เสียงจากใจ"พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส"ผู้ว่าฯสตง.ป้ายแดง:เราไม่ใช่ “เสือกระดาษ”
"...กฎหมาย สตง. ที่ตกไป อาจนำกลับมาศึกษาใหม่ว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ เช่น อาจทบทวนกรณีให้อำนาจ สตง. เมื่อ ตรวจสอบเรื่องทุจริตแล้วมีหลักฐาน ให้เราสามารถส่งสำนวนต่อให้อัยการหรือส่งให้ผู้บังคับบัญชาได้เลยโดยไม่ต้องรอ ไม่เช่นนั้น สตง.เราจะเป็นแค่เสือกระดาษ ตรวจพบแล้วก็ต้องรอต่อไปเรื่อย ที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ ก็เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็เพียงรับทราบ แต่ผลสุดท้าย โดยรวมก็ไม่ค่อยมีการดำเนินการอะไรออกมา..."
ในช่วงบ่ายวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังเสร็จสิ้นพิธีรับพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
"นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส" ลูกหม้อ สตง. ที่ปัจจุบันก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ สตง. อย่างเป็นทางการ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สำนักข่าวอิศรา” ถึงวิสัยทัศน์ในการทำงาน มุมมองต่ออุปสรรคปัญหาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐ รวมถึงกระบวนการติดตามตรวจสอบงบประมาณแผ่นดินในบางกรณีที่ยังคั่งค้าง
รวมถึงความหวังสูงสุดที่อยากให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในยุคการบริหารงานของเขา ไม่ได้เป็นเพียงแค่เสือกระดาษ
แต่หากมีอำนาจในการส่งสำนวนเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่นให้อัยการได้ก็คงเป็นประโยชน์ไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาเมื่อตรวจสอบพบปัญหาทุจริตและส่งเรื่องไปยังสภาผู้แทนราษฎรฯ ปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับการสะสาง
เหล่านี้ คือความมุ่งหวังบางส่วนเสี้ยว ของผู้ว่าฯ สตง.คนปัจจุบัน
@ : เมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ของรัฐบาลยุค คสช. คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบแล้วหรือไม่
พิศิษฐ์ : บทบาทหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินคือตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของทุกหน่วยงาน ทุกหน่วยงานต้องโดนตรวจสอบ ไม่ว่าผู้บริหารชุดใดก็ตาม ถือเป็นหน้าที่โดยปกติของผู้มีหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน เราไม่ได้เลือกปฏิบัติว่าตรวจสอบเพียงคณะใดคณะหนึ่ง เราตรวจสอบ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ทุกหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้น รัฐบาลคณะใด มีโครงการใด เราก็ต้องตรวจสอบและจะดำเนินการตรวจสอบให้รวดเร็ว
@ : จะทำอย่างไร ให้การตรวจสอบทุกโครงการเป็นไปอย่างรวดเร็ว
พิศิษฐ์ : เร็วๆ นี้ จะมีการประชุม หารือกันอย่างละเอียด ว่าโครงการใดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรจะต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบ หรือเรื่องใด โครงการใดที่มีข้อสงสัยจากสังคม หรือจากสื่อมวลชน เราก็จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างของบ้านเราก็เป็นปัญหาใหญ่
@ : อะไรคือปัญหาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของไทย ที่เอื้อให้เกิดการทุจริต
พิศิษฐ์ : ตอนนี้ ปัญหาจากนักการเมืองก็ทุเลาลง แต่ยังเหลือฝ่ายข้าราชการประจำ ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ ยืนยันว่า จากนี้ เราจะตรวจสอบอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ขั้นตอนของการเขียนคุณสมบัติ ว่าโปร่งใส เป็นธรรม ราคาเหมาะสมหรือไม่
เนื่องจากขณะนี้ เรื่องความสุจริตเป็นวาระแห่งชาติ การทุจริตถือเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นนโยบายของผมในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคือต้องมุ่งเน้นไปที่การป้องปราม นี่เป็นสิ่งที่เราทำได้ในเบื้องต้น และจะเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้มีความเสียหาย ที่ผ่านมา เราก็ตรวจสอบทั้งบัญชีการเงิน การจัดเก็บรายได้ การประเมิน คิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ไม่ใช่ ตรวจเฉพาะแค่ใบเสร็จรับเงิน
ส่วนกรณีการจัดซื้อจัดจ้าง แม้เมื่อได้สัญญามาแล้ว เราก็จะตรวจสอบอย่างครบวงจรและจะมีการสุ่มตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงกฎระเบียบ หรือเงินรั่วไหลหรือการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก แต่สิ่งที่ได้มากลับไม่มีคุณภาพ หรือได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ในเรื่องการประเมินผล เราก็จะประเมินในเชิงรุก คือถ้ามีข้อสังเกตใดที่จะช่วยทำให้เกิดความถูกต้อง รัดกุมยิ่งขึ้น เราก็จะแจ้งให้ป้องปรามไว้ หรือหากพบข้อสงสัย หรือปรากฏพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สุจริต สตง.ก็จะเข้าไปตรวจสอบรายละเอียด รวบรวมพยานหลักฐาน ถ้าพบกรณีทุจริต ก็จะส่งสำนวนไปยังพนักงานสอบสวนโดยเร็วที่สุด เพื่อพิทักษ์รักษาเงินแผ่นดิน
@ : มีสิ่งใดอีกบ้าง ที่ต้องการผลักดันเป็นพิเศษเมื่อเป็นผู้ว่าการฯ
พิศิษฐ์ : ยอมรับว่าเราจะยังต้องประชุมหารือกันในรายละเอียด เรื่องกฎหมาย สตง. ที่ตกไป อาจนำกลับมาศึกษาใหม่ ว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ เช่น อาจทบทวนกรณีให้อำนาจ สตง. เมื่อ ตรวจสอบเรื่องทุจริตแล้วพบว่ามีมูลมีหลักฐาน ให้เราสามารถส่งสำนวนต่อให้อัยการหรือส่งให้ ผู้บังคับบัญชาได้เลยโดยไม่ต้องรอ ไม่เช่นนั้น สตง.เราจะเป็นแค่เสือกระดาษ ตรวจพบแล้วก็ต้องรอต่อไปเรื่อย ที่ผ่านมา หากส่งสภาฯ แล้ว เสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ ก็เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็เพียงรับทราบ แต่ผลสุดท้าย โดยรวมก็ไม่ค่อยมีการดำเนินอะไรออกมา
@ : ขอสอบถามเพิ่มเติม กรณีสำนักข่าวอิศรา เคยติดตามการยกเลิกสัญญาซื้อขายแท็บเล็ต ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ บริษัท เสิ่นเจิ้น อิงถังฯ จากประเทศจีน เรื่องเงินประกันของ บ.เสิ่นเจิ้น อิงถังฯ ที่จ่ายคืนให้ สพฐ. คืนสู่แผ่นดินครบถ้วนหรือยัง ได้ตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่
พิศิษฐ์ : ผมขอเวลาดูรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง คาดว่าภายในวันที่ 30 กันยายน จะมีการติดตามผลในเรื่องนี้ เนื่องจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ สตง.ที่ดูแลอยู่จะนำมารายงานกับ คตง. ด้วย เราก็ต้องดูรายละเอียดว่ามีประเด็นใดอีกบ้างที่ต้องขยายผลหรือติดตามเพิ่มเติม และหากเกิดความเสียหายใดๆ ก็จะต้องติดตามทั้งกรณีมีความผิดทางวินัยและทางอาญา คดีความ หากเกิดความเสียหายใดๆ เราจะติดตามจนกระทรวงการคลังได้รับการชดใช้คืน
คือความในใจ ผู้ว่าฯ สตง.คนปัจจุบัน ที่นอกจากลั่นวาจาเดินหน้าลุยสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการ ทุกหน่วยงาน-องค์กร ทุกรัฐบาลแล้ว ยังคิด "ติดดาบ" ให้ สตง. มีอำนาจส่งสำนวนให้อัยการ ไม่ต้องเป็นเพียง "เสือกระดาษ" เหมือนที่ผ่านมา
ส่วนวิสัยทัศน์และความปรารถนาดังที่กล่าวมา จะสำเร็จเป็นรูปธรรมเพียงใด ต้องติดตามต่อไป!
อ่านประกอบ :
คตง.เล็งบี้ภาษีนักการเมือง-สาวปตท.ตั้งบริษัทลูก-เงินซื้อแท็บเลต
“สพฐ.” ลอยแพ 8 หน่วยงานรัฐ ตามยึดเงินประกันแท็บเล็ต“เซินเจิ้น” เอง