คตง.เล็งบี้ภาษีนักการเมือง-สาวปตท.ตั้งบริษัทลูก-เงินซื้อแท็บเลต
ประธาน คตง.-ผู้ว่าการ เดินหน้าสอบใช้เงินแผ่นดิน จัดซื้อจัดจ้าง-เมกะโปรเจกต์ เสนอเก็บภาษีตามกฎหมายประมวลรัษฎากร มาตรา 49 - เล็งสาวปม ปตท.ตั้งบริษัทลูก กรณีเงินประกันเสิ่นเจิ้นกรณีจัดซื้อแท็บเล็ต
วันที่ 29 กันยายน 2557 ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีการจัดพิธีเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หลังจากมีพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม เป็นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน,นายปิยพันธ์ นิมมานเหมินท์, นางอุไร ร่มโพธิหยก, นายสุทธิพล ทวีชัยการ, นางจิรพร มีหลีสวัสดิ์, นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร, นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เป็น กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
หลังเสร็จสิ้นพิธีเข้ารับตำแหน่ง นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการทำงานกับสื่อมวลชนว่าจากนี้จะเน้นการตรวจสอบที่เข้มข้น จริงจัง และจะเสนอแนะให้หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกรมสรรพากรทำหน้าที่จัดเก็บภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำหน้าที่จัดเก็บภาษีไม่ให้รั่วไหล นอกจากนี้จะเสนอให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีจากมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 49 มาใช้ ซึ่งเป็นการประเมินภาษีโดยวิธีกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิจากค่าเพิ่มทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งการจัดเก็บภาษีวิธีนี้สามารถที่จะป้องกันและปราบปรามนักการเมืองและข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตคอร์รัปชั่นได้
นายชัยสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาบทลงโทษกรณีไม่เสียภาษีอากรมีอยู่แล้ว แต่กรมสรรพากร ไม่นำมาใช้ ทั้งที่จะทำให้เกิดรายได้จากการเก็บภาษี ไม่ว่าภาษีบ้าน ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย ถ้าทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย รายรับของรัฐบาลก็จะไม่ขาดดุล
นายชัยสิทธิ์กล่าวว่า ในกรณีของการตรวจสอบรายจ่าย มีนโยบายให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง โดย เฉพาะโครงการใหญ่ๆ ไม่ว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้า เรื่องพลังงาน เช่น กรณี ปตท. ที่มีการตั้งคำถามว่า เหตุใด จึงมีการตั้งบริษัทลูกหลายบริษัท จากนี้ ก็จะให้ สตง. เข้าไปตรวจสอบว่า มีการทุจริต คอร์รัปชั่นหรือไม่ หรือแม้แต่ กสทช. กรณีที่มีการลดค่าธรรมเนียมให้กับ ช่อง 3 หรือ ช่องอื่นๆ นั้น สตง.ก็จะเข้าไปตรวจสอบว่าควรทำหรือไม่ และทำได้หรือไม่ เพราะทำให้รายได้แผ่นดินลดน้อยลง
นอกจากนี้ กรณีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. สตง.ก็จะเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มข้น
หลังจากแสดงวิสัยทัศน์ นายชัยสิทธิ์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่ากรณี บริษัท ลูกของ ปตท. มีการตั้งคำถามว่าทำไมจึงจดทะเบียนมากมาย และไปจดทะเบียนต่างประเทศ เบื้องต้นแม้เป็นเพียงข้อสังเกต และข้อสันนิษฐาน แต่จากนี้ ตนและผู้ว่าการฯ จะวางแผนงานให้ สตง.เข้าไปตรวจสอบ บริษัทลูกของ ปตท.อย่างจริงจัง และยอมรับว่าอาจต้องเผชิญกับแรงเสียดทาน แต่ก็ต้องทำหน้าที่
ส่วนกรณีการเสนอให้อธิบดีกรมสรรพากรบังคับใช้ประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 49 นายชัยสิทธิ์กล่าวว่า เนื่องจากนักการเมืองหรือข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ มักจะนำเงินนี้ไปซื้อทรัพย์สิน บ้าน รถยนตร์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเงินรายได้ที่ได้มานี้ นี้ไม่ว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตราดังกล่าวก็ต้องเสียภาษี เพราะเป็นการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่มี
นายชัยสิทธิ์กล่าวว่า ในอดีต เคยมีการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายประมวลรัษฎากร มาตรา 49 จากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมถึงรัฐมนตรีบางรายในสมัย รัฐบาล รสช. แต่ปัจจุบัน ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ เพราะอธิบดีกรมสรรพากรต้องเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา รัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก็อาจครอบงำกรมสรรพากร ทำให้อธิบดีกรมสรรพากรไม่กล้าใช้มาตรานี้
ด้าน นายพิศิษฐ์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่าสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ คตง.และ สตง.ต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบ คือกรณีการใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ ในการจัดซื้อตัดจ้าง โดยจากนี้ จะให้ความเข้มงวด ตั้งแต่การตรวจสอบการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะเพื่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และตรวจสอบในกระบวนการแต่ละขั้นตอน กระทั่ง เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้าง
“แม้เมื่อได้สัญญามาแล้ว เราก็จะตรวจสอบอย่างครบวงจรและจะมีการสุ่มตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงกฎระเบียบ หรือเงินรั่วไหลหรือการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก แต่สิ่งที่ได้มากลับไม่มีคุณภาพ หรือได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ในเรื่องการประเมินผล เราก็จะประเมินในเชิงรุก คือถ้ามีข้อสังเกตใดที่จะช่วยทำให้เกิดความถูกต้อง รัดกุมยิ่งขึ้น เราก็จะแจ้งให้ป้องปรามไว้ หรือหากพบข้อสงสัย หรือปรากฏพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สุจริต สตง.ก็จะเข้าไปตรวจสอบรายละเอียด รวบรวมพยานหลักฐาน ถ้าพบกรณีทุจริต ก็จะส่งสำนวนไปยังพนักงานสอบสวนโดยเร็วที่สุด เพื่อพิทักษ์รักษาเงินแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ถามว่ากรณีที่สำนักข่าวอิศรา เคยติดตามการคืนเงินประกันกรณีผิดสัญญา ของบริษัท เสิ่นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจนท์ คอนโทรล และขอดูหลักฐานการจ่ายเงินประกันกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. แต่ได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ สพฐ.ที่รับผิดชอบ โดยเจ้าหน้าที่ สพฐ.อ้างว่าคืนเงินประกันของ บริษัท เสิ่นเจิ้น อิงถัง เข้าสู่เงินแผ่นดินแล้วนั้น
นายพิศิษฐ์ และนายชัยสิทธิ์ ตอบตรงกันว่าจะขอไปตรวจสอบรายละเอียดในเชิงลึกของกรณีดังกล่าวว่ามีเงินประกันของบริษัทเสิ่นเจิ้นฯ เข้าสู่เงินแผ่นดินแล้วจริงหรือไม่
( อ่านประกอบ : “สพฐ.” ลอยแพ 8 หน่วยงานรัฐ ตามยึดเงินประกันแท็บเล็ต“เซินเจิ้น” เอง )
*หมายเหตุ
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน : คนแรกจากขวา
นาย ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรมประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน : คนที่ 5 จากขวา