แกะรอย มหากาพย์คดีความ “อธิการบดี-บุคลากร” ใน ม.อุบล
"...เมื่อรองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข เข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นมา ได้การตั้งกรรมการสอบข้อร้องเรียนกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยของบุคลากรและมีคำสั่งลงโทษวินัย กระทั่งนำมาสู่การฟ้องร้องในคดีอาญาและคดีทางปกครองหลายกรณีด้วยกัน.."
จากกรณีเมื่อต้นเกือนกันยายน 2557 ศาลชั้นต้นจังหวัดอุบลราชธานี มีคำพิพากษาให้ รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำคุกเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือนปรับ 12,000 บาท โทษจำรอลงอาญา 2 ปี ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากอดีตคณบดีรายหนึ่ง ยื่นฟ้อง รศ.นงนิตย์ อธิการบดี ภายหลังจากอธิการบดีมีคำสั่งลงโทษทางวินัย
( อ่านประกอบ : ม.อุบลฯ ระส่ำ!คดีอีนุงตุงนัง อธิการสั่งล้างบางทุจริต-โดนฟ้องกลับ )
นอกจากนี้ ภายในเดือนเดียวกันคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ยังมีมติเห็นชอบ ตามความเห็นของ อ.ก.พ.อ. ให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชานีสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ตามผลการสอบสวนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่กล่าวหาในประเด็นหนึ่งว่า ขณะที่อดีตอธิการบดีรายดังกล่าวยังดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างหอพักนักศึกษาไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ
แต่ ก.พ.อ. พิจารณาตามประเด็นที่ได้รับอุทธรณ์ว่า เหตุที่มหาวิทยาลัย อุบลราชธานีต้องยกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าว เนื่องจากผู้ที่มีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวนอดีตอธิการบดีรายดังกล่าว ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดี ซึ่งผู้บังคับบัญชาอธิการบดีฯ คือ เลขา สกอ. ไม่ใช่อธิการบดีคนปัจจุบัน
( อ่านประกอบ : คดีฟ้องร้องม.อุบลฯส่อวุ่นหนัก!ก.พ.อ.รับอุทธรณ์คำสั่งปลด"อดีตอธิการฯ" )
( เลขาสกอ.ปัดตอบปมอธิการ ม.อุบลฯ มีอำนาจสั่งลงโทษวินัยผู้บริหารเก่าฯ )
อย่างไรก็ตาม คดีความที่กล่าวมายังเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พบว่าเมื่อรองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข เข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นมา ได้การตั้งกรรมการสอบข้อร้องเรียนกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยของบุคลากรและมีคำสั่งลงโทษวินัยกับผู้กระทำความผิด ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน กระทั่งนำมาสู่การฟ้องร้องในคดีอาญาและคดีทางปกครองหลายกรณีด้วยกัน
สรุปได้ดังนี้
1. คดีพิพาทระหว่างอธิการบดี VS อดีตอธิการบดี
กรณีดังกล่าว คือคดีหมายเลขดำที่ 2412/2555 ระหว่าง ศ.ประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องรองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลยที่ 1 และ นายกิจสุวัฒน์ หงส์เจริญ จำเลยที่ 2 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2555 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกล่าวหาโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยได้ตั้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 15 ข้อกล่าวหา ตามบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาฯ (แบบ สว.3) อันเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ชอบเอกสารหมายเลข 21
คดีนี้ศาลไต่สวนมูลฟ้อง มีคำสั่งรับฟ้องว่าจำเลยที่ 1 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ชอบ
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว สืบเนื่องจาก รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คนปัจจุบัน มีคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ ศ.ประกอบ ออกจากราชการ ตามผลการสอบสวนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่กล่าวหาในประเด็นหนึ่งว่า เมื่อครั้ง ศ.ประกอบ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินโครงการก่อสร้างหอพักนักศึกษาไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ขณะที่นาย ขจร จิตสุขุมมงคล เจ้าหน้าที่ สกอ.และเป็นผู้ดูสำนวนอุทธรณ์กรณีดังกล่าว เคยยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า มติ ก.พ.อ. ที่ให้มหาวิทยาลัย อุบลราชธานียกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัย เนื่องจากผู้ที่มีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวน ศ.ประกอบได้ ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดีที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีฯ ซึ่งผู้บังคับบัญชาอธิการบดีฯ ต้องเป็น เลขา สกอ. ไม่ใช่อธิการบดีคนปัจจุบัน
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2555 ก่อนตั้งกรรมการสอบสวนสอบสวนและมีคำสั่งลงโทษทางวินัย ต่อ ศ.ประกอบ รศ.นงนิตย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีหนังสือหารือ มายัง สกอ. เพื่อสอบถามว่าอธิการบดีมีอำนาจในการสอบสวนและลงโทษทางวินัย ศ.ประกอบ ผู้เป็นอดีตอธิการบดีหรือไม่
จากนั้น วันที่ 24 กันยายน 2555 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้มีหนังสือที่ ศธ.0509.6 ( 3.16 ) / 14694 ตอบกลับ รศ.นงนิตย์ ในประเด็นข้อหารือดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปว่า กรณีนี้ อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจลงนามในคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ปลด ศ.ประกอบ วิโรจนกูฎได้ โดยเทียบเคียง ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 475/ 2554 หนังสือตอบข้อหารือดังกล่าว ลงนามโดย นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ สกอ. ขณะนั้น ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในกรณีที่หนังสือของนายอภิชาติอ้างถึง เป็นความเห็นเกี่ยวกับการสอบสวนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ที่อธิการบดีคนปัจจุบันตั้งกรรมการสอบอดีตอธิการบดีคนก่อน และคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่าอธิการบดีคนปัจจุบัน มีอำนาจในการตั้งกรรมการสอบสวนอดีตอธิการบดีที่พ้นจากราชการไปแล้ว
2. อธิการ VS อดีตคณบดีคณะศิลปประยุกต์ฯ
กรณีนี้ อดีตคณบดีคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากไม่เพิกถอนคำสั่งลงโทษวินัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ให้ไล่โจทก์ออกจากราชการและไม่ยอมสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามมติของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ (อ.ก.พ.อ.) ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.)
คดีดังกล่าว สืบเนื่องจาก ในวันที่ 22 ธันวาคม 2554 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบัน อุดมศึกษา (ก.พ.อ.) และต่อมาคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ร้องทุกข์และจรรยาบรรณ ( อ.ก.พ.อ.) ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ได้พิจารณาแล้วให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์ และแจ้งให้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามคำสั่งของคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง เสียโอกาสในการได้รับความดี ความชอบและความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบเบื้องลึกปมคดีดังกล่าว พบว่า วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 คณะกรรมสอบสวนวินัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รายงานผลการสอบสวนคณะบดีรายดังกล่าวที่มีผู้ร้องเรียนว่ามีพฤติการณ์การกระทำที่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ราชการในตำแหน่งคณบดีโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ กรณีทุจริตยักยอกเงินค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวลาวจำนวน 49,940 บาท ทั้งได้มีการกล่าวอ้างและนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกิจการของมหาวิทยาลัยผ่านสื่อสารมวลชนและระบบคอมพิวเตอร์ทั้งทางวาจาหรือเป็นหนังสือในทางที่ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อ ความน่าเชื่อถือ ของมหาวิทยาลัยที่สาธารณชนให้ความไว้วางใจจึงถือว่าเป็นการกระทำที่จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ และขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามความในมาตรา 39 วรรคสี่และวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพ.ศ. 2547 จึงเห็นสมควรให้ได้รับโทษ ไล่ออกจากราชการ
ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2554 มหาวิทยาลัยจึงได้มีคำสั่งลงโทษไล่อดีตคณะบดีรายนี้ออกจากราชการตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน และคำสั่งลงโทษดังกล่าวนำมาสู่การฟ้องร้องที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า อดีตคณะบดี รายนี้ ยังดำเนินการฟ้องอธิการบดีฯ ที่ศาลปกครอง จ.ขอนแก่น จำนวนสองคดี ได้แก่
-คดีหมายเลขดำที่ 172 / 2555 ฟ้องมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ( ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1) และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 2 ) โดยขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนคำสั่งลงโทษวินัยไล่ออกจากราชการ และสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิม คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองขอนแก่น
-คดีหมายเลขดำที่ 172 / 2555 หมายเลขแดงที่ 548 / 2556 ฟ้องมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ( ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ) และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ( ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ) โดยขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนคำสั่งลงโทษวินัยและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิม และให้มหาวิทยาลัยชดเชยค่าเดินทางในการมาติดต่อและมาศาล จำนวน 30,000 บาท ต่อมา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556 ศาลปกครองขอนแก่นมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการให้เป็นไปตามมติของอนุกรรมการอุทธรณ์ ร้องทุกข์และจรรยาบรรณ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้เงินจำนวน 10,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
คดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากเห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ ขณะนี้ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
ขณะเดียวกัน ในกรณีดังกล่าว มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็ยังเป็นฝ่ายยื่นฟ้อง คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) และพวก รวมสามราย ต่อศาลปกครอง กรณี ก.พ.อ. และผู้ถูกฟ้องรวม 3 ราย ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ เนื่องจากเลขาธิกาคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ทำการแจ้งมติอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ (อ.ก.พ.อ.) ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีการลงโทษทางวินัยอดีตคณะบดีรายดังกล่าว ทั้งที่ อ.ก.พ.อ. ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์แทน ก.พ.อ. ได้ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย
ซึ่งต่อมา มีบันทึกความเห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 389/ 2557 วินิจฉัยยืนยันว่า อ.ก.พ.อ. มีเพียงอำนาจในการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.อ. ที่กำหนดในข้อบังคับ ก.พ.อ. เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอความเห็นต่อ ก.พ.อ. เท่านั้น โดยไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์แทน ก.พ.อ. แต่อย่างใด ดังนั้น อ.ก.พ.อ. เกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ ไม่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการหรือถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 แทน ก.พ.อ. ได้
แต่คดีดังกล่าว ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่ใช่ผู้เสียหาย มหาวิทยาลัยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
3.ปมอธิการสั่งสอบบุคลากรยักยอกเงิน-ถูกฟ้องกลับ
กรณีนี้ สืบเนื่องจาก คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้เสนอ ความเห็นให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเพื่อเอาผิดทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัยกับลูกจ้างรายหนึ่งและผู้บังคับบัญชาในสายงานจำนวน 3 ราย ได้แก่ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ที่ได้รับมอบอำนาจให้บังคับบัญชาและควบคุมดูแลกองคลัง , อดีตผู้อำนวยการกองคลัง และ อดีตรักษาการหัวหน้างานงบประมาณเนื่องจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่า การที่ลูกจ้างสามารถกระทำการยักยอกเงินอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หลายคราว เป็นเวลาเกือบสองปี เป็นเพราะผู้บังคับบัญชาทั้งสามราย ปล่อยปะละเลย และไม่เอาใจใส่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของนายวัชระชัย และมอบหมายภาระงานทางด้านการเงินที่มีความสำคัญและมีความเสี่ยงสูงให้ลูกจ้างปฏิบัติในลักษณะเบ็ดเสร็จคนเดียวตามลำพัง ซึ่งเป็นการมอบหมายงานที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยระเบียบและแนวปฏิบัติของ ทางราชการ จึงเปิดโอกาสให้ลูกจ้างรายนี้กระทำการทุจริตได้โดยง่ายดาย
มหาวิทยาลัยจึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ สอบสวนวินัยกับผู้บังคับบัญชารวมสามรายชุดหนึ่ง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กับนายวัชระชัย ฯ กับผู้บังคับบัญชา รวมสี่รายอีกชุดหนึ่ง ตามความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดังกล่าว
ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนวินัยได้เสนอ รายงานการสอบสวนต่ออธิการบดีและอธิการบดีได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง จากนั้น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 จึงได้ออกคำสั่งลงโทษปลดข้าราชการทั้งสามรายออกจากราชการฐานปฏิบัติหน้าที่ ราชการโดยประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ตามความในมาตรา 39 วรรคท้าย ประกอบกับมาตรา 48(4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547
ต่อมา วันที่ 31 มีนาคม 2555 มหาวิทยาลัยได้นำเรื่องนี้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อพิจารณารับทราบ ตามมาตรา 60 ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยฯมีอำนาจที่จะสั่งให้อธิการบดีในฐานะผู้บังคับบัญชาทบทวนการ ดำเนินการและสั่งการใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมได้ ซึ่งที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ มีมติรับทราบ โดยไม่ได้มีความเห็นให้ทบทวนหรือสั่งการเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการทางละเมิดกับข้าราชการทั้งสามราย และได้มีคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
จากนั้น บุคคลทั้งสามที่เป็นผู้บังคับบัญชาของลูกจ้างรายนี้ได้ไปฟ้องศาลปกครองอุบลราชธานี เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษา เมื่อประมาณเดือน มีนาคมถึงเมษายน 2557 โดยทั้งสามคดีศาลมีคำพิพากษาไปในแนวทางเดียวกันว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้มหาวิทยาลัย อุบลราชธานีเสียหาย เป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2539 จึงให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ทั้งนี้ ภายหลังจากการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และลงโทษทางวินัย ผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยได้ดำเนินคดีฟ้องอธิการบดีเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาล จังหวัดอุบลราชธานี ในคดีหมายเลขดำที่ 666/2556 หมายเลขแดงที่ 444/2557ลงวันที่ 6 มีนาคม 2556
คดีนี้โจทก์ฟ้อง รศ.นงนิตย์ ว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยโจทก์ โดยลงโทษปลดออกจากราชการ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบัน อุดมศึกษา (ก.พ.อ) ซึ่งต่อมา คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ (อ.ก.พ.อ)ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ) ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ แล้วมีมติให้เพิกถอนคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ และให้โจทก์กลับเข้าราชการดังเดิม แต่ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ ร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือน จึงแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ
และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องสั่งเพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยที่สั่งปลด โจทก์ออกจากราชการ และสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการโดยเร็ว แต่จำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยไม่ยอมสั่งเพิกถอนคำสั่งของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่สั่งปลดโจทก์ออก จากราชการและไม่ยอมสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามคำสั่งของคณะกรรมการข้า ราการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ)คดีนี้ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 คดีอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องราวมหากาพย์คดีความมากมาย ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแห่งนี้ !
ภาพประกอบจาก : www.admission.in.th, www.google.co.th