"Urban Design" ร่วมคิดวางผังเมือง ที่บางกะเจ้า
“บางกะเจ้า” พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด ปัจจุบันกำลังเป็นจับจ้องของบรรดานักลงทุน จนราคาที่ดินพื้นที่แห่งนี้ พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วย “ความเขียว” คือสิ่งที่หาได้ยากในสังคมเมือง
“คุณค่า” ความเขียว วันนี้จึงได้แปรเปลี่ยนกลายเป็น “ มูลค่า” ให้กับที่ดินในบางกะเจ้าไปเรียบแล้ว
“บางกะเจ้า” ใช่มีเฉพาะปัญหาผังเมืองเท่านั้น หากแต่มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการที่เกาะติดปัญหาผังเมืองบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ และลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง บอกถึงปัญหาเร่งด่วนที่พบว่า ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข นอกจากปัญหาเรื่องการเดินทางที่ค่อนข้างลำบากแล้ว ปัญหาเรื่องน้ำ ก็สำคัญ ขณะเดียวกัน ระบบการป้องกันน้ำท่วมก็เริ่มพัง รวมไปถึงปัญหาน้ำเน่าเสีย ที่คนกรุงเทพฯ ฝากไว้ให้คนบางกะเจ้า ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหา Urban Design เช่น เรื่องขยะ ระบบนิเวศ เขื่อนพัง น้ำจะท่วมไหม
และนี่คือโจทย์ใหญ่และสำคัญมากกว่า
อาจารย์เดชรัต ให้แง่คิดว่า ทำอย่างไรให้ผลประโยชน์ในความเขียวเกิดประโยชน์สูงสุดได้โดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
“การแก้ไขปัญหาบางกะเจ้า โดยไม่ต้องรอหน่วยงานไหนเข้ามาช่วย สามารถทำได้ด้วยการสร้างแผนการออกแบบชุมชนเมือง หรือ “Urban Design”
หรือพูดง่ายๆว่ า การออกแบบใช้ชุมชนให้มีพื้นที่ใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่ด้วยตัวของพื้นที่นั้นเอง”
การแก้ปัญหาเพิ่มความเขียวให้บางกระเจ้าในแนวทางนักเศรษฐศาสตร์ อันดับแรกที่ต้องทำคือ การประเมินมูลค่าการบริการระบบนิเวศที่เป็นพื้นที่สีเขียวในบางกะเจ้า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นเห็นแล้ว ตั้งแต่ภูมิอากาศ ไม้ยืนต้น ผลไม้ เรื่องน้ำก็เช่นกัน บางกะเจ้าเป็นพื้นที่เก็บน้ำให้คนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้ใช้กัน ทั้งยังความอุดมสมบรูณ์ของดิน เลยมาจนถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และนันทนาการ
“การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือการสร้างกิจกรรมอนุรักษ์ ตรงนี้ต้องคิดและวิเคราะห์ของมูลค่าว่า เนื้อที่กว่า 9,000 ไร่จะใช้ประโยชน์อย่างไรให้คุ้มค่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากบางกะเจ้าไม่ได้คืนประโยชน์ให้บางกะเจ้าเลย มีแต่การมาทำแล้วจากไป” อาจารย์เดชรัต ให้มุมมอง และบอกว่า ในทางกลับกันชาวบ้านที่เฝ้ารักษาความอุดมสมบรูณ์ไว้ กลับไม่ได้รับผลประโยชน์กลับคืนมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ฉะนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์เป็นโจทย์ที่ท้าทาย คือ ความเขียวมีจริงเยอะจริง แต่คนที่ได้ประโยชน์กลับเป็นคนที่ไม่ได้สร้างความเขียว จะทำอย่างไรให้คนที่รักษาความเขียวได้ประโยชน์ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ ทำคนเดียวไม่ได้ต้องอาศัย Urban Design ในการช่วยออกแบบ
อาจารย์เดชรัต ได้ยกตัวอย่างกรณีสวนป่าลำพู บ้านของหิ้งห้อย ที่มีจุดเริ่มต้นจากป่ารกทึบไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ในตอนแรก แต่เมื่อกลุ่มนักอนุรักษ์สวนป่าลำพู เล็งเห็นว่า พื้นที่ตรงนี้น่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้อีกทางหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการขอพื้นที่จากกรมป่าไม้มาจำนวน 3 แปลง นำมาปลูกต้นลำพูเพื่อเป็นที่อาศัยของหิ้งห้อย
กระทั่งปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาเยี่ยมชมหิ้งห้อยได้ ถือเป็นการสร้าง “มูลค่า” ที่ทั้งคนทั้งสัตว์ ทั้งป่าอยู่ร่วมและสร้างมูลค่าให้กันและกัน...
ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ นักภูมิสถาปนิกคนสำคัญของเมืองไทย กล่าวถึงการคงคุณค่า และรักษาพื้นที่บางกะเจ้าให้เป็นสีเขียว ให้เป็นปอด กทม. ที่มีทั้งความร่มรื่น ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การอนุรักษ์ เป็นสิ่งสำคัญ
“เราจำเป็นที่เราต้องมานั่งคิดว่า มีกิจกรรมอะไรที่น่าจะเพิ่มคุณค่าและไปได้กับสีเขียว ขณะเดียวกันก็ต้องลดผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจที่มีนักธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยงเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์
ถ้าเราจะเอาบางกะเจ้าเป็นพื้นที่สีเขียวหรือว่าคงความเป็นสีเขียวไว้ได้ เราก็ต้องรับสภาพของผลกระทบที่มาจากด้านเศรษฐกิจด้วย ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับพื้นที่แห่งนี้”
อาจารย์เดชา แนะด้วยว่า เพื่อให้พื้นที่บางกะเจ้าเขียวอย่างยั่งยืน การก่อสร้างอาคารต่างๆ หรือปลูกอะไรก็แล้วแต่ นอกจากต้องขออนุญาตการก่อสร้างในพื้นที่แห่งนี้แล้ว จำเป็นหรือไม่ ต้องไปขออนุญาตทางผังเมืองด้วย เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงการผลักดันให้มีผังเมืองเฉพาะ
ขณะที่นายภราเดช พยัฆวิเชียร นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย เห็นด้วยว่า ต้องมีการกำหนดให้บางกะเจ้าเป็นพื้นที่พิเศษ ตามที่เคยมีมติครม.ให้กำหนดเป็น “พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม” แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยให้ขอ คสช.ระงับการใช้ผังเมืองฉบับใหม่ไว้ก่อน หรือจะเป็นการทบทวนผังเมืองรวมพื้นที่บางกระเจ้าขนานไปกับการทำผังเมืองเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องพร้อมกันไป ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษและกรณีศึกษาในปฏิรูปการทำผังเมืองอื่นๆต่อไปในอนาคต
“ การทำผังเมืองเฉพาะไม่ใช่แค่เป็นการออกข้อกำหนดหรือมาตรการบังคับเท่านั้น แต่ต้องมีมาตรการส่งเสริม ชดเชย และการสร้างโอกาสแก่เจ้าของที่ดิน ตลอดจนงบประมาณแผนงานโครงการพัฒนาของรัฐที่ชัดเจนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ของทั้งภาครัฐเอกชนชุมชมชนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวางผังเมือง”
สำหรับการบูรณาการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เขาเห็นว่า ก็ต้องเกิดประโยชน์สอดคล้องกัน สามารถปฏิบัติได้และมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง อาทิ พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และพ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร ข้อบังคับท้องถิ่น เป็นต้น
รวมไปถึง การปรับแก้ระบบการบริหารส่วนท้องถิ่นให้มีอำนาจ (ตามหลักการกระจายอำนาจแต่ไม่ใช่รัฐอิสระ) ภายใต้กรอบนโยบายระดับชาติ ระดับภาคหรือกลุ่มจังหวัด(cluster) และระดับจังหวัด ซึ่งยึดโยงสัมพันธ์กันตามลำดับ และการใช้อำนาจ (ตามกฏหมาย) ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการระดับพื้นที่ ที่จะไม่ให้เกิดการเลือกบังคับใช้กฎหมายและไม่เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นชุมชน
อ่านประกอบ
เกิดอะไรขึ้นที่ 'บางกะเจ้า' พื้นที่อนุรักษ์ 'ปอด' สีเขียวของคนเมือง
วัดภูมิคุ้มกัน "บางกะเจ้า" ทนกระแสทุนได้ขนาดไหน?
"ปั่น-ปัก-หมุด" ตามหาคุณค่ากระเพาะหมูบางกะเจ้า