กมธ.เทเสียง หนุนร่าง พ.ร.บ.ศาล ปค.แก้ไขให้ "ก.ศป." คงอยู่ต่อ
คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มีมติเสนอร่างแก้ไข ให้ ก.ศป. ยังคงอยู่ เข้าสู่สภาฯ "วิชัย ชื่นชมพูนุท" สงวนความเห็น รออภิปรายในสภาใหญ่
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2557 นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราช บัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่…) พ.ศ. … เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงผลการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ( 3 ต.ค. 2557) ว่า ที่ประชุมพิจารณาประเด็นสำคัญในบทบัญญัติมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14 ของร่างดังกล่าว ที่มีผลให้ยุบเลิกคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ให้หมดสิ้นสภาพไป
นายวัลลภกล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ มีมติเสียงส่วนใหญ่ให้ยึดตามหลักการของ สนช.ผู้แปรญัตติทั้ง 2 คน คือ ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณและนพ.เจตต์ ศิรธรานนท์ ที่แปรญัตติไว้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 โดยเห็นว่าควรให้ ก.ศป.ยังคงอยู่จนครบวาระในเดือนเมษายน 2558 เช่นเดียวกับร่างที่เขียนโดยนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขาธิการกรรมาธิการฯ ซึ่งมีนัยเดียวกันกับ นพ.เจตน์ และ ผศ.นพ.เฉลิมชัย คือ ให้ ก.ศป.ยังคงอยู่จนครบวาระ
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ยังพิจารณาประเด็นการสรรหา ก.ศป. ให้ครบตามจำนวน เนื่องจาก คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองต้องประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา 2 คน และจากคณะรัฐมนตรีอีก 1 คน รวมทั้งสิ้น 13 คน แต่ในปัจจุบัน ก.ศป.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ขาดสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภา และจากคณะรัฐมนตรี อีกทั้ง ก.ศป.ที่มีอยู่ ยังลาออกไป 2 ราย ทำให้ที่ประชุม คณะกรรมาธิการฯพิจารณาว่า ในส่วนของ ตุลาการศาลปกครอง ควรมีการสรรหาให้มาปฏิบัติหน้าที่และให้อยู่จนครบวาระ ที่เหลือ ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา 2 คน และจากคณะรัฐมนตรีอีก 1 คน ก็ต้องดำเนินการสรรหาและเริ่มนับวาระใหม่
“เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว ก็ต้องสรรหา ก.ศป.มาให้ครบ กรณีสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ก็ต้องอยู่ตามวาระใหม่ ส่วนตุลาการศาลปกครองที่ขาดไปก็เปรียบเหมือนต้องเลือกตั้งซ่อม ที่ขาดไปก็มี ก.ศป.ของฝ่ายศาลปกครองเอง ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกก็คือผู้ที่มาจากการสรรหาของ ครม. กับ สนช. ในส่วนนี้ก็ต้องเริ่มนับวาระใหม่ โดยสรุปแล้ว เมื่อกฎหมายบังคับใช้ ก็ต้องให้ประธานศาลปกครองเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปในสัดส่วนของตุลาการศาลปกครอง และให้ทาง ครม. กับ สนช. เลือกผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปทำหน้าที่ในสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เพราะปัจจุบัน ในส่วนของศาลปกครอง มีอยู่ 6 ท่าน รวมประธานศาลปกครอง เป็น 7 เนื่องจากมีผู้ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ 2 ท่าน เมื่อกฎหมายบังคับใช้ ก็ต้องเลือกมาให้ครบ”
นายวัลลภกล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งต่อไปของ คณะกรรมาธิการฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 ต.ค.2557 นี้ ที่ประชุมจะพิจารณาตรวจทานดูรายละเอียด ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว “เป็นการตรวจทานครั้งสุดท้าย ดูไม่ให้สาระสำคัญตกหล่น ตรวจทานให้เรียบร้อย แล้วก็เข้าสภาฯ ได้เลย” นายวัลลภระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวแทนตุลาการฝ่ายผู้เสนอร่างฯ ฉบับที่กำหนดให้ ก.ศป.ต้องสิ้นสภาพ เนื่องจากการยกเลิกของรัฐธรรมนูญ 2550 มีผู้แปรญัตติหรือไม่
นายวัลลภกล่าวถึงการลงมติครั้งนี้ด้วยว่า มีผู้ไม่เห็นด้วย 2 คน คือนายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ และนายวิชัย ชื่นชมพูนุท กรรมาธิการซึ่งเป็นผู้แทนจากตุลาการศาลปกครองที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
“คุณวิชัย เขาก็มีแนวทางของเขา เขาขอสงวนความเห็นในชั้นนี้ ซึ่งเมื่อคุณวิชัยเขาแพ้มติ เขาก็จะอภิปรายสู้ในสภาใหญ่อีกที แต่ก็กล่าวได้ว่ามติครั้งนี้เป็นเอกฉันท์” นายวัลลภระบุ
( อ่านประกอบ : กมธ.จ่อลงมติร่าง พ.ร.บ.ศาลปกครอง ปม ก.ศป.อยู่หรือไป 3 ต.ค.)
( เปิดรายชื่อ 17 กรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปค. )
( สนช.รับหลักการร่างกม.จัดตั้งศาลปค.-"ครูหยุย"ซัดละเมิดสิทธิ ก.ศป. )
( เปิดละเอียดคำชี้แจงตุลาการ ยื่นปธ.สนช. คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปค. )
( เบื้องหลัง! มติวิป สนช.ฉบับเต็ม เข็นร่างกม.จัดตั้งศาลปค. เข้าวาระ 7 วันที่ 18 ก.ย.นี้ )