมองเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ซึ่งความจริงไม่ใช่เลย คนทำดีให้มหาวิทยาลัยก็ยังมี”
หลายคนถามว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่ ยืนยันว่า "เราแทบไม่ต้องลงทุนเลย เพราะเราไม่มีงบประมาณ แต่มีที่ดินนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมาพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ กลับไม่ได้ทำอะไรเลยตลอด 72 ปี ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนเกษตรซื่อ ๆ ตรงไปตรงมาตลอด"
ศ.ดร.นิวัติ ยืนยันกับเราทิ้งท้ายด้วยว่า เขาเห็นความสำเร็จของฟาร์มโชคชัย จึงทำให้เกิดแนวคิดพัฒนาพื้นที่ไร่สุวรรณขึ้นมา "เขาทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ในเมื่อเรามีผลิตผลเกี่ยวกับพืช สัตว์ เนื้อ นม ไข่ และพร้อมจะต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศต่อไป และหากโครงการหลวงจะร่วมด้วย เราก็ไม่ขัดข้อง"
ก่อนจะย้ำด้วยเสียงหนักแน่น “อย่าไปคิดว่าซีพีจะเข้าไปรุกล้ำหรือยุ่งเกี่ยวกับสถาบันวิจัยฯ”
รวมถึงไม่ต้องกังวล หากพัฒนาพื้นที่ไร่สุวรรณเป็นศูนย์รวมจำหน่ายสินค้าระดับมาตรฐานแล้วจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ปรับราคาสูงขึ้น "เราแค่คิดจะพัฒนาพื้นที่เฉย ๆ ทำเช่นนี้ผลิตภัณฑ์จะแพงขึ้นเชียวหรือ เราไม่สามารถทำให้ตลาดแพงขึ้นได้ คงไม่มีอิทธิพลขนาดนั้น แต่หากผลิตภัณฑ์จะแพงขึ้นก็อาจไม่มากนัก
“เราคิดหาเงินเข้ามหาวิทยาลัย คิดเท่านี้ ไม่ได้ไปยุ่งกับงานวิจัย และเงินที่ได้รับมาจะนำไปช่วยคณะที่ยากจนหรือช่วยให้ไร่สุวรรณดีขึ้น”
หลักการมีเพียงเท่านี้...ยังไม่ได้ทำอะไรอย่างที่คิดกันเลย .
อ่านประกอบ:เอ็นจีโอค้านสภาฯ มก. ตั้งรองปธ.ซีพี นั่งประธานฯ ศูนย์วิจัยข้าวโพด 'ไร่สุวรรณ'
อย่ามโน! นายกสภาฯ มก. ยันคนซีพี นั่งปธ.ศูนย์วิจัยข้าวโพด ไร้ประโยชน์ทับซ้อน