เอ็นจีโอสั่งจับตาสมาคมค้าเมล็ดดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช
เอ็นจีโอชี้เอกชนไม่ควรผูกขาดเมล็ดพันธุ์ สั่งจับตาสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ หวังขยายการคุ้มครองฯ เชื่อสำเร็จยาก
เครือข่ายภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่ไร่สุวรรณ (ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ) โดยกังวลจะนำไปสู่การแปรรูปและเอื้อประโยชน์กลุ่มภาคเอกชน จนอาจเกิดการผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์และเสียหายแก่เกษตรกร (อ่านประกอบ:เอ็นจีโอค้านสภาฯ มก. ตั้งรองปธ.ซีพี นั่งประธานฯ ศูนย์วิจัยข้าวโพด 'ไร่สุวรรณ')
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.นิวัติ เรืองพานิช นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมายืนยันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทเอกชนแน่นอน โดยโครงการพัฒนาพื้นที่จะเน้นหารายได้เข้าสถาบัน เพื่อเลี้ยงตัวเองหลังออกนอกระบบ (อ่านประกอบ:อย่ามโน! นายกสภาฯ มก. ยันคนซีพี นั่งปธ.ศูนย์วิจัยข้าวโพด ไร้ประโยชน์ทับซ้อน)
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า ตลาดเมล็ดพันธุ์ไม่ควรอยู่ในการครอบครองของภาคเอกชนฝ่ายเดียว เพราะเกษตรกรจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อการได้รับโอกาสและลดต้นทุนการผลิตของตนเองได้ ม.เกษตรฯ จึงควรทำงานร่วมกับเกษตรกรมากขึ้น มิใช่โยนทรัพยากรที่มีอยู่ให้ภาคเอกชน
“ก่อนหน้านี้เคยมีนโยบายให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการศูนย์วิจัยและศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวทั่วประเทศในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และมีแนวคิดเช่นนี้มาโดยตลอด” ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรฯ อีสาน กล่าว และว่าศูนย์วิจัยฯ ไร่สุวรรณถือเป็นสถานที่ราชการ มีทรัพยากรด้านเครื่องมือคุณภาพมากมาย จึงเป็นประโยชน์สำหรับภาคเอกชน หากได้เข้าไปบริหารจัดการ
สำหรับการให้ภาคเอกชนเสนอแผนพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อหารายได้เข้าม.เกษตรฯ นั้น นายอุบล ระบุว่า ตามหลักการถือเป็นความคิดที่ดี แต่ควรทำงานร่วมกับเกษตรกรด้วย โดยเฉพาะการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อการเกิดผลตอบแทนและผลประโยชน์กระจายแก่สังคม แม้จะมีความยากกว่าการให้ภาคเอกชนดำเนินงานทั้งหมด เพราะมหาวิทยาลัยไม่ต้องใช้สมองมาก แต่เชื่อว่าจะทำได้
ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรฯ อีสาน ยังกล่าวถึงความคืบหน้าแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ว่า ขณะนี้สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยมีความพยามยามผลักดันร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขนิยามพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปให้ชัดเจน และขอขยายการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ อาทิ ใบต้นข้าวหอมมะลิบิ่น เมล็ดข้าวหอมมะลิมีจุดสีดำ ความใหม่เหล่านี้ภาคเอกชนขอสิทธิคุ้มครอง
โดยการผลักดันดำเนินมาอย่างต่อเนื่องผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1.กรมวิชาการเกษตร และ 2.การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไทย-ยุโรป ซึ่งคงไม่ง่ายหนักที่จะเกิดขึ้น แม้สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยหวังจะใช้โอกาสรัฐบาลปัจจุบันในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ เพราะมีขั้นตอนสั้น เเต่เกษตรกรรู้ทันหมดแล้ว และภาคการเมืองก็มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ด้านอาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการป้องกันผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยจะผลักดันนั้นยังไม่ครอบคลุมสิทธิการเข้าถึงของชาวบ้าน แต่กฎหมายจะให้สิทธิบริษัทเอกชนผูกขาดชอบธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเกี่ยวโยงไปยังเมล็ดพันธุ์ที่ชาวบ้านได้ก็ไม่สามารถปลูกต่อได้ เพราะถูกทำให้เป็นหมัน
ส่วนจะส่งกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารหรือไม่ นักวิชาการ กล่าวว่า แต่ละองค์กรนิยามคำว่า ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ แตกต่างกัน กรณีองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations:FAO) นิยามไว้เกี่ยวกับความสามารถในการผลิตอาหารไว้ในคลัง แต่ความจริง ความมั่นคงทางอาหารต้องให้สิทธิการเข้าถึงของประชาชนด้วย มิใช่จำกัดเฉพาะบริษัทเอกชนผลิตได้ ฉะนั้นรัฐจะต้องเร่งวางแผนการกระจายอำนาจจัดการเมล็ดพันธุ์ในอนาคต
ภาพประกอบ:www.thaikasetsart.com