- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เกิดอะไรขึ้นที่ 'บางกะเจ้า' พื้นที่อนุรักษ์ 'ปอด' สีเขียวของคนเมือง
เกิดอะไรขึ้นที่ 'บางกะเจ้า' พื้นที่อนุรักษ์ 'ปอด' สีเขียวของคนเมือง
คนไทยที่ตื่นตาตื่นใจ เมื่อเห็น Central Park สวนธารณะอันเขียวขจี บนเนื้อที่ 2 พันกว่าไร่ท่ามกลางความแออัดของตึกสูงในมหานครนิวยอร์ค แต่เราจะรู้หรือไม่ จริงๆ แล้ว บ้านเราก็มีสวนขนาดมหึมาที่ใหญ่กว่าถึง 5 เท่า อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ
พื้นที่นั้นก็คือ “บางกะเจ้า” พื้นที่ส่วนหนึ่งที่เป็นบริเวณโค้งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกระเพาะหมู กินพื้นที่ถึง 6 ตำบลของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ได้แก่ ต.บางกะเจ้า บางน้ำผึ้ง บางกอบัว บางกระสอบ บางยอ และ ทรงคะนอง
นับตั้งแต่ 14 ก.ย.2520 มติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้ “บางกะเจ้า” อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีเขียว ที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยไม่อนุญาตให้ทำการก่อสร้างตึกหรืออาคารที่มีความสูงเกินกว่าที่กำหนด
สำนักข่าวอิศรา จัดลำดับเหตุการณ์พื้นที่ “ปอด” ฟอกอากาศให้กรุงเทพฯ และจ.สมุทรปราการ เพื่อให้เห็นภาพจากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 37 ปีเกิดอะไรขึ้นบ้างกับบางกะเจ้า ที่ดูราวกับการอนุรักษ์ยังเป็นไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ แถมกฎหมายผังเมืองยังเปิดช่องโหว่ แก้ไขกฎกติกาให้มีการสร้างบ้านจัดสรร บ้านเดี่ยว จนทำให้พื้นที่สีเขียวของบางกระเจ้าลดน้อยลงเรื่อยๆ
- 25 มิ.ย.2534 มติครม. อนุมัติโครงการสวนกลางมหานคร เนื้อที่ 9 พันไร่ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียว /ตราพ.ร.ฎ. กฤษฎีการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่บริเวณ บางกะเจ้า ( ไม่ประสบผลสำเร็จ )
- 22 ต.ค. 2534 มติครม.ปรับแนวทางการดำเนินงาน โดยรัฐบาลจะไม่เวนคืนที่ดินราษฎรหรือเจ้าของสวนเดิม แต่ใช้วิธีซื้อขายโดยสมัครใจ และเร่งรัดการจัดทำแผนแม่บทการจัดการพื้นที่สีเขียวโครงการสวนกลางมหานคร
- ปี 2542 สผ. จัดซื้อที่ดิน 564 แปลง เนื้อที่ 1,276 ไร่ ก่อสร้างสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ เนื้อที่ 148 ไร่ ซึ่งในหลวง พระราชทานชื่อสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ ว่า “ศรีนครเขื่อนขันธ์”
- ปี 2544 ผังเมืองสมุทรปราการระบุ พื้นที่บางกระเจ้า โซนสีขาวตัดเขียวไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร
- 27 มี.ค. 2546 สผ.โอนโครงการสวนกลางมหานคร ไปเป็นของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ดูแล
- 14 ม.ค. 2548 กรมอุทยานแห่งชาติฯ มอบงานศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ (พื้นที่โครงการสวนกลางมหานครทั้งหมด) ให้กรมป่าไม้
- ปี 2548 กรมโยธาธิการและผังเมือง จ.สมุทรปราการ ปรับเปลี่ยนผังเมืองพื้นที่บางกระเจ้า ให้มีการสร้างบ้านเดี่ยวขนาดไม่เกิน 200 ตารางเมตรได้ แต่ต้องไม่กินพื้นที่เกิน 5 % ในแต่ละบริเวณที่กำหนดไว้ในผังเมือง
- ปี 2549 นิตยสาร Time ยกให้พื้นที่บางกระเจ้าเป็น The best Urban Oasis of Asia
- 26 พ.ย. 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังโครงการสวนกลางมหานคร ทรงมีพระราชดำริว่า “พื้นที่ที่มิได้จัดซื้อไว้ควรขอความร่วมมือจากราษฎรในพื้นที่ ให้ช่วยอนุรักษ์เป็นพื้นที่สีเขียวเอาไว้ อย่าให้มีการก่อสร้างเพิ่มจนเกินที่กฎหมายกำหนด”
- ผังเมืองฉบับปี 2556 อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมกำหนดไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 5 ของพื้นที่ในแต่ละบริเวณ ขยายเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกินร้อยละ 15
- 5 ก.พ. 2557 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ ที่มีเนื้อหา แก้ไขกฎกติกาผังเมือง ให้มีการสร้างบ้านจัดสรรสร้างบ้านเดี่ยวในพื้นที่สีเขียวได้
ล่าสุด 8 พ.ค.2557 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ชี้แจงกรณีการจัดวางผังเมืองรวมสมุทรปราการในพื้นที่บางกะเจ้า ซึ่งบังคับใช้วันที่ 5 ก.พ. 2557 ว่า พื้นที่บางกระเจ้าถูกกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่สีเขียว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2520 ในปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมพื้นที่อยู่หลายฉบับ ได้แก่
1. กฎกระทรวงฉบับที่ 37 (พ.ศ.2535 ) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้การก่อสร้างอาคารในพื้นที่ต้องมีพื้นที่ว่างร้อยละ 75 ของแปลงที่ดิน ฯลฯ
2. กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งมีการวางผังเมืองครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวมาแล้ว 3 ฉบับตั้งแต่ปี 2537 โดยกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินสองประเภท ได้แก่ 1.ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ในพื้นที่ชุมชน 2.ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทะแยงสีเขียว)
ถ้าพิจารณาจากข้อกำหนดในกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ (1.กฎกระทวงฉบับที่ 37(พ.ศ. 2537) , 2. กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2544 และ 3. กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2556 )
- ประเด็นที่หนึ่งเรื่องการจัดสรรในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว)( ก.1) ในบริเวณบางกระเจ้านั้น ในผังฉบับปี 2537 และผังปี 2544 นั้นกำหนดให้จัดสรรที่ดินประเภทบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดได้ในกิจกรรมรองร้อยละ 10 ส่วนผังฉบับปี 2556 ให้จัดสรรที่ดินได้เฉพาะบ้านเดี่ยว เท่านั้น ในกิจกรรมรองร้อยละ 10 ดังนั้นในผังปี 2556 จึงมิได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนมาทำการจัดสรรในพื้นที่แต่อย่างใดแต่ได้ปรับข้อกำหนดให้เข้มงวดมากขึ้น
-ประเด็นที่สอง การเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของกิจกรรมรองในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก. 3) จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 15 นั้น ถ้าพิจารณาจากข้อกำหนดในพื้นที่ ก.3 ในผังปี 2556 นั้น ในกิจกรรมรองร้อยละ 15นั้นให้ดำเนินการได้เฉพาะ
1.การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวพื้นที่อาคารรวมไม่เกิน 200 ตารางเมตร 2. การประกอบพาณิชยกรรมที่ไม่ใช่ห้องแถว ตึกแถวพื้นที่ประกอบการไม่เกิน 50 ตารางเมตร
“เหตุผลที่เพิ่มเปอร์เซ็นต์นั้นเพราะต้องการให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่แบ่งที่ดินให้ลูกหลานสามารถสร้างบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็กๆ ของตนเองได้ และสามารถค้าขายขนาดเล็กๆ ช่วยเหลือตนเองได้ไม่ต้องขายที่ดินให้นายทุนและเป็นการให้บริการในชุมชนด้วยและอีกเหตุผลคือในพื้นที่ก. 3 ทุกบล็อคมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นเกิน 10% แล้วทุกบล็อคหากไม่เพิ่มเปอร์เซ็นต์จะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถสร้างบ้านอยู่อาศัยได้
โดยภาพรวมแล้วผังปี 2556 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์และมิได้เพิ่มเติมข้อกำหนดเพื่อเอื้อประโยชน์แกนายทุนแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการประสานความต้องการของชาวบ้านทุกฝ่ายให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”
สำหรับการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆ ในพื้นที่บางกะเจ้านั้น เท่าที่ตรวจสอบพบ เมื่อ 29 เม.ย. 2555 บริษัท บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด หรือ N-Park มีมติขายหุ้นเคมปิน ไปไถ่ที่ดินบางกะเจ้า ต.บางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ คืน จำนวน 292 ไร่ กับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ต่อมาปี 2556 N-Park ได้ระบุในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2555 ถึงการพัฒนาโครงการในที่ดินบางกะเจ้า 3 โครงการ โดยมีโครงการที่ได้เปิดดำเนินการแล้ว ได้แก่ เดอะ แนเชอรัล พาร์ค อพาร์ทเมนท์ ส่วนโรงแรมอามันรีสอร์ท กรุงเทพ และโครงการที่ดินบางกะเจ้า อยู่ระหว่างการพัฒนา
กระทั่งปี 2557 นคร ลักษณกาญจน์ กก.ผจก. N-Park ให้สัมภาษณ์ถึงการลงทุนในปี 2557 โดยเฉพาะความคืบหน้าที่ดินเปล่าพร้อมขายย่านบางกระเจ้าบนพื้นที่กว่า 200 ไร่นั้น อยู่ระหว่างการออกแบบซึ่งจะพัฒนาเป็นบ้านหรูแปลงละ 2 ไร่ขึ้นไป มูลค่าโครงการกว่า 3,000 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ คือไทม์ไลน์สถานการณ์ "บางกะเจ้า" ที่กำลังถูกกฎหมายผังเมืองและการพัฒนารุกคืบ เปลี่ยนพื้นที่สีเขียวแห่งนี้