- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เบื้องหลัง! มติวิป สนช.ฉบับเต็ม เข็นร่างกม.จัดตั้งศาลปค. เข้าวาระ 7 วันที่ 18 ก.ย.นี้
เบื้องหลัง! มติวิป สนช.ฉบับเต็ม เข็นร่างกม.จัดตั้งศาลปค. เข้าวาระ 7 วันที่ 18 ก.ย.นี้
"..ที่ประชุมวิปมีมติว่า จะกำหนดสัดส่วนให้ฝ่ายค้าน ได้เข้ามาด้วย เพื่อให้ได้ทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ในชั้นกรรมาธิการ ฝ่ายเสนอก็ควรได้ที่นั่งในชั้นกรรมาธิการด้วย ก็ไม่น่าจะปิดบังอำพรางอะไรกัน ต้องทำงานแบบแฟร์ ๆ เปิดเผย เมื่อให้สัดส่วนท่าน ผมก็ให้สัดส่วนคุณหัสวุฒิด้วย ในชั้นกรรมาธิการก็มาคุยกันแบบนี้ มาแลกเปลี่ยนกัน ถ้าแนวทางไปด้วยกันได้ปัญหาก็จบ...”
ในช่วงบ่าย นับแต่เวลา 14.00 น.- 17.00 น. ของวันที่ 17 ก.ย.57 ที่ผ่านมา บรรยากาศในห้องประชุม 306, 307 อาคารรัฐสภา 2 คึกคักเป็นพิเศษ!
เพราะเป็นวันสำคัญที่คณะกรรมการประสานงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) ได้เชิญตัวแทนฝ่ายตุลาการที่คัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ…. เกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองที่เสนอ โดยนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เข้าชี้แจงเหตุผลแห่งการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน
ทั้งนี้ ภายหลังการชี้แจงเสร็จสิ้นลง
ตัวแทนตุลาการ ที่เข้าชี้แจงข้อมูลต่อวิป สนช. ครั้งนี้ ได้แก่ นายนพดล เฮงเจริญ นางสาวสิริกาญจน์ พานพิทักษ์ และนายประสาท พงษ์สุวรรณ โดยหลังการชี้แจงเสร็จสิ้น นายประสาทได้เป็นตัวแทนมอบหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร และจดหมายเข้าชื่อของตัวแทนตุลาการ จำนวน 118 คน ต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 1 ในฐานะประธานกรรมาธิการเพื่อนำเสนอต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
นายสุรชัย กล่าวระหว่างรับหนังสือจากตัวแทนตุลาการว่า ผลสรุปที่ประชุมวันนี้มีมติให้ฝ่ายผู้คัดค้านและผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว มีตัวแทนฝ่ายละ 2 คนในชั้นกรรมาธิการ โดยที่ประชุมวิปมีมติว่ากำหนดสัดส่วนให้ฝ่ายผู้คัดค้าน ได้เข้ามาด้วยเพื่อให้ได้ทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ในชั้นกรรมาธิการ
"เมื่อฝ่ายคัดค้านได้รับเชิญให้ทำหน้าที่นี้ และฝ่ายเสนอก็ควรได้ที่นั่งในชั้นกรรมาธิการด้วย ก็ไม่น่าจะปิดบังอำพรางอะไรกัน ก็ต้องทำงานแบบแฟร์ ๆ เปิดเผย เมื่อให้สัดส่วนท่าน (ตุลาการ) ผมก็ให้ สัดดส่วนคุณหัสวุฒิด้วย ในชั้นกรรมาธิการก็มาคุยกันแบบนี้ มาแลกเปลี่ยนกัน ถ้าท่านคุยกัน แนวทางไปด้วยกันได้ ปัญหาก็จบ” นายสุรชัยระบุ
และกล่าวด้วยว่า การที่เชิญผู้คัดค้านมาคุยให้ฟังวันนี้ มองว่าปัญหาก็จบลงได้ ถ้าแต่ละฝ่ายหาแนวทางที่ไปในแนวทางที่ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกัน คือ ในส่วนของการแก้หลักการก็แก่ไป แต่คง ก.ศป. ให้ยังอยู่แล้วให้ สนช. ในฐานะทำหน้าที่แทน สว. เลือกตำแหน่งที่ขาดไป
ทั้งนี้ นายสุรชัย กล่าวว่าฝ่ายที่เสนอร่างกฎหมาย ยังไม่ได้ให้ชื่อมา ว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนในชั้นกรรมาธิการ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถามว่า สรุปแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ในวันพรุ่งนี้ ( 18 กันยายน ) หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า "จะเข้าสู่วาระการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ และในชั้นกรรมาธิการจะให้ทั้งสองฝ่ายได้มีส่วนร่วม มีเวทีให้เขาได้คุยกัน"
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า การชี้แจงในครั้งนี้ ตุลาการฝ่ายที่คัดค้านอยากจะให้ถอนร่างกฎหมายนี้ไปพิจารณาใหม่ เนื่องจากการทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ประชาพิจารณ์กันก่อนหน้านี้ ยังไม่มีข้อยุติ แต่เนื่องจากร่างกฎหมายอยู่ในขั้นรับหลักการในวาระหนึ่ง จึงยังเปลี่ยนหลักการไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องไปแก้ไขในรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการอีกครั้ง
“หากรับหลักการแล้วอยู่ในชั้นกรรมาธิการ เราจะนำเอาสัดส่วนกรรมาธิการของฝ่ายผู้คัดค้านมา 2 คน ฝ่ายเสนอมา 2 คน และที่เหลือมาจากรัฐบาล และมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายจาก สนช. มาด้วย เพื่อให้การยกร่างผ่านชั้นกรรมาธิการในวาระที่ 2 และ 3"
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ร่างกม.ฉบับนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ในวาระที่ 7 แล้ว ร่างพรบ.ฉบับนี้ จะไปแก้ไขในบทเฉพาะกาล ที่ถือเป็นหัวใจของเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับสถานะของ ก.ศป.
"ส่วนการชี้แจงของตุลาการ นายนพดล เฮงเจริญ นายสมชัย วัฒนการุณ และนายประสาท พงษ์สุวรรณ เป็นผู้แสดงความเห็นคัดค้าน ส่วนฝ่ายผู้เสนอร่างจะส่งใครเป็นกรรมาธิการ ยังไม่ทราบ เนื่องจากเพิ่งมีมติออกมาว่าจะให้เสนอมาฝ่ายละ 2 คน ส่วนกรรมาธิการที่ เป็นตัวแทนจาก สนช. คือ นายวัลลภ ตังคนานุรักษ์ และนายนิรวัฒน์ ปุณณกันต์
นพ.เจตน์กล่าวเพิ่มเติมกับสำนักข่าวอิศราด้วยว่า จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ พิจารณาไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยผู้ที่เสนอร่างกฎหมายนี้คือนายวิชัย ชื่นชมพูนุท เนื่องจากนายวิชัยเห็นว่ามีความจำเป็น เพราะองค์ประกอบ ก.ศป. ในรายละเอียด ผูกไว้กับรัฐธรรมนูญ เมื่อ รัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปก็เกิดปัญหาขึ้นมา
“เมื่อ ก.ศป. องค์ประกอบไม่ครบ คือขาดตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ที่เสนอชื่อจากสภา และอีก 1คนที่เสนอชื่อจาก ครม. ก็เป็นสัดส่วนที่ขัดกับองค์ประกอบของตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เสนอเขาเห็นว่า ตำแหน่งอะไรก็ตาม ต้องทำให้สมบูรณ์ ก็เป็นที่มาหลักการ ที่จะเสนอร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา เขียนที่มาของ ก.ศป. ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง แต่ในโครงสร้างเหมือนเดิม"
"แต่ประเด็นปัญหาคือ เขาเห็นไม่ตรงกันกับฝ่ายเสนอ เห็นว่า ก.ศป. หมดสภาพไปแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญถูกยกเลิก แต่อีกฝ่ายเห็นว่า แม้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนว่า ศาลยังอยู่ และ ก.ศป. เป็นส่วนหนึ่งของ ศาล เมื่อร่มใหญ่ ยังอยู่ ร่มเล็กย่อมอยู่ด้วย"
นพ.เจตน์กล่าวด้วยว่า การชี้แจงวันนี้ มีประเด็นที่ว่า ในร่างกฎหมายฉบับเดิม เขียนว่าเมื่อมีการออกกฎหมายฉบับใหม่
ให้ที่ประชุมใหญ่ ของตุลาการศาลปครอง เป็นผู้พิจารณาแทน ฝ่ายผู้คัดค้านทางกฎหมายก็บอกว่า ที่ประชุมใหญ่ ศาลปกครองนี้ ถ้าเช่นนั้นก็มีหน้าที่พิจารณาตัวบุคคล ของตุลาการ แล้วถ้าหากการโยกย้ายไม่เป็นธรรม ถ้าเขาจะฟ้องร้องขึ้นมาเขาจะฟ้องใคร จะฟ้องที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองงั้นหรือ
ด้านตัวแทนตุลาการ ที่เข้าร่วมชี้แจงเหตุผลในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ กล่าวยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอมาโดยขัดหลักกฎหมาย เป็นสิ่งไม่จำเป็น เนื่องจาก ก.ศป.ยังคงอยู่ จึงสมควรระงับ ยุติ และถอนร่างกฎหมายดังกล่าว
"แต่ถ้า สนช.เห็นว่า คสช. เสนอมาแล้ว ต้องพิจารณา ต่อไป ก็ขอให้ มีกรรมาธิการ ที่เป็นตัวแทนของ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ส่วนมติที่ประชุมวันนี้เห็นว่า เนื่องจาก คสช. เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว ก็ต้องพิจารณาต่อแต่ก็ต้อง มีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการที่เหมาะสม แต่จะเป็นใครบ้างนั้น ก็จะเป็นความเห็นของวิป สนช."
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถามว่า ตุลาการที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีความเห็นอย่างไร กับมติที่ประชุม วิป สนช.วันนี้
ตัวแทนตุลาการกล่าวว่า ก็เข้าใจว่ากระบวนการพิจารณาของกฎหมาย จากนี้จะรอดูผลการพิจารณา แต่ถ้าผลการพิจารณา ท้ายที่สุดไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ก็จะแสดงความไม่เห็นด้วยต่อไป
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่าตัวแทนตุลาการที่เข้าชี้แจงต่อวิปสนช.ครั้งนี้ ได้แก่ นายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และ ก.ศป. นางสาวสิริกาญจน์ พานพิทักษ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง หนึ่งในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.)และนายประสาท พงษ์สุวรรณ อธิบดีศาลปกครองของแก่น
ด้านแหล่งข่าวระดับสูง ใน สนช.กล่าวว่า รายชื่อกรรมาธิการที่ฝ่ายตุลาการผู้คัดค้านเสนอมาในชั้นกรรมาธิการคือ นายสมชัย วัฒนการุณ และนายประสาท พงษ์สุวรรณ
ทั้งนี้ เมื่อมติเบื้องต้น วิปรับหลักการไว้พิจารณา และจะเสนอเรื่องให้สภา เมื่อสภาอภิปรายแล้ว จะมีการลงมติว่ารับหลักการหรือไม่ โดยขั้นรับหลักการจะขึ้นอยู่กับสภาชุดใหญ่ วิปไม่มีอำนาจพิจารณา วิปมีหน้าที่เพียงรับร่างไว้แต่คาดว่าการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวคงดำเนินไปอย่างรวดคงเร็ว เพื่อให้กฎหมายได้ประกาศใช้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมาย
....
ทั้งหมดนี้ คือความคืบหน้าล่าสุด ของร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ…. และสถานภาพของ ก.ศป.ที่ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ ว่าจะมีชะตากรรมเช่นไร
เมื่อ สนช.พร้อมเดินหน้าพิจารณาในวันที่ 18 กันยายนนี้!